- Close

 

 

แบบทดสอบการเรียนรู้
วิชา นศ.5002 ความรู้เบื้องต้นทางการสื่อสาร

ผู้สอน: รองศาสตราจารย์ประชัน วัลลิโก
ผู้เรียน: สู่ดิน ชาวหินฟ้า
วัน เดือน ปี: 30 พฤษภาคม 2548

------------------------------------------------

คำถาม:
ข้อ 1. ให้อธิบายองค์ประกอบของการสื่อสารมาโดยละเอียด (20 คะแนน)

คำตอบ:

หัวเรื่อง: องค์ประกอบของการสื่อสาร

สาระสำคัญ:
1. ความหมายของการสื่อสาร
2. องค์ประกอบของการสื่อสาร
3. การประยุกต์ใช้ระบบการสื่อสารเพื่อการพัฒนามนุษย์

ความคิดรวบยอด:
"การสื่อสาร คือกิจกรรมที่เป็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างฝ่ายส่งสารและฝ่ายรับสาร
ซึ่งกระทำเป็นกระบวนการ เริ่มจากการกำหนดสารแล้วส่งออกไป โดยอาศัยสื่อ
เป็นพาหนะพาสารนั้นไปยังฝ่ายรับสาร ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายรับสาร
เข้าใจความหมายในสารและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็น
เครื่องชี้วัดว่า มีการสื่อสารเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ"

รายละเอียด:

1. ความหมายของการสื่อสาร

การสื่อสารมาจากคำว่า Communication มีผู้ให้ความหมายของการสื่อสารไว้มากมาย พอสรุปโดยสังเขปดังนี้

ความหมายโดยทั่วไป หมายถึงการติดต่อกันแบบต่อหน้า (เห็นหน้ากัน) ระหว่างฝ่ายส่งสารกับฝ่ายรับสาร ด้วยกรรมวิธีการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายมีโอกาสโต้ตอบกันได้ กับอีกความหมายหนึ่งซึ่งมิใช่การติดต่อหรือตอบโต้กันซึ่งๆ หน้า แต่อาศัยสื่อหรือพาหนะเป็นตัวเชื่อมสาร หรือความหมายของสาร ระหว่างฝ่ายส่งสารและฝ่ายรับสารให้เข้าใจกัน

ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความหมายของการสื่อสารแบบต่อหน้า (แบบแรก) และแบบไม่เห็นหน้ากัน (แบบหลัง) ระหว่างฝ่ายส่งสารและฝ่ายรับสาร แตกต่างกัน คือ (1) ระยะทาง (2) เวลา (3) โอกาส (4) ปริมาณของสาร (5) ความสลับซับซ้อนของสาร หรือ การเข้ารหัสการถอดรหัส และ (6) คุณภาพของพาหนะ

ด้วยระยะทางที่ห่างไกล ทำให้การติดต่อปฏิสัมพันธ์กัน ระหว่างฝ่ายส่งสารกับฝ่ายรับสาร ไม่สามารถกระทำซึ่งหน้ากันได้ นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการเดินทางของสารอีกด้วย การปล่อยเวลาให้ยืดนานออกไป อาจทำให้การสื่อสารเข้าใจกันได้ดีขึ้น มีเวลาที่จะทบทวนในการเข้ารหัสและถอดรหัสกันได้ รวมทั้งมีโอกาสในการเลือกเวลา ในการสื่อสารกันได้ ยิ่งในการส่งสารคราวละปริมาณมากๆ และสารนั้นมีความสลับซับซ้อน ยิ่งจะทำให้เกิดอุปสรรคในการถ่ายทอดความหมาย การมองเห็นหน้ากัน จะช่วยให้เกิดการทบทวนในการสื่อความหมายกันได้ดีกว่า ตัวแปรสุดท้ายที่จะมองข้ามไปไม่ได้คือ คุณภาพของพาหนะที่ส่งสารไป อาจมีสิ่งรบกวนระหว่างส่งสาร ทำให้เกิดการแปลความหมายที่ผิดเพี้ยนไปได้ ดังนั้น การติดต่อกันแบบซึ่งหน้า จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

สังคมมนุษย์ในปัจจุบัน มีความสลับซับซ้อนสูงขึ้น รวมทั้งปริมาณของข่าวสารมีปริมาณมากเกินขีดความสามารถในการรับรู้ของคน ดังนั้น โอกาสในการติดต่อสื่อสารกันแบบซึ่งหน้าจึงไม่สามารถกระทำได้ในทุกๆ โอกาส ยึ่งในยุคโลกไร้พรมแดน (Globalization) ด้วยแล้ว จำเป็นต้องยอมรับตัวแปรที่ทำให้การสื่อสารมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ระยะทาง เวลา โอกาส ปริมาณของสาร ความซับซ้อนของสาร และ คุณภาพของช่องทางในการสื่อสาร ดังนั้น การให้ความหมายของการสื่อสาร จึงเปลี่ยนไป มีความหมายกว้างขวางไปจากเดิม นั่นคือ คำว่า Communication ไม่ใช่เพียงการสื่อสารกันแบบต่อหน้าอีกต่อไป แต่จะหมายถึง การสื่อสารแบบไม่ต้องเห็นหน้ากัน เรียกว่า การสื่อสารมวลชน (Mass Media Communication) หรือ การสื่อสารทางไกล (Telecommunication)

จอร์จ เกิร์บเนอร์ เป็นผู้หนึ่ง ที่ให้ความหมายของการสื่อสารไว้อย่างชัดเจน ว่า “การสื่อสาร คือ กระบวนการที่ผู้ส่งสารและผู้รับสาร มีปฏิสัมพันธ์กัน ในสภาพแวดล้อมทางสังคมเฉพาะ”

1. นักวิชาการตะวันตก ให้คำอธิบายว่าการสื่อสารครอบคลุมถึง

1.1 การสื่อสารภายในบุคคล

1.2 การสื่อสารระหว่างบุคคล แบ่งออกเป็น

1.2.1 ระดับกลุ่มบุคคล

1.2.2 ระดับองค์กร อาจเป็นองค์กรขนาดเล็ก กลาง หรือขนาดใหญ่

1.2.3 ระดับมวลชน

1.2.4 ระดับประเทศ หรือ การสื่อสารระหว่างประเทศ

ในข้อ 1.2 ทั้งหมด อาจมีระบบเครือข่ายเข้ามาเป็นตัวบริหารจัดการข้อมูล หรือกลุ่มข้อมูล เพื่อจัดระเบียบข้อมูล ความเข้าใจในการถ่ายถอดข้อมูล ตลอดจนความสะดวก รวดเร็วในการเดินทางของข้อมูล

2. นักการศาสนาและพัฒนาสังคม ได้ให้ความหมายของการสื่ออีกความหมายหนึ่ง ซึ่งครอบคลุมถึง บุคคล และระหว่างบุคคลเช่นกัน แต่ได้จัดกลุ่มเสียใหม่เป็น

2.1 การสื่อสารภายในผ่านการการคิดวิเคราะห์ ที่เรียกว่า "โยนิโสมนสิการ" (Contemplate) คือการทำใจโดยแยบคาย ก่อนที่จะมีการตัดสินใจ หรือตกลงใจที่จะกระทำการใดๆ หลังได้รับข้อมูล (Input) เข้าสู่กระบวนการคิด วิเคราะห์แล้วโดยอาศัยสื่อภายนอกกาย มากระทบสัมผัสสื่อภายในกาย ได้แก่ จักษุ-เกิดรูป, โสตะ-เกิดเสียง, คันธะ-เกิดกลิ่น, รสะ-เกิดรส, โผฎฐัพพะ-เกิดความพึงพอใจที่ได้สัมผัส, ใจ-เกิดธรรมารมณ์ เรียกการสื่อสารชนิดนี้ว่า การสื่อสารภายในบุคคล การสื่อสารในความหมายนี้ จะเกิดประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลขึ้นอยู่กับดุลยภาพทางคุณธรรม ของแต่ละบุคคล เพราะทั้งฝ่ายส่งสาร และฝ่ายรับสาร เป็นบุคคลคนเดียวกัน และขึ้นอยู่กับความสามารถในการแยกแยะถูกผิด ดีชั่ว เพื่อนำมาเป็นตัวชีวัดพฤติกรรมหลังได้รับสารแล้ว

2.2 การสื่อสารภายนอกผ่านคน สิ่งของ และสรรพแวดล้อมที่ปรากฏขึ้น เรียกว่า "ปรโตโฆษะ" สิ่งที่เรียกว่าปรโตโฆษะ หมายถึงเสียงภายนอก ได้แก่ คำพูด วิพากษ์ของคน และปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นสารอย่างหนึ่ง ที่ถูกออกมาอย่างตั้งใจ และไม่ตั้งใจ ดังนั้นเสียงจากภายนอก จึงเป็นข้อมูลที่รับเข้ามา (Input) เข้าสู่กระบวนการคิด วิเคราะห์ มักจะเป็นข้อความ ภาพ เสียง ที่มนุษย์สามัญสื่อความหมายได้

2. องค์ประกอบของการสื่อสาร

การสื่อสาร เป็นกิจกรรมร่วมกันที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร การสื่อสาร แบ่งออกเป็น 2 แบบ ซึ่งมีจำนวนองค์ประกอบ ที่แตกต่างกัน คือ

(1) การสื่อสารทั่วไป การสื่อสารจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบพื้นฐาน สำคัญ 3 ประการ หรือ SMR ได้แก่ ผู้ส่งสาร (Sender) หรือ S, สาร (Message) หรือ M, และ ผู้รับสาร (Reciever หรือ Audience) หรือ R

(2) การสื่อสารมวลชน มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับการสื่อสารทั่วไป แต่เพิ่มจำนวนองค์ประกอบอีก 1 ข้อ รวมเป็น 4 ข้อ หรือ SMCR ได้แก่ ผู้ส่งสาร หรือผู้กำหนดสาร (Sender, Source Creator) หรือ S, สาร (Message, Information) หรือ M, สื่อ หรือพาหนะ หรือช่องทางในการส่งสารไป (Channel หรือ Media) หรือ C, และ ผู้รับสาร (Receiver) หรือ R

จากองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้เกิดกระบวนการสื่อสาร ซึ่งต้องมีการหวังผล หรือต้องการผลที่เกิดขึ้น เพื่อให้การปฏิสัมพันธ์ระว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารบรรลุวัตถุประสงค์ นั่นคือ ปฏิกิริยา หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หลังส่ง-รับสาร (Feed Back)

การสื่อสารทั่วไป มักเป็นการสื่อสารภายในบุคคล และระหว่างบุคคล 2 คน มองเห็นหน้ากัน หรืออยู่ไม่ไกลกัน ซึ่งสามารถสื่อความหมายกันได้โดยไม่ต้องอาศัยสื่อ หรือพาหนะเป็นตัวเชื่อมต่อ ซึ่งต่างจากการสื่อสารมวลชน เพราะเป็นการสื่อสารที่ต้องการส่งสาร (ข่าวสาร การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การรณรงค์) ไปยังผู้รับสารได้คราวละมากๆ พร้อมๆ กัน ให้ผู้รับสารได้รับสารนั้นในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ว่าผู้รับสารจะอยู่ห่างไกลกันเพียงใด

2.1 ผู้ส่งสาร

ผู้ส่งสาร หรือผู้กำหนดสาร ในทางเทคนิค จะต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจกระบวนการเข้ารหัส และถอดรหัส ในทางจริยธรรม จะต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรมและเที่ยงธรรม เป็นผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ชี้ถูกชี้ผิดในเนื้อของสารก่อนจะส่งสารนั้นออกไป โดยเฉพาะสื่อมวลชน ต้องมีความรับผิดชอบต่อการส่งและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

ความมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดอยู่ในความหมายเดียวกันกับ การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เรียกวิถีและกระบวนการดังกล่าวว่า “ระบบบุญนิยม” มุ่งให้ความสำคัญของ “คน” มากกว่าปัจจัยอื่นใด ดังนั้นการ “สร้างคนดีมีศีล” ให้ได้ก่อน คนดีที่ว่านี้ คือบุคคลที่จะต้องฝึกฝนตนสู่ทิศทางเหนือโลก (โลกุตระ) ลดละการบำเรอตน เข้าถึงอริยสัจธรรมไปตามลำดับขั้น จนเกิด “โลกุตรจิต” ปฏิบัติได้จริงตามที่รู้ อยู่กับโลกอย่างรู้เท่าทันโลก (โลกวิทู) รู้เท่าทันความทุกข์ รู้เท่ากันความเป็นไปของโลก อันเห็นชัดในกิเลสของคนที่ยังมัวเมาลุ่มหลงกับลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อันเป็นเหตุแห่งการแก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกัน

2.2 สาร

สาร ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเนื้อสาร (Content Message) และส่วนที่เป็นองค์ประกอบของเนื้อสาร (Context Message)

ปัจจัยของสาร ที่มีส่วนในการกำหนดประสิทธิภาพของสาร และส่งผลต่อประสิทธิผล ของการสื่อสาร มีอยู่ 3 ประการ คือ

2.1 รหัสสาร (Message code) การเข้ารหัสและการถอดรหัส ต้องมีความเข้าใจกันระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร สัญลักษณ์ของรหัสขึ้นอยู่กับตัวสาร ตลอดจนเทคนิคในการเข้ารหัสและการถอดรหัส หากใช้อย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดความเที่ยงตรง รวดเร็ว ครบถ้วน และมีพลัง

2.1.1 ตัวสารที่ใช้รหัสรูปภาพ และรูปสัญลักษณ์ เป็นสิ่งที่สัมผัสเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น สิ่งพิมพ์ แผ่นป้าย โลโก้ สัญรูป (Icon) ต้องมีความชัดเจน รูปทรงถูกต้อง ขนาดพอเหมาะ ออกเผยแพร่ตรงวาระ ตรงกลุ่มเป้าหมาย เนื้อหาไม่ยากเกินไป ความสั้นยาวของสาระ ความถี่ในการส่ง ต้องให้พอเหมาะ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องผ่านการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ก่อนที่จะผลิตตัวสาร และส่งสารออกไป

การใช้รหัสรูปภาพ (image) และรูปสัญญลักษณ์ (logo, icon) จะสื่อความหมายได้ลึกซึ้ง กินใจมากกว่า รหัสที่เป็นข้อความ (text) “ภาพเพียงหนึ่งภาพ มีความหมายมากกว่าบรรยายด้วยคำพูด หรือข้อความเป็นพันหน้า”

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับรูปภาพ และสัญลักษณ์ ได้แก่ mode color (RGB, CMYK, Gray, Black and White), brightness, contrast, threshold, blur, sharpen,

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อความ ได้แก่ font, font style, font size, font color, font effect, paragraph, paragraph spacing, line spacing, alignment, indent, tab

รูปภาพ และรูปสัญลักษณ์ ถูกนำไปใช้ประกอบในเอกสารสิ่งพิมพ์ และมวลชนอื่นๆ ภาพที่เกิดจากกล้องถ่ายภาพฟิล์ม จะให้คุณภาพไม่ดี เท่ากล้องถ่ายภาพดิจิตอล แต่ภาพจากฟิล์ม จะให้สุนทรีย์ศิลป์ทางอารมณ์ ดีกว่าภาพจากกล้องดิจิตอล

ปัจจุบัน ภาพและสัญลักษณ์ต่างๆ นิยมจัดเก็บด้วยรหัสดิจิตอล เพราะจัดเก็บได้คงทนกว่า คุณภาพของภาพคงที่ ในสื่อที่มีพื้นที่จัดเก็บน้อย แต่สามารถบรรจุภาพได้ปริมาณมากกว่า ราคาถูกลงขณะที่เทคโนโลยีสูงขึ้น

2.1.2 ตัวสารที่ใช้รหัสเสียง เช่น เสียงพูด (สื่อความหมายด้วยคำพูด) เสียงสัญญาณ (สื่อความหมายด้วยเสียง) เสียงดนตรี (สื่อความหมายด้วยสุนทรียศิลป์) เสียงกระทบ (สื่อความหมายด้วยประสบการณ์การได้ยิน เช่น เสียงรถยนต์ เสียงฟ้าร้อง เสียงเด็กหัวเราะ) และ เสียงรบกวน (สื่อความหมายไม่ได้ หรือ เป็นความหมายที่ไม่ต้องการจะสื่อออกไป) รหัสเสียงอาจถูกจัดเก็บด้วยระบบอนาล็อก จะมีคุณภาพของเสียงต่ำกว่า การจัดเก็บด้วยระบบดิจิตอล

2.1.3 ตัวสารที่ใช้รหัสแสง ได้แก่ ภาพที่เกิดจากการฉายด้วยอุปกรณ์กำเนิดแสง สร้างสัญลักษณ์ทางแสงแล้วฉายออกไปกระทบกับฉาก ให้เกิดภาพ หรือสัญลักษณ์ ที่ใช้สื่อความหมายกัน การใช้แสงจากหลอดไฟฟ้า แสงจากดวงอาทิตย์ หรือแสงจากการเผาไหม้ของวัตถุ จะให้คุณภาพต่างกัน เช่น ภาพยนตร์ระบบ 16 มม.ที่ใช้แสงจากไส้หลอดไฟฟ้า จะให้คุณภาพแสงต่ำ ภาพยนตร์ระบบ 35 มม. ที่ใช้แสงจากการเผาไหม้ของแท่งถ่าน จะให้คุณภาพแสงดีกว่าแบบไส้หลอด เป็นต้น

เครื่องฉายภาพที่ยังคงใช้เทคโนโลยีเก่า เช่น เครื่องฉายภาพทึบแสง เครื่องฉายฟิล์มสตริป เครื่องฉายภาพโปร่งใสหรือเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (Overhead) ไม่ได้รับความนิยมแล้ว เพราะมีเครื่องฉายภาพระบบดิจิตอล ที่เรียกว่า Projector และ เครื่องฉายภาพเสมือน หรือ Visualized Projector ซึ่งสามารถฉายภาพแบบโปร่งใส หรือ ทึบแสงก็ได้ ส่วน Projector ใช้เป็นอุปกรณ์ถอดรหัสของเครื่องคอมพิวเตอร์ วิดีโอ ได้พร้อมๆกัน นับเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยและราคาถูกลง

ปัจจุบันการสร้างรหัสแสงจากหลอดไฟฟ้า จะคุวบคุมด้วยอุปการณ์หรือกลไก (Mechanic) ที่ได้รับคำสั่งจากโปรแกรมดิจิตอล ทำให้เกิดความแม่นยำในการเข้ารหัส-ถอดรหัสได้ดีกว่า

2.1.4 ตัวสารที่ใช้รหัสคลื่นแม่เหล็ก ได้แก่ เสียง และวิดีโอ ที่บันทึกลงบนเทป บันทึกและจัดเก็บด้วยระบบอนาล็อก ทำให้คุณภาพในการคัดลอกตัวสารเสื่อมลงเรื่อยๆ หากมีการทำซ้ำหลายๆ ครั้ง การบันและจัดเก็บด้วยระบบนี้นับวันจะไม่นิยมใช้ แต่ไปใช้ระบบดิจิตอลแทน

2.1.5 ตัวสารที่ใช้รหัสเลขฐานสอง (Digital Signal) สามารถสื่อความหมายได้ทั้งภาพและเสียงพร้อมกัน (เรียกสื่อประเภทนี้ว่า Multimedia) คุณภาพความคมชัดของภาพ-เสียง และความเที่ยงตรงในการรักษาคุณภาพ สูงกว่าสื่อแบบอื่น ทำให้การคัดลอกข้อมูลจากต้นฉบับไปสู่สำเนา ทำได้โดยคุณภาพของภาพและเสียงเทียบเท่า หรือเหมือนต้นฉบับทุกประการ (ไม่มีสัญญาณ drop)

ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) การสร้างสารหรือจัดเก็บสาร การเผยแพร่สาร จะใช้วิธีการเข้ารหัสถอดรหัสของสื่อ (midium) ด้วยรหัสเลขฐานสองทั้งสิ้น ไม่ว่าสารนั้นจะเป็นสื่อสารมวลชน หรือสื่อโฆษณา-ประชาสัมพันธ์ หรือสื่อปราศรัย โดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ต นับเป็นสื่อดิจิตอลโดยสมบูรณ์

2.2 เนื้อสาร (Message content) มีปัจจัยที่นำมาพิจารณาประกอบ คือ

2.2.1 ประเภทของสาร แบ่งออกเป็น
-ข่าวสาร (NEWS)
-การประชาสัมพันธ์ (Public Relations)
-การโฆษณา (Advertising)
-การรณรงค์ (Strategic Campaign)
-การจัดวาระสาร (Agenda Setting)

2.2.2 วัตถุประสงค์ในการกำหนดเนื้อสาร ดูจากประเภทของสารว่า เป็นสารประเภทใด ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกัน เช่น การจัดสถานการณ์รณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงาน ก็ควรใช้วิธีการโฆษณา และการณรงค์ ผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพื่อโน้มน้าวใจ จะได้ผลดีที่สุด กลุ่มเป้าหมายคือคนเมือง เนื้อสารก็ต้องสร้างให้คนเมืองอ่าน มิใช่คนชนบทอ่าน วัตถุประสงค์แบ่งออกเป็น

-ให้ข้อมูล ความรู้ทั่วไป
-การศึกษา เรียนรู้
-ความบันเทิง
-การโน้มน้าวใจ
-การแสดงความคิด หรือประชามติ
-การตรวจสอบอำนาจรัฐ

2.2.3 เวลา พื้นที่ในการนำเสนอ (Times & Area for Presentation) ได้แก่ จำนวนเวลา (นาที, ชั่วโมง, วัน, เดือน) วันเวลา (เวลา วัน เดือน ปี เริ่มต้น - สิ้นสุด) วาระและโอกาส ความถี่ ปริมาณพื้นที่ในการแสดงผล ขึ้นอยู่กับช่องทางการสื่อสารว่าจะใช้สื่อประเภทใด เช่น หนังสือพิมพ์ คิดเป็น ตารางนิ้ว หรือจำนวนหน้า, วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ คิดเป็นวินาที นาที อัตราในการนำเสนอ วันละกี่ครั้ง หรือสัปดาห์ละกี่วัน หรือกี่ครั้ง, แผ่นป้าย (Cutout, Buildboard) คิดเป็นเนื้อที่ ตร.นิ้ว หรือ จำนวนแผ่น หรือจำนวนจุดที่ติดตั้ง, แผ่นพับ ใบปลิว ใบปิดโฆษณา คิดเป็นจำนวนแผ่น หรือชุด ตามขนาดที่ต้องการ, กิจกรรม คิดเป็นจำนวนครั้งต่อวัน หรือจำนวนวันต่อครั้ง หรือ จำนวนครั้งต่อ 1 พื้นที่ หรือจำนวนพื้นที่ต่อครั้ง

2.3 การจัดสาร (Message treatment) หมายถึง การจัดลำดับสารในการ นำเสนอสาร หรือส่งสารไปยังกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้รับสาร โดยใช้กลยุทธ์การจัดลำดับสาร (Message Organization ของ Monroe: 1945) Attention > Need > Satisfaction > Visualization > Action

เนื้อสาร ที่เหมาะสมเท่านั้น สมควรจะได้รับการตีพิมพ์ หรือเผยแพร่กระจายเสียง แพร่ภาพ หรือเปิดเผยต่อสารธารณะ เพราะ สารที่เกิดจากสื่อมวลชน เปรียบเหมือน ตัวแทนแห่งการเรียนรู้ และลอกเลียนแบบ (Agent of Socialization) ที่มีอิทธิพลครอบงำประชาชนได้ ดังนั้น เนื้อของสารที่ดี จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

(1) ไม่ประกอบด้วยเศษหรือส่วนใดส่วนหนึ่งที่เป็น อนาจาร คำว่า อนาจาร หมายถึง หมายถึง คำ ความ สื่อ สัญลักษณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียง สำเนียง แสง สีสัน รส สัมผัส ที่ส่งผลให้คนเกิดกิเลส ราคะ ความทะยานอยาก เห็นแก่ตัว

(2) ไม่มุ่งหมายให้เป็น ศาสตร์ หรือ ศาสตรา ที่ผู้ทีอำนาจจะใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม หรือ ศัตรู

(3) ไม่มอมเมา หรือทำให้เกิดมัวเมาในอำนาจ การบริโภคเกินจำเป็น (Mass Comsumption) ซึ่งก่อผลทางมลภาวะ

สาร ในฐานะสื่อการเรียนรู้ หรือ ความรู้ 4 ระดับ องค์ความรู้ ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความเจริญงอกงามของชีวิต เรียกว่า “พลังแห่งญาณ” (Insight Storm) หรือ ญาณวิทยา โดยจะแบ่งคุณลักษณะ และคุณสมบัติขององค์ความรู้ออกเป็น 4 ระดับ คือ

(1) ความรู้ในความรู้ หรือ โลกียะญาณ (Knowledge) หมายถึง ความรู้ในระดับที่มนุษย์สามัญทั่วไปเรียนรู้ได้ เพราะแค่รู้คำตอบ ถูก ผิด ตามหลักตรรก หรือตามทฤษฎีต่างๆ ซึ่งตัวตนของความรู้ในระดับนี้จะถูกนำไปใช้ในการสื่อสาระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของรหัส (Code) สัญลักษณ์ (Symbol) สาระ (Message) หรือสัญญาณ (Signals) หรือสารสนเทศ (Information) ใดๆก็ตาม เพื่อนำไปตอบสนองสิ่งที่มนุษย์กระหายใคร่รู้

(2) ความรู้ในความจริง หรือ สัจจญาณ (Truth) หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากการแยกยะ วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่าง “ความรู้” กับ “ความจริง” เพื่อตอบคำถามว่า มีความจริงใดบ้าง ที่ตนยังไม่รู้ หรือ ยังไม่ได้รู้จริงใน ความรู้ที่เป็นความจริง นั้นๆ เป็นความรู้ที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้ในเรื่องของความดี-การเสียสละ และความชั่ว-การเอาเปรียบ ที่มีอยู่จริงในตัวตนของตน

(3) ความจริงในความรู้ หรือ สัจจานุโพธิ (Insight) หมายถึง ความรู้ที่บุคคลผู้นั้นเริ่มเข้าถึงสัจจะ ความจริงว่า การเลิกละชั่ว และประพฤติดี เป็นเหตุให้เกิดความดีงาม ความบริสุทธ์ ความถูกต้อง และความสุข จึงเกิดความเชื่อมั่น ที่จะลดเลิกความชั่วให้ถึงที่สุด และเพิ่มความดีให้มากขึ้น เพราะผู้นั้นได้รับผลจากการประพฤติปฏิบัติจริงที่เกิดขึ้น จากที่ตนมีจริง เป็นจริง ก็ยิ่งเกิดความมั่นใจ (สมาธิตั้งมั่น) จากที่ตนทำได้แล้วตามที่รู้ (สิ่งที่รู้กับ สิ่งที่เป็น คือสิ่งอันเดียวกัน) ความรู้ระดับนี้เป็นองค์ความรู้ที่พิสูจน์ได้เฉพาะตน (เอหิปัสสิโก, ปั้จจัตตัง) ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2 ระดับแรก

(4) ความจริงในความจริง หรือ สัจจานุปัตติ (Extreme truth) เป็นความรู้ระดับที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะเกิดจากการปฏิบัติที่ถูกตรง (สัมมาอริยมรรค) จึงเกิดผล คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน ลดได้จริง เป็นลำดับๆ และรู้แน่ใจว่า กิเลสเหล่านั้น “ตายสนิท” ไม่กลับมาเกิดอีก และสามารถแยกแยะได้ว่า กิเลส ตัณหา อุปาทาน เรื่องใด ส่วนใด ที่ตายสนิทแล้ว เรื่องใด ส่วนใดที่ยังเหลืออยู่ แม้จะไม่มีมาตราวัดเป็นรูปธรรม แต่ก็รับรู้ได้ด้วยตน เรียกความรู้ในระดับนี้ว่า “ตรัสรู้” ความรู้ระดับนี้ จะเกิดขึ้นได้เฉพาะวิญญูชน ที่ประพฤติปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด (อริยมรรค 8) โดยไม่เลือกว่าวิญญูชนผู้นั้นจะเป็นคนชนชาติใด เพศใด อาชีพใด

การแสวงหาหนทางลดความต้องการส่วนเกิน และตรวจสอบตนเองว่าลดได้จริงหรือไม่เพียงใด เป็นองค์ความรู้ที่ทรงคุณค่า และเกิดประโยชน์ต่อมนุษย์มากกว่า (ความรู้ระดับที่ 3 - 4) ความรู้ในระดับที่ 1 หรืออาจกล่าวได้ว่า ความรู้ในความรู้ เป็นเครื่องมือในการแสวงความรู้ในระดับที่สูงขึ้น

การสร้างสาร ตามหลักญาณวิทยา มีทฤษฎีสนับสนุนได้แก่ ทฤษฎีวิเคราะห์ผู้รับสาร ทฤษฎีเชิงวิพากษ์จากสำนัก Hegemonic และสำนัก Bermingham School ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม ทฤษฎีการใช้ประโยชน์และความพึงพอใจ ทฤษฎีการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร

2.3 ช่องทางการสื่อสาร หรือ สื่อ

2.3.1 ปัจจัยของสื่อ ในที่นี้ หมายถึงช่องทางในการส่งสาร หรือพาหนะที่จะพาสาร (Message) ไปยังเป้าหมาย และบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร สื่อ แบ่งออกเป็น 7 ประเภท (สู่ดิน ชาวหินฟ้า: 2544) คือ

(1) สื่อบุคคล ได้แก่ ตัวผู้ส่งสาร ที่ทำหน้าที่เป็นสาร (Message) (ในสังคมระบบบุญนิยม สื่อบุคคล จัดเป็นสื่อ ที่มีความสำคัญอันดับแรกสุด) และหรือ ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้กำหนดสาร หรือผู้ส่งสาร และผู้รับสารไปในเวลาเดียวกันก็ได้ แต่เน้นที่คุณสมบัติเป็นสำคัญ กล่าวคือบุคคลที่จะนับเป็นสื่อ จะต้องเป็นผู้ที่มีความเที่ยงธรรม และเที่ยงตรง (Accuracy) และเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ในการอ้างอิงได้ (หรือเป็นผู้บรรลุธรรมนั่นเอง)

(2) สื่อวัตถุ สถานที่ ได้แก่ วัตถุ สิ่งของ หรือสถานที่ ที่มุ่งเจตนาให้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้สื่อความหมายได้

(3) สื่อกิจกรรม พิธีกรรม ได้แก่ กิจกรรม กิจการ พิธีกรรม พิธีการ ตลอดจนกระบวนการที่ใช้สื่อความหมายได้

(4) สื่อเอกสาร สิ่งพิมพ์ (รวมถึงสื่อสารมวลชน ประเภทเอกสาร สิ่งพิมพ์) ได้แก่ สื่อที่ใช้เขียน และ อ่าน มีการเข้ารหัสและถอดรหัสอย่างถูกวิธี จึงจะสื่อความหมายได้ถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์

(5) สื่อมัลติมีเดีย หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อไอที ได้แก่ สื่อที่ถูกจัดเก็บในแถบพลาสติก (Tape) สื่อที่ถูกจัดเก็บในแผ่นซีดี (VCD) แผ่นดิสก์ (Hard Dick) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Card) โดยมีการเข้ารหัสเลขฐานสอง (Digital Code) ในการบันทึก (Record หรือ Write) และมีการถอดรหัส และแปลความหมาย (Play หรือ Read) ออกมาเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง เมื่อต้องการสื่อความหมาย และสื่อที่ถูกจัดเก็บในระบบเครือข่าย (Local Area Network, Wide Area Network, Intranet, Internet)

(6) สื่อโทรคมนาคม (รวมถึงสื่อสารมวลชน ประเภทโทรคมนาคม) ได้แก่ วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียง ซึ่งเป็นสื่อที่ต้องมีการเข้ารหัส (Digital Code หรือ Radio Code) ทางฝั่งผู้ส่งสาร และถอดรหัสทางฝั่งผู้รับสาร ปัจจุบัน การเข้ารหัสและถอดรหัส ใช้เทคโนโลยี Analog และ Digital

(7) สื่อปราศรัย ได้แก่ การบรรยาย ปราศรัย ในที่ชุมชน โดยมุ่งประเด็นการสื่อแบบเห็นหน้ากัน (face to face) แต่อาจใช้ระบบสื่อสารโทรทัศน์วงจรปิด (MATV) มาช่วยด้วยก็ได้ หากผู้รับสารเป็นคนกลุ่มใหญ่ หรือกรณี

2.3.2 มีปัจจัย 3 ประการ ที่ทำให้สื่อทั้ง 7 ประเภท ดังกล่าว เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ในการสื่อสาร

(1) ความถูกต้องเที่ยงตรง (Accuracy) ซึ่งบ่งบอกถือคุณภาพของสิ่งที่เป็นพาหะ แม้ว่าจะมีสิ่งรบกวนต่างๆ มาเป็นอุปสรรค ก็ไม่ทำให้คุณสมบัติ หรือคุณค่าในความเป็นสื่อที่เที่ยงตรงสูญเสียไป

(2) สิ่งรบกวน (Noise) ได้แก่ โรคต่างๆ เสียง แสง คลื่น (คลื่นไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็ก) วัตถุ ตลอดจน อารมณ์ และทัศนียภาพต่างๆ

(3) คุณสมบัติ (Properties and Qualification) ได้แก่ คุณสมบัติทางกายภาพ เช่น สื่อที่ถูกจัดเก็บในระบบดิจิตอล มีความเที่ยงตรงและปริมาณในการจัดเก็บสูงกว่า สื่อระบบอนาล็อก สื่อบุคคล มีอิทธิพล ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ของคนสูงกว่าสื่อประเภทอื่น เป็นต้น

ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม คือ สื่อที่ได้รับการเลือกสรรอย่างมีศิลปะ (มิใช่อนาจาร) อย่างเป็นศาสตร์ (มิใช่ศาสตรา อาวุธไว้ทำลายความผาสุก) คุณสมบัติใหม่ในการกำหนดความเป็นสื่อที่มีคุณธรรม จะช่วยลดทอนปัญหาความไร้จริยธรรมในการใช้สื่อของคนไทย

ปัญหาที่เกิดจากตัวสื่อ (Content) มักเกิดจากสร้างสารที่ไร้การกลั่นกรอง หรือการสร้างอย่างไร้ศิลปะ สร้างเพื่อตอบสนองกิเลสความต้องการส่วนเกินของชีวิต มุ่งประเด็นทางธุรกิจเป็นหลัก จนหลงลืมไร้ผิดชอบทางคุณธรรม ส่วนปัญหาที่เกิดจากการคัดสรรช่องทางในการเผยแพร่สาร ก็เป็นประเด็นหลักอีกข้อหนึ่ง ที่ผู้มีอำนาจ กำหนดทิศทางในการเผยแพร่อย่างไร้ความรับผิดชอบ โดยอาศัยอำนาจทางการเมืองเป็นฐานการกำหนดบทบาทของสื่อเพื่อพวกพ้องและธุรกิจของตน

สรุปรวมเป็นศิลปะ ที่สร้างความเจริญงอกงามให้แก่ชีวิต ศิลปะในทางสร้างสรร ก่อให้เกิดความประเสริฐแก่มนุษย์ ไปสู่ความเจริญอันสูงสุด มีทั้งสุนทรียศิลป์ และแก่นศิลป์ หรือสารศิลป์ เป็นสิ่งที่ประกอบชี้ชวน ชักชวนให้เกิดความสนใจในสาระ เป็นคุณค่า เกิดการพัฒนาจิตวิญญาณ และชีวิตความเป็นอยู่ ดังนั้นการศึกษา จะทำให้รู้เท่าทันในงานอนาจาร หรืองานศิลปะแท้จริง และช่วยกันลดละ ป้องกัน การเกิดขึ้นของงานอนาจาร

สิ่งพิมพ์ใดๆ หรืองาน หรือการนำเสนอใดๆ ที่เรียกกันว่า “ศิลปะ” ถ้าผู้ชม เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทานในอารมณ์ สิ่งนั้นไม่เรียกว่าศิลปะ แต่คือ “อนาจาร” ในระบบบุญนิยมศิลปะจะต้องไม่มีเศษหรือส่วนของอนาจรอยู่เลย

ในการผลิตสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตาม ก็มีทำนองนัยเดียวกัน กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์ที่สร้างกิเลส มอมเมาให้คนลุ่มหลง (หลงเสพ) ฟุ่มเฟือย มักง่าย เร้าอารมณ์โลภะ โทสะ โมหะ ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น คือ “ขยะ” หรือพิษร้ายที่มีอยู่ในสังคม การกระทำใดๆ ที่สื่อหรือส่งเสริมให้คนหลงเสพ สิ่งนั้นคือ “ศาสตรา” มิใช่ “ศิลป์” แต่อย่างใด

อาจกล่าวได้ว่า นิเทศศาสตร์บุญนิยม (Boonniyom Communication Art) ก็คือศาสตร์แห่งการสื่อความหมาย ให้มนุษย์ค่อยๆ ลดความเห็นแก่ตัวลงเรื่อยๆ จนที่สุดเหลือแต่ความเห็นแก่ผู้อื่น เพิ่มขึ้นๆ เป็นลำดับไป

สรุป

ความดี ความเลว ย่อมเกิดจากคน มิใช่เกิดจาก สัตว์ หรือพืช เพราะคน เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่ครบสมบูรณ์ทั้งชีวิต (ชีวะ) จิต (ภูตะ) และวิญญาณ (ปาณะ) ดังนั้น การสร้างคนให้เป็นคนดี จึงเป็นการสร้างทุนทางสังคมที่มีคุณค่ามากที่สุด และเป็น Demand ของสังคมในปัจจุบัน สัตว์ เป็นสิ่งที่มีชีวิตเกิดจาการปรุงแต่ง สังขารธรรมของ 2 สิ่ง ได้แก่ ชีวิต (ชีวะ) และ จิต (ภูตะ) ก็ย่อมประเสริฐกว่า พืช (มีแต่ “ชีวะ”) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ให้สัตว์ และคนได้บริโภคอย่างไม่เป็นหนี้ ส่วนวัตถุต่างๆที่ถูกปรุงแต่งสังขารธรรม (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เป็นสิ่งไร้ชีวิต คนและสัตว์ ไม่สามารถบริโภคเพื่อสืบต่อชีวิตและเผ่าพันธุ์ได้ หากแต่เป็นพื้นฐาน ของทุกสรรพสิ่งได้ใช้อาศัย โดยเฉพาะผืนดิน และระบบนิเวศ นับเป็นต้นทุน (Capital) ที่ไม่ต้องลงทุนทางเศรษฐศาสตร์แต่งอย่างใด

ในโลกของทุนนิยม-บริโภคนิยม ถือว่าสิ่งที่เป็นวัตถุแท่งก้อนไร้ชีวิต ตลอดจนทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่สามารถหยิบฉวยเอาได้ “ฟรี” โดยไม่มีความผิด โดยเฉพาะแสงแดด อากาศสำหรับหายใจ น้ำจากฟ้า แผ่นดินที่เดิน ไม่ถือว่าเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ แต่ในโลกของบุญนิยมแล้ว หากผู้ใดเสพเข้าไป แล้วไม่สร้าง “ทุน” ต่อไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้ (เพราะดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมเสื่อมสภาพได้) ก็เท่ากับ “เป็นหนี้” เพราะเขาไม่มีสิทธิ์หยิบฉวยเอาได้ เพราะนี่มิใช่ของ “ฟรี” ที่พระเจ้า (ธรรมชาติ) หยิบยื่นให้คนเลว

2.4 ผู้รับสาร

ปัจจัยของผู้รับสาร ที่ทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารเปลี่ยนแปลง ได้แก่

2.4.1 ทักษะในการสื่อสาร (Communication Skill) ประกอบด้วย

-ทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน หรือทักษะในการใช้ภาษา หรือสัญลักษณ์ เป็นเครื่องมือ (Tool) ในการถ่ายทอดความรู้สึก นึกคิดของตนให้ผู้อื่น (ผู้รับสาร) เข้าใจ

-ทักษะในการเข้ารหัส และถอดรหัส

-ทักษะในการคิดหรือใช้เหตุผล

-ทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสาร ได้แก่ ทักษะในการใช้ภาษา สัญลักษณ์ทางคอมพิวเตอร์ ในการรวบรวมองค์ความรู้เดิม อย่างเป็นระบบ เพื่อถ่ายทอดให้ผู้อื่น (ผู้รับสาร) เข้าใจในความคิดใหม่ของตน ผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ตามทฤษฎีการถ่ายทอดความรู้ของผู้เรียนผ่านคอมพิวเตอร์ โปรแกรมภาษาโลโก และอุปกรณ์ Lego ของศาตราจารย์แซมมวล แพบเพิร์ท แห่ง MIT)

-ทักษะในการใช้อารมณ์ (Used Emotion Skill) อารมณ์เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ที่เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการสื่อสาร (สู่ดิน ชาวหินฟ้า: 2548) ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) หมายถึง การควบคุมความต้องการส่วนเกินของตน ทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส และใจ มิให้รบกวนการรับรู้ของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นผู้ส่งสารหรือผู้รับสาร (ดู สมณะโพธิรักษ์, อีคิวโลกุตระ เรียนรู้อารมณ์อันวิเศษของพุทธ, บจก.ฟ้าอภัย, 2544 หรือ ที่ http://www.asoke.info/ 09Communication/ DharmaPublicize/Book/BOOK014/index.html)

ทักษะต่างๆ เหล่านี้ จะมีผลต่อความสามารถในการวิเคราะห์วัตถุประสงค์ (Purposes) และเจตนารมณ์ (Intention ) ของตนในการสื่อสาร ทั้งฝ่ายส่งสารและฝ่ายรับสาร และมีอิทธิพลต่อความสามารถในการเข้ารหัส หรือการผลิตสารในรูปแบบต่างๆ

2.4..2 ทัศนคติ (Attitude) เกิดจากการรู้จักควบคุมอารมณ์ของตน ในการแสดงปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลกระทบต่อการรับรู้ของฝ่ายตรงข้าม
นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะเพิ่มหรือลดประสิทธิผลของการสื่อสาร ดังนั้น อารมณ์และทัศนคติเป็นปัจจัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ทัศนคติที่ดี ย่อมเกิดจากการมีอารมณ์ในเชิงบวก (ยินดี พอใจ ที่ได้ "เสียเปรียบ" หรือ "เสียสละ") ส่วนทัศนคติที่ไม่ดี เช่น การคิดเอาเปรียบผู้อื่น หรือการคิดเบียดเบียนผู้อื่น เกิดจากการมีอารมณ์ในเชิงลบ (ยินดี พอใจ ที่ "ได้เปรียบ")

-ทัศนคติต่อตนเอง (Attitude toward self: self-evaluation, self-confidence) เป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์มิให้เป็นทาสของอารมณ์ โลภ โกรธ หลง เห็นประโยชน์ คุณค่าของการอยู่เหนืออารมณ์เชิงลบ ทัศนคติเช่นนี้ จะก่อให้เกิดความยินดี พอใจ ยอมรับ และเข้าใจในสารต่างๆ และพร้อมที่จะเลือกเสพ หรือส่งสารที่เป็นสาระ หรือเป็นคุณค่าแก่ชีวิต และสรรพสิ่งแวดล้อม

-ทัศนคติต่อเรื่องที่จะสื่อสาร (Attitude toward subject matter) เป็นผลต่อเนื่องจาก ข้อ 1.2.1 เพราะถ้าควบคุม หรืออยู่เหนืออารมณ์เชิงลบได้มากเท่าใด ก็จะส่งผลให้เกิดการเลือกสรรที่จะเสพ (รับสาร) หรือส่งสาร ไปยังเป้าหมาย

-ทัศนคติต่อผู้รับสาร (Attitude toward receiver) เป็นผลต่อเนื่องมาจาก ข้อ 1.2.1 เช่นกัน เพราะคนทุกคนมักจะคิด หรือ ยึดถือ "ตน" เป็นศูนย์กลางของจักรวาล (ถ้าทำได้) หากไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ให้อยู่เหนืออำนาจใฝ่ต่ำของตน ย่อมจะส่งผลต่อพฤติกรรมในการรับรู้สารและการส่งสาร ซึ่งอาจทำให้การสื่อสารล้มเหลว
ที่เป็นเช่นนี้มิใช่สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง แต่เกิดจากการมุ่งเอาชนะกัน หรือข่มกัน จนไม่สามารถยอมรับสื่อ และสาระของฝ่ายตรงข้าม (แม้จะดี ถูกต้องตามสัจจะ แต่ก็ไม่ดี หรือผิดจากความเห็นของตน)

2.4.3 ความรู้ (Knowledge) ผู้ส่งสารที่มีความรู้ดี ย่อมสื่อสารได้ดีมีประสิทธิผลมากกว่า ความรู้ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

-ความรู้ในเรื่องที่จะสื่อสาร (Subject matter) ได้แก่ องค์ความรู้ที่เกิดจากเรียนรู้ และการค้นคว้า รวมทั้งการจัดหมวดหมู่ของเรื่องราว พร้อมที่จะส่ง (Knowledge Package) ไปยังเป้าหมาย

-ความรู้เรื่องกระบวนการสื่อสาร (Communication Process)

-ความรู้เรื่องเครื่องมือที่จะใช้สื่อสาร (เช่นเดียวกับข้อ 1.1.4 ทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสาร) โดยเฉพาะในเรื่องของ IT และ World Wide Web หรือ Internet ซึ่งปัจจุบันถือเป็นความรู้พื้นฐาน ที่คนในสังคมควรต้องรู้ หากต้องการจะอยู่ในสังคมไอทีอย่างผาสุก

-ความรู้เรื่องอารมณ์ และการควบคุมอารมณ์ (Used Emotion Knowledge) (สู่ดิน ชาวหินฟ้า: 2548) ซึ่งจัดเป็นความรู้ในระดับโลกุตระ (หรือ ความรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ) เพราะมีหลายกรณี ที่ความรู้ดีๆ และมีสาระ มีคุณค่า ถูกส่งออกไปยังเป้าหมาย แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะทั้งผู้ส่งสาร และหรือผู้รับสาร ถูกครอบงำด้วยอำนาจใฝ่ต่ำทางอารมณ์ (กิเลส ตัณหา อุปาทาน) ทำให้เกิดการเสพ และ ส่ง สาระ (Mass) หรือองค์ความรู้ (โลกียะ) ที่เป็นโทษภัยต่อคน สัตว์ สรรพสิ่งแวดล้อม ตลอดจน วัฒนธรรมอันดีงาม เช่น การรับรู้ การเรียนรู้ และการยอมรับสื่อลามกต่างๆ

[สื่อลามก หมายถึง สื่อใดๆ ที่ผู้เสพ หรือผู้รับสาร เสพหรือสัมผัสทางตา (เกิดรูป หรือ Visible Objects) หู (เกิดสัททะ หรือ Sound) จมูก (เกิดคันธะ หรือ Smell) ลิ้น (เกิด รสะ หรือ Taste) สัมผัสทางกาย (เกิดโผฎฐัพพะ หรือ Tangible Objects) และ ใจ (เกิดธรรมารมณ์ หรือ Mind Objects) แล้ว จิตเกิดยึดหน่วง เป็นอารมณ์ ราคะ (คิดอยากละเมิดของรักของหวงของคนอื่น จนกระทั่งเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดสิทธิทางเพศ) โลภะ (คิดยากได้ทรัพย์ของคนอื่น คิดเอาเปรียบคนอื่น จนกระทั่งเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดทางทรัพย์สิน แรงงาน ปัญญาของคนอื่น) โทสะ (คิดอาฆาต พยาบาท เบียดเบียน จนกระทั่งเป็นเหตุให้เกิดการทำร้าย ทำลาย ด้วยกาย วาจา) โมหะ (คิดเบียดเบียนตนเองด้วยของมึนเมา มอมเมา มัวเมา จนกระทั่งเป็นเหตุให้เกิดการทำร้ายสติสัมปชัญญะของตน และผู้อื่น)]

2.4.4 สถานภาพทางสังคมและวัฒนธรรม (Position with in Social-Culture System) ซึ่งประกอบด้วย ตำแหน่ง บทบาท หน้าที่ ศักดิ์ทางสังคม ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ความเชื่อถือ ความเชื่อมั่น ตลอดจนค่านิยมต่างๆ ในสังคม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เมื่อเข้าสู่กระบวนการสื่อสาร การสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงาม จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ย่อมต้องอาศัย คุณสมบัติ ความเชื่อถือ และพฤติกรรมของถ่ายทอดวัฒนธรรม และผู้รับวัฒนธรรม เช่น ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน, ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำ, สามัคคี คือพลังพังโลก สามัคคีธรรม คือ พลังสร้างโลก เป็นต้น

 

ผล (Result) หรือผลกระทบ (Impact) ของกระบวนการสื่อสาร ที่นำมาพิจารณาและจัดเข้าเป็นองค์ประกอบหนึ่งตามคุณสมบัติใหม่ คือ ทุนทางสังคม (Social Outputs) อันเป็นผลจากการทำหน้าที่ของการสื่อสารทั้งกระบวนการ เพราะเหตุสื่อคือตัวแทนแห่งการเรียนรู้ (Agent of Socalization) ตามทฤษฏีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ดังนั้น ทุนทางสังคม จึงเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในฐานะหน้าที่ของสื่อ

ทุนทางสังคม จะเป็นทั้งปัจจัย และตัวชี้วัดในการประยุกต์ระบบการสื่อสารเพื่อการพัฒนามนุษย์

กระบวนการสื่อสาร

กระบวนการสื่อสาร ได้แก่ (1) มีการกำหนดสาร (Message Design & Source Data) โดยผู้ส่งสาร อาจต้องมีการเข้ารหัสของสารด้วย ขึ้นอยู่กับประเภทหรือชนิดของสาร (2) สารถูกส่งไปยัง
ผู้รับ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ขึ้นอยู่กับประเภทหรือชนิดของสาร (3) สารที่ส่งออกไปถึงผู้รับปลายทาง และผู้รับก็รับรู้ถึงสารที่ส่งมานั้น (Awareness) และเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ อาจเป็นเชิงบวก (เห็นด้วย ยอมรับ) หรือเชิงลบ (ขัดแย้ง ไม่ยอมรับ) หรือเชิงซ่อน (รู้สึกเฉยๆ ยังไม่ลงความเห็น หรือตัดสินใจในเวลานั้น)

นี่คือ Model พื้นฐานที่ใช้อธิบายรูปแบบการสื่อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเชิงบูรณาการ (Integrated Communication) การสื่อสารการตลาด-ธุรกิจ (Bussiness & Marketing Communication) การสื่อสารมวลชน (Mass Media Communication) การสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) การสื่อสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Communicaton) การสื่อสารเพื่อการพัฒนาสุขภาวะ (Conditional Health Communication) และการสื่อสารการศึกษา (Educational Communication)

โดยปกติ ผู้ส่งสาร และผู้รับสาร จะประกอบด้วยบุคคล 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ส่งสาร และฝ่ายผู้รับสาร หากผู้ส่งสาร และผู้รับสารเป็นบุคคลคนเดียวกัน เรียกว่า การสื่อสารภายในบุคคล และผู้ส่งสารมักจะเป็นผู้กำหนดสารที่จะส่งไป และสาร หรือ message ที่จะส่งไป มักจะถูกกำหนดขึ้นทั้งจากผู้ส่งสารเอง และจากบุคคลอื่น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของวจนภาษา หรือ อวจนภาษา ก็ตาม

กรณีที่ผู้กำหนดสาร และผู้ส่งสาร เป็นบุคคลคนเดียวกัน คือ สารที่ถูกกำหนดขึ้นนั้น เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้น (Knowledge) หรือปรุงแต่งขึ้นเป็นองค์ความรู้ (Create) หรือผุดขึ้นโดยประจักษ์ (Insight) ของผู้ส่งสารนั่นเอง แล้วต้องการจะส่งสารนั้นไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้รับสาร

กระบวนการส่งสาร จะเริ่มตั้งแต่การบรรจุสารเข้าไปในระบบการส่ง (Message Input & Sourse Input) ซึ่งประกอบด้วย สาร สื่อ เวลา โอกาส โดยอาศัยช่องทางต่างๆ เป็นพาหะพาสารไปยังผู้รับ (Process) สาร ดังกล่าวอาจจะอยู่ในรูปของภาษาพูด สัญลักษณ์ อักขระ สื่อ หรือช่องทางที่ใช้ในการส่ง ขึ้นอยู่กับว่าเนื้อสารนั้นจะอยู่ในรูปใด

รูปแบบ ชนิดของสาร

พาหะ - ช่องทาง

เครื่องมือ - เทคโนโลยี

เทคนิค - รูปแบบการส่งสาร

ภาษาพูด
Word, Speech

บรรยากาศ อากาศ วัตถุที่สามารถพาเสียงไปได้

อวัยวะปาก, ไมโครโฟน, โทรโข่ง

Physical, Radiogram, Analog, Digital

ภาษาท่าทาง
Action, Behavior

ทัศนวิสัยของบรรยากาศ

อวัยวะ, อุปกรณ์สร้างสัญลักษณ์

Physical

ภาษาเขียน

Writing

อักขระ อักษร (ที่ผู้ส่งและผู้รับ สามารถรับรู้ร่วมกันได้)

กระดาษ ปากกา หมึกหรือสี คอมพิวเตอร์

Physical, Analog, Digital

ภาษาเล็กทรอนิกส์ (Electronic Language)
– Radio
– Analoge
– Digital

คลื่นไฟฟ้า คลื่นแสง คลื่นแม่เหล็ก คลื่นวิทยุ

เครื่องรับ-เครื่องส่ง
วิทยุ วิทยุโทรทัศน์
ระบบอะนาล็อก
ระบบดิจิตอล
คอมพิวเตอร์ และระบบ
เครือข่าย, อินเตอร์เน็ต

Analog, Digital

 

ในการส่งสาร จะต้องกำหนดเวลา เพื่อให้ผู้รับสาร มีโอกาสในการรับ เวลา หมายถึง จำนวนเวลา (วินาที, นาที, ชั่วโมง) และระยะเวลา (Time หรือ ครั้ง) โอกาส หมายถึง ช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดีที่ผู้รับสาร สามารถรับรู้ถึงสาร การสื่อสารจะสำเร็จสมบูรณ์ ต่อเมื่อผู้ส่งสารรับทราบถึงปฏิกิริยาของผู้รับสาร หลังจากรับสารนั้นแล้ว

การสื่อสารจะมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อ ผู้รับสารเกิดการรับรู้ (Awareness) เกิดองค์ความรู้ (Knowledge) เกิดความเชื่อถือ เชื่อมั่น จนยอมรับข้อเสนอหรือเงื่อนไขในสารนั้น (Acceptation) หรือเกิดการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (Decision) ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavior)

ปัจจุบัน การสื่อสารมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เกิดอัตราการก้าวหน้าทั้งในระดับจุลภาค และระดับมหภาค การสื่อสารได้ถูกนำไปใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพัฒนาระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา โดยยึด “คน” เป็นศูนย์กลาง ในฐานะเป็นทั้งเครื่องมือ (ผู้ถูกกระทำ) และผู้บริหารจัดการ (ผู้กระทำ)

การจำแนกสารตามคุณสมบัติทางกายภาพ

การจำแนกสาร

วจนสาร หมายถึง สารที่แทนด้วย
คำพูด หรือการเขียน

อวจนสาร โดยทั่วไป หมายถึง สารที่แทนด้วยสัญลักษณ์อื่นที่มิใช่คำพูด

1. รูปธรรม
(Object, Tangibles)

Word, Speech, Talk about

Image, Picture, Animation, Multimedia

2. นามธรรม
(Subject, Intangilbles)

ความหมาย
–Direct Meaning
–Indirect Meaning

ทัศนสาร
ภาษาท่าทาง

3. เครื่องมือดำเนินการ (Implement)

Listening, Talking, Reading, Writing,

Seeing, Thinking

4. ผลที่เกิดขึ้น
(Result)

1. ยอมรับ (Acceptation)

2. ตัดสินใจ (Decision)

3. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavior) ชั่วคราว / ถาวร

5. วัตถุประสงค์
ทางคุณธรรม
(สุขภาวะทางจิตวิญญาณ)

1. วิเคราะห์สาร เลือกสิ่งที่มีผลเป็นบวก (เชิงคุณธรรม) แล้วยอมรับ

2. ตัดสินใจในการรับสารนั้น ตามหลักนิยามความจริง 7 ประการ*

3. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตามระดับความเชื่อ
-เชื่อฟัง เชื่อถือ (เลื่อมใส) เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ
ชั่วคราว
-เชื่อมั่น (ศรัทธา) เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบถาวร

 

[หลักนิยมคามความจริง 7 ประการ หมายถึงหลักแห่งการตัดสินใจกระทำการ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาศัยองค์ประกอบหลัก 7 ประการ คือ “ดี, ถูกต้อง, เป็นประโยชน์, ทำให้พ้นทุกข์ได้ หรือแก้ปัญหาได้, มีความเป็นไปได้, รู้ได้สัมผัสได้จากรูปธรรมและนามธรรม, และท้าทายให้มาพิสูจน์ได้”]

สื่อทุกประเภท จะมีคุณสมบัติในความเป็นกลาง (อัพยากฤตธรรม) โดยกายภาพ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ จะนำไปใช้ในทางสร้างสรรค์ หรือทางทำลาย ดุจเดียวกับ “ศาสตร” หรือ ศาสตร์ ที่อาจถูกนำไปใช้เพื่อสร้างสันติภาพก็ได้ หรือนำไปเพื่อแสวงผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นก็ได้ด้วย

หากผู้มีอำนาจครอบครองสื่อ ไม่มีฐานทางคุณธรรม ก็จะใช้สื่อเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสังคมโดยส่วนรวมมากน้อย ขึ้นอยู่กับความสำนึกดีชั่วของแต่ละบุคคล ในปัจจุบัน สื่อที่มีบทบาท และมีอิทธิพลต่อมนุษย์ จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสนองความต้องการ ของผู้ครอบครองสื่อ (ผู้ส่งสาร หรือผู้มีอำนาจในการกำหนดสาร) โดยไร้การควบคุม จนปล่อยให้ปัญหาความไร้มโนธรรมในการใช้สื่อเกิดลุกลามจนยากจะแก้ไข

การกำหนดคุณสมบัติใหม่ให้กับสื่อ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสำนึกในการใช้สื่อเพื่อสันติภาพ ในที่นี้เรียกว่า การสื่อสารเพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณ (การสื่อสารบุญนิยม)

[ผู้เขียนกำหนดให้เป็นสาขา 1 ใน 4 ของการสื่อสารเพื่อการพัฒนาสุขภาวะ (Conditional Health Communication) การพัฒนาสุขภาวะ แบ่งออกเป็น 4 แขนง คือ การพัฒนาสุขภาวะทางกาย การพัฒนาสุขภาวะทางจิต การพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และ การพัฒนาสุขภาวะทางสังคม]

 

3. การประยุกต์ใช้ระบบการสื่อสารเพื่อการพัฒนามนุษย์

การพัฒนามนุษย์ในความหมายนี้ หมายถึง การสร้างวิถีชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความผาสุก 4 ประการด้วยกัน คือ เกิดสุขภาวะทางกาย (Physical Health) สุขภาวะทางจิต (Psychological Health) สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Used Emotion Health) และ สุขภาวะทางสังคม (Environment and Public Health)

ความผาสุกทางกาย หมายถึง การมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง ร่างกายมีภูมิคุ้มกันทางโรคสูง ความผาสุกทางจิต หมายถึง การมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นปกติ มีสติการรับรู้ การตอบสนองต่อสิ่งเร้าตามปกติ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามวัย ความผาสุกทางจิตวิญญาณ หมายถึง การมีอารมณ์ที่ดี รู้จักควบคุมอารมณ์ใฝ่ต่ำ มิให้สำแดงฤทธิ์ ทำได้จนเป็นปกติ (สมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิตใจที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจความต้องการ ทะยานอยากของกิเลส ตัณหา อุปาทาน แม้จะถูกยั่วอย่างไรก็ตาม ก็ควบคุมได้ ก็เรียกสภาวะนี้ว่า มีความผาสุกทางจิตวิญญาณ) และความผาสุกทางสังคม หมายถึง การจัดองค์ประกอบทางสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย พืช สัตว์ คน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ฟ้า อากาศ เสียง แสง (สภาวะความสมดุลระหว่าง ดิน น้ำ ไฟ ลม)

ในบรรดาความผาสุกทั้งหมด เรื่องของจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด และเป็นต้นเหตุแห่งการทำลายความผาสุกทุกข้อที่กล่าวมา ดังนั้น การนำระบบการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาให้เกิดความผาสุกทั้ง 4 ประการ จึงถือเป็นบทบาท และภาระหน้าที่ของการสื่อสาร โดยเฉพาะ

หากจะแบ่งกรอบแนวคิด เพื่อบ่งบอกภารกิจและบทบาทของการสื่อสาร ที่มีต่อมนุษย์แล้ว อาจแบ่งได้เป็น การสื่อสารมวลชน (Mass Media Communication), การสื่อสารการเมือง (Political Communication), การสื่อสารการตลาดและธุรกิจ (Marketing & Bussiness Communication), การสื่อสารบูรณาการ (Integrated Communication), การสื่อสารเพื่อการพัฒนามนุษย์ (Human Development Communication) และ การสื่อสารการศึกษา (Education Communication)

ดังนั้น ภารกิจสำคัญของการสื่อสารเพื่อพัฒนามนุษย์ จึงมุ่งประเด็นของจิตวิญญาณ เป็นสำคัญ ตามความเห็นของสำนักบุญนิยม (Boonism) ของสถาบันบุญนิยม (Establishment Boonniyom) ซึ่งเครือข่ายชาวอโศกเป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดนี้ โดยใช้คำเรียกพฤติกรรม วิถี แนวคิดทั้งหมดว่า “บุญนิยม”

แนวคิดนี้ให้ความสำคัญในการสร้าง “คน” กับ “ระบบ” ไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ คนดี ย่อมสร้างระบบที่ดี ระบบที่ดี ย่อมส่งเสริมให้คนดี ทำดีได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันก็ป้องปรามคนเลว มิให้มีโอกาสทำเลว ส่วนคนเลว ย่อมสร้างระบบที่เลว ระบบที่เลว ย่อมส่งเสริมให้คนเลว ทำเลว-ชั่วได้สะดวกขึ้น ในขณะเดียวกันก็กีดกันคนดี ให้ทำดีได้ยาก ดังนั้น คำว่า “ดี” กับคำว่า “บุญ” จึงเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะ ดี ในความหมายของบุญ คือการดำเนิน (Process) กิจกรรม หรือพิธีการ (Activity) ในมิติของการ ลด ละ เลิก ในสิ่งที่เกาะเกี่ยว ติดยึด (รวมเรียกว่า “อัตตา” ในภาษานักการศาสนา เรียกว่า การสำรอกกิเลส) ในทางกลับกัน เลว ก็คือ มิติของการ เสพ สูบ บริโภค ตามอำนาจความต้องการส่วนเกิน

จากแนวคิด อุดมการณ์บุญนิยม ผลักดันให้เกิดมวล (Mass) และพลัง (Power) ของ “บุญ” ที่ฝัง และแนบแน่นไปกับกลุ่มคนที่ได้รับการขัดเกลา หล่อหลอมจากแม่แบบที่ดี (สมณะ และ สิกขมาตุ) ในระยะแรกมาปฏิบัติธรรม ผู้ที่ทนการขัดเกลาไม่ไหวก็เลิกราไป ส่วนผู้ที่อยู่และผ่านการพิสูจน์สัจจะความจริงที่ตนมี ตนได้ ตนเป็น ก็จะเป็นเนื้อแท้ช่วยงานศาสนา ช่วยสังคมต่อไป การหมุนเวียนของเหล่านักรบกองทัพธรรมมีเวียนเข้าเวียนออก ปีแล้วปีเล่า จากปริมาณมากเหมือนปากกวยในปีแรกๆ ไปสู่แก่นแกนที่ปลายกวย แม้ปริมาณจะลดลง แต่ก็แน่นด้วยเนื้อหาสาระของความเป็นคนบุญนิยม เพื่อเป็นแม่แบบต่อยอดให้แก่คนในรุ่นใหม่ในแต่ละรอบของการเวียนเข้ามาของผู้คน ที่ต้องการมาพิสูจน์ในหลักการของบุญนิยม

จากพัฒนาการและกระบวนการดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม 2 ประการ คือ

1. ทุนทางสังคม (Social Outputs)

ทุนทางสังคม หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นแก่สังคม ซึ่งจะสร้างความผาสุกให้แก่ส่วนรวมในระยะยาว และสร้างความเป็นเอกภาพ หรือหนึ่งเดียวให้แก่องค์กร องค์ประกอบของทุนทางสังคม ได้แก่

(1) มีคนดี

(2) มีสังคมดี สิ่งแวดล้อมดี

(3) มีระบบสาธารณโภคี

(4) มีสุขภาวะที่ดี (กาย จิต วิญญาณ สังคม)

สิ่งที่ตกผลึกไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเลื่อมใสศรัทธาของคน จนกลายเป็นวัฒนธรรมของชุมชน องค์กร และการสื่อสาร ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์พูนสุข ของระบบนิเวศ เหล่านี้ล้วนเป็นทุนทางสังคมทั้งสิ้น ทุนทางสังคมโดยตัวของมันเองแล้ว แม้จะเป็นผลสรุป หรือผลลัพธ์ (Output) ที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการและกระบวนการต่างๆก็ตาม แต่ในเวลาเดียวก็จะถูกนำไปใช้เป็นป้จจัยนำเข้า (Input) ให้แก่วงวัฏจักรของการก่อเกิดและการพัฒนาในรอบต่อไปของระบบบุญนิยม เช่น การสร้างคน เพื่อให้ได้ “คนดี” (เป็นทุนสังคม) แล้วให้คนดีไปสร้างคนอื่นให้ดีต่อไปอีก (เป็นปัจจัยนำเข้า)

“คนดี” ย่อมสร้าง “ระบบดี” “คนเลว” ย่อมสร้าง “ระบบเลว” ระบบที่ดี จะส่งเสริมให้ คนดี ได้มีโอกาสทำดี ได้ง่าย และมากขึ้น ในขณะเดียวกัน จะป้องปราม คนเลว ไม่ให้มีโอกาสทำชั่ว หรือทำชั่วได้ยากขึ้น ระบบที่เลว จะส่งเสริมให้ คนเลว ได้มีโอกาสทำเลว ได้ง่าย และมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน จะป้องปราม คนดี ไม่ให้มีโอกาสทำดี หรือทำดีได้ยากขึ้น

ความดี ความเลว ย่อมเกิดจากคน มิใช่เกิดจาก สัตว์ หรือพืช เพราะคน เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่ครบสมบูรณ์ทั้งชีวิต (ชีวะ) จิต (ภูตะ) และวิญญาณ (ปาณะ) ดังนั้น การสร้างคนให้เป็นคนดี จึงเป็นการสร้างทุนทางสังคมที่มีคุณค่ามากที่สุด และเป็น Demand ของสังคมในปัจจุบัน

สัตว์ เป็นสิ่งที่มีชีวิตเกิดจาการปรุงแต่งสังขารธรรมของ 2 สิ่ง ได้แก่ ชีวิต (ชีวะ) และ จิต (ภูตะ) ก็ย่อมประเสริฐกว่า พืช (มีแต่ “ชีวะ”) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ให้สัตว์ และคนได้บริโภคอย่างไม่เป็นหนี้ ส่วนวัตถุต่างๆที่ถูกปรุงแต่งสังขารธรรม (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เป็นสิ่งไร้ชีวิต คนและสัตว์ไม่สามารถบริโภคเพื่อสืบต่อชีวิตและเผ่าพันธุ์ได้ หากแต่เป็นพื้นฐานของทุกสรรพสิ่งได้ใช้อาศัย โดยเฉพาะผืนดิน และระบบนิเวศ นับเป็นต้นทุน (Capital) ที่ไม่ต้องลงทุนทางเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใด

ในระบบทุนนิยม-บริโภคนิยม ถือว่าสิ่งที่เป็นวัตถุแท่งก้อนไร้ชีวิต ตลอดจนทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่สามารถหยิบฉวยเอาได้ “ฟรี” โดยไม่มีความผิด โดยเฉพาะแสงแดด อากาศสำหรับหายใจ น้ำจากฟ้า แผ่นดินที่เดิน ไม่ถือว่าเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ แต่ในระบบบุญนิยมแล้ว หากผู้ใดเสพเข้าไป แล้วไม่สร้าง “ทุน” ต่อไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้ (เพราะดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมเสื่อมสภาพได้) ก็เท่ากับ “เป็นหนี้” เพราะเขาไม่มีสิทธิ์หยิบฉวยเอาได้ เพราะนี่มิใช่ของ “ฟรี” ที่พระเจ้า (ธรรมชาติ) หยิบยื่นให้คนเลว

สุขภาวะที่ดี ครอบคลุมถึง สุขภาวะทางกาย (Good Health) สุขภาวะทางจิต (Psychological Health) สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Used Emotion) และสุขภาวะทางสังคม (Modern with Development ?)

2. เครือข่ายบุญนิยม (Boonniyom Networking) มี 3 รูปแบบ และ 3 วงจร ประสานสอดร้อยกัน ส่งเสริมและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันจนเป็นหนึ่งเดียว (Oneness)

(1) เครือข่ายชุมชน (Community Network)

(2) เครือข่ายองค์กร (Organization Network)

(3) เครือข่ายการสื่อสาร (Communication Network)

เครือข่ายชุมชน มีหลายขนาด ประกอบด้วย ชมรม กลุ่ม ชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งเครือข่ายแต่ละขนาด อาจประกอบด้วยชมรม กลุ่ม ชุมชน หรือหมู่บ้าน ในจำนวนไม่เท่ากัน หากแต่ในจำนวนชมรม หรือ กลุ่ม หรือ ชุมชน หรือหมู่บ้านที่กาะกลุ่มกันอยู่นั้น จะมีองคาพยพขององค์กรสอดแทรกอยู่ภายใน เช่น ในแต่ละชุมชน จะมี ตอ. ของตนเอง (ตอ. คือองค์กรหนึ่งของชาวอโศก ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต การกำหนดราคา การจำหน่าย และการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต) ซึ่ง ตอ.ชุมชน จะมีสายใยสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายองค์กร (Organization Network) กับ ตอ.กลาง ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ชุมชนสันติอโศก กรุงเทพมหานคร ในขณะเดียวกัน ก็ย่อมมีโยงใยของสายการสื่อสาร (Communication) และสาระ (Infomation) ต่างๆ เป็นองค์ประกอบในการบริหารองค์กร (Community Management) และการเชื่อมร้อยเครือข่าย (Contact Organized) ไปยังองค์กร หรือ กลุ่ม ชุมชนที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น ในทุกแผนงาน กิจกรรม โครงการ ของทุกองค์กร เครือข่าย จึงต้องให้ความสำคัญกับทุนทางสังคมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทั่วไป หรือองค์กรบุญนิยมก็ตาม เพราะทุนสังคม เป็นสิ่งที่ให้คุณแต่ถ่ายเดียว มิให้โทษเลย ผู้บริหารทุกระดับจึงต้องให้ความสำคัญในการกำหนดแผนการบริหารสื่อให้บุคลากรเอาใจใส่เรื่องสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และคุณความดี

สรุป ดังนั้น จึงต้องมีการระดม วิเคราะห์ การใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการสื่อสาร เพื่อสร้างทุนทางสังคม เครือข่ายชุมชนบุญนิยม ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน จึงเรียกแนวคิดในการกำหนดความหมาย และคุณสมบัติใหม่ให้แก่สื่อ และการใช้ระบบสื่อสารใหม่นี้ว่า “การสื่อสารบุญนิยม” (สู่ดิน ชาวหินฟ้า: 2548)