igoodmedia network
 
- Close

 

 

การสื่อสารองค์กรเชิงบูรณาการในองค์กรบุญนิยม
(Establishment of Boonniyom Integrated Organizational Communication)

คำว่า "บุญนิยม" ยังไม่คุ้นเคยในหมู่นักวิชาการ และ แม้แต่นักการศาสนาก็ยังไม่มีผู้ใดอธิบายไว้ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมชาวอโศก หรือที่รู้จักกันดีในนามสำนักสันติอโศก ซึ่งมีสมณะโพธิรักษ์ เป็นประธานสงฆ์ และ เป็นผู้นำ ได้อรรถาธิบายแจกแจงความหมาย ที่มา ปรัชญา แนวคิด ว่าระบบบุญนิยมได้ถือกำเนิดมาพร้อมกับการอุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนา แต่เรียกกันในชื่ออื่น จนกระทั่งหลังพุทธกาลประมาณ 2,500 ปี

กล่าวคือ ปี พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นปีที่พระโพธิรักษ์ได้ประกาศแนวทางปฏิบัติศาสนาพุทธในแนวทางดั้งเดิม เรียกหมู่กลุ่มของตนเองว่า "อโศก" ก่อตั้งสำนักอยู่ที่ วัดหนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เรียกว่า "แดนอโศก" (เริ่มก่อตั้ง ปี 2513) ได้ตีความตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีแนวปฏบัติในศีลที่โดดเด่น จนเกิดความแตกต่างจากสงฆ์กระแสหลัก ทำให้เป็นอุปสรรคในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในขณะนั้น เพราะเหตุว่า ทางคณะสงฆ์ใหญ่ (มหาเถรสมาคม หรือ มส.) เห็นว่า สิ่งที่พระโพธิรักษ์ประัพฤติและเผยแพร่ อยู่นั้น มิใช่คำสอนของศาสนาพุทธ ขณะที่ท่านโพธิรักษ์ก็ยืนยันว่า ท่านได้ปฏิบัติตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ จนเกิดหมู่กลุ่ม พุทธบริษัทอย่างครบถ้วน มีสงฆ์ครบ 20 องค์ สามารถทำสังฆกรรมได้ ตามวินัยบัญญัติ หากแต่เรื่องมิได้ยุติเพียงเท่านี้ มส. ได้ใช้อำนาจบีบบังคับ ให้ท่านล้มเลิกกิจกรรมดังกล่าวเสีย พระโพธิรักษ์ได้ให้เหตุผลว่า การสอนธรรมของท่านอุปมาว่า มส.ทำกิจการขายปาท่องโก๋ เปิดร้านใหญ่โต ปรากฎว่าคนบริโภคแล้วเสียสุขภาพ (ศึกษาธรรมะ แต่ไม่พ้นทุกข์ ติดยึดในไสยศาสตร์) ท่านโพธิรักษ์ จึงแยกไปตั้งร้านเล็กๆ ขายปาท่องโก๋ สูตรใหม่ หากประชาชนเห็นว่าดี ก็ขายต่อไป ตามสิทธิและเสรีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า คนไทยทุกคนมีิสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ถ้าไม่ดี ร้านก็เจ้งไปเอง

วัตรปฏิบัติที่แตกต่างกัน กับทั้งทิฐิก็ต่างกัน เช่น พระอโศก ไม่ใช้เงินไม่ใช้ทอง ไม่สวมรองเท้า ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ไม่นอนกลางวัน ซึ่งล้วนเป็นข้อห้ามสำหรับภิืกษุ แต่ก็ไม่อาจอธิบายให้พระทาง มส. เข้าใจได้ กลับถูกปฏิเสธ กล่าวหาว่ากระทำให้พระวินัยวิปริต จึงไม่อาจอยู่ร่วมสังฆกรรมกันได้ ท่านจึงได้ตัดสินใจกระทำ นานาสังวาส กับ มส. (ซึ่งพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ว่า หากสงฆ์เกิดขัดแย้ง ให้แยกกันทำสังฆกรรมเป็น นานาสังวาส ซึ่งสงฆ์ที่เป็นนานาสังวาสกัน ไม่อาจไปตัดสินความ หรือกล่าวโทษกับสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งได้ หากทำลงไปก็เป็นอาบัติ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชน ที่เขาจะเลือกนับถือกันเอาเอง ยิ่งนานวัน ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น จนพระชาวอโศกถูกกลั่นแกล้ง ถึงขึ้นถูกประทุษร้าย ท่านจึงย้ายสำนักจากวัดหนองกระทุ่ม มาตั้งอยู่ที่ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม (ปัจจุบัน เป็นพุทธสถานปฐมอโศก)

เพื่อให้การประกาศสัจธรรมเป็นไปอย่างเปิดเผย พระโพธิรักษ์จึงขอฉันทานุมัติจากที่ประชุมมหาเถรสมาคม ขอปกครองคณะสงฆ์ของตนเอง แยกออกจากสงฆ์กระแสหลัก ซึ่งปกครองโดยมหาเถรสมาคม จากนั้นเป็นต้นมา ระบบบุญนิยมจึงเริ่มก่อตัวขึ้น จากกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า "ชาวอโศก" โดยมีพื้นฐานมาจากการฝึกอบรมสมาชิกให้เคร่งครัดในหลักศาสนา จนเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดหมู่กลุ่ม ชุมชน โดยมีศาสนสถานซึ่งเรียกว่า "พุทธสถาน" เป็นสถานประกอบการทางศาสนา มีนักบวช ซึ่งเรียกว่า "สมณะ" (ฝ่ายชาย) และ "สิกขมาตุ" (ฝ่ายหญิง) เป็นผู้อบรมสั่งสอน เกิดระบบการศึกษาซึ่งเรียกว่า "สัมมาสิกขา" ขึ้นมารองรับการพัฒนาหมู่สมาชิกญาติธรรม

ถือได้ว่า องค์ประกอบ 3 ส่วนของชุมชนบุญนิยม ได้แก่ บ้าน (ชุมชนชาวอโศก) วัด (พุทธสถาน) และ โรงเรียน (สัมมาสิกขา) ซึ่งรวมกันเรียกว่า "บวร" เป็นปัจจัยนำเข้า (Input) ในการบริหารจัดการบุคคล องค์กร และ ระบบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของวิถีบุญนิยม ตามทฤษฎีอริยมรรค มีองค์ 8 ซึ่งถือได้ว่าเป็นทัศนะแม่บทสำคัญ หรือเป็นกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของชาวอโศกในการพัฒนาองคาพยพต่างๆ มากมาย ทั้งทางด้านศาสนา, การเมือง การปกครอง (การเมืองอาริยะ), การเงิน การคลัง (กองบุญ สาธารณโภคี), การกสิกรรม (กสิกรรมไร้สารพิษ สามอาชีพกู้ชาติ), สุขภาพ (สุขภาพ 7 อ.), ชุมชน และ สิ่งแวดล้อม (ชุมชนบุญนิยม), อุตสาหกิจชุมชน, การศึกษา (สัมมาสิกขา), การสื่อสาร, เศรษฐกิจ พาณิชย์, และ การบริโภค รวม 11 ด้าน โดยมีองค์กรหลักของชาวอโศก คือ มูลนิธิธรรมสันติ สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม กองทัพธรรมมูลนิธิ ในการบริหารกิจกรรม กิจการ และ การจัดพิธีกรรมต่างๆ จนเกิดการแตกตัวขององค์กรบุญนิยม เครือข่ายชุมชน เพื่อรองรับกิจกรรม และ กิจการ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกรรมบุญนิยม

ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2518 - ปัจจุบัน) สมาชิกทุกคนในองค์กรต่างๆ ได้รับการฝึกอบรม พัฒนาตน สืบทอดจากคนรุ่นพ่อสู่ลูกถึงหลาน ให้เป็นผู้รู้ ลด ละ เลิก จากอบายมุข ถือมังสวิรัติ รักษาศีลอย่างเคร่งครัด ซึ่งนับว่านี่คือพื้นฐานการปฏิบัติธรรม นำไปสู่วัฒนธรรม และ การสร้างชีวิต สร้างสังคม ชุมชน ของคนขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ สร้างสรร เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ (พหุชนหิตายะ) เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ (พหุชนสุขายะ) ประสานสัมพันธ์จนเกิดเครือข่ายชุมชนพึ่งตนเอง เรียกว่า เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) องค์กรนี้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อรองรับการขยายตัวของเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพ และ คุณภาพชีวิต หลักสูตร "สัจธรรมชีวิต" เป็นความร่วมมือระหว่าางธนาคารเพื่อการเกษตร และ สหกรณ์ (ธกส.) และ สถาบันเพื่อการพัฒนาการเกษตร และ ชนบท จำเนียร สารนาค (สจส.) กับ เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) โดยมุ่งเปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตร จากเป็นผู้มีหนี้สิน และ อบายมุข ไปสู่ชีวิตใหม่ ด้วยการลดรูรั่วของชีวิต ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง (ปี พ.ศ.2544 - 2547) เพื่อพิสูจน์หลักธรรมของพระพุทธเจ้า และ หลักการของระบบบุญนิยม ซึ่งมีได้ และ เป็นจริงในสังคม ท่ามกลางความรุนแรงของกระแสทุนนิยม บริโภคนิยม ส่งผลให้เกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมกว่าร้อยละ 70 เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้จริง

กิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มญาติธรรม เน้นเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก ช่วงแรกอาศัยงบประมาณจากกองทุนที่สะสมขึ้นโดยชาวอโศก แม้จะเป็นกองทุนเล็กๆ แต่ทุกคนทำด้วยศรัทธากลายเป็นต้นแบบ (Model) ในการต่อยอดกิจกรรมให้แผ่ไพศาล จึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเสมอมา (ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา) นี่คือภารกิจในการสร้างทุนทางสังคม (Social Outputs) ของชาวบุญนิยม โดยอาศัยต้นทุนที่มีอยู่จริงภายในชุมชน กอบก่อรังสรรจนเป็นรูปธรรมชัดเจน ปัจจุบันรัฐเริ่มเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนามนุษย์ตามแนวทางระบบบุญนิยม จึงได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการต่างๆ จำนวนหนึ่ง ส่งผลให้กิจกรรมบุญนิยมแผ่กว้างเกื้อไปสู่ประชาชนมากขึ้น อีกรอบหนึ่ง เมื่อปลายปี พ.ศ.2547 หมู่มวลสมาชิกบุญนิยม ได้จัดสัมมนาปรับโครงสร้างองค์กรเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงาน โครงการที่ขยายออกไป เพื่อขยายโอกาสในการรับใช้สังคมให้มากกว่าเดิม ในที่สุดจึงประกาศจัดตั้ง "สถาบันบุญนิยม" ขึ้น นับเป็นองค์กรหลักที่ครอบคลุมทั้งเนื้อหาสาระ กิจกรรม การบริหารจัดการ ในนามของ "ชาวอโศก… เพื่อมวลมนุษยชาติ" อันเป็นเป้าหมาย และ อุดมการที่มุ่งมั่นขององค์กรบุญนิยม

ปรัชญา แนวคิด และอุดมการณ์ของระบบบุญนิยม

โดยสามัญสำนึกแล้ว จุดหมายที่มนุษย์ทุกคนต้องการ คือสิ่งที่เรียกว่าความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และจิตใจ หรือการรับรู้ที่เกิดจากการกระทบสัมผัสระหว่างอายตนะภายใน และอายตนะภายนอก การได้มาซึ่งความสุขดังกล่าว มนุษย์ได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ มาเป็นเครื่องมือบำบัดให้เกิดความสุขเหล่านั้น และเรียกสภาพความสุขนั้นว่า “สวรรค์” แต่สภาวะและปริมาณของสวรรค์ หรือความพึงพอใจที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นไม่ยั่งยืน มนุษย์จึงต้องแสวงหาและสะสมปริมาณของสิ่งที่เรียกว่าความสุขเหล่านั้น เพื่อรักษาดุลของความสุขให้คงอยู่นานที่สุด

ช่วงเวลาใด ปริมาณความสุขหรือความพอใจเกิดลดหายไป ปัญหาหรือความทุกข์ ก็ปรากฏขึ้น เรียกสภาพความทุกข์ในทางศาสนาว่า “นรก” มนุษย์ผู้นั้นก็จะวิ่งแสวงหาความสุขมาเติมให้เต็มอีกในครั้งต่อไป เพราะความไม่ยั่งยืนของความสุข ดังนั้นสภาวะนรก หรือ สวรรค์ จึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หมุนวนเป็นวัฎจักรของชีวิต

ตราบใดที่มนุษย์ยังรักษาดุลของความสุขไว้ได้ ก็จะยังไม่เกิดพลังหรือแรงจูงใจใดๆ หรือไม่ต้องดิ้นรน ที่จะแสวงหาความสุขมาเพิ่มเติม รอจนกว่าดุลยภาพของความสุขจะสูญเสียไปในระดับที่เกิดความทุกข์ขึ้น มนุษย์จึงจะดิ้นรน แสวงหา เป็นแรงจูงใจที่จะต้องคิดหาวิธีการหรือศาสตร์ต่างๆ เพื่อนำมาบำบัดความทุกข์เหล่านั้น

จากสมการ [*1]
[ใช้เป็นฐานคิดต้นแบบ หรือกระบวนทัศน์ (Paradigm Model) เพื่ออธิบายการเกิดลัทธิทางการเมือง สังคม และระบบเศรษฐกิจโลก ดูรายละเอียดจาก สุนัย เศรษฐบุญสร้าง, อุดมการณ์ทางสังคมในพุทธศาสนา ตามแนวความคิดของสำนักสันติอโศก. (กรุงเทพฯ: บจก.ฟ้าอภัย, 2534), หน้า 92]

                         ความต้องการ
ปัญหา ความทุกข์ = ------------------------------
                         สิ่งตอบสนองความต้องการ

อธิบายได้ว่า “ความต้องการ” ของมนุษย์มี 2 ประเภท คือ (1) ความต้องการพื้นฐาน หรือ Need ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องแสวงหา เพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอด ปลอดภัย ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค (2) ความต้องการส่วนเกิน หรือ Want ได้แก่ลาภ ยศ สรรเสริม โลกียสุข เป็นความโง่เขลาของมนุษย์ ที่ดิ้นรนแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาเสพ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีฐานะ ความอลังการ เหนือมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น เงิน เพชร คฤหาสน์หรู รถราคาแพง

ความต้องการที่สร้างปัญหาให้กับมนุษย์ ก็คือ ความต้องการส่วนเกิน ซึ่งก็คือตัวตนของกิเลส ตัณหา อุปาทานนั่นเอง การแก้ปัญหาด้วยการ เพิ่มสิ่งตอบสนองความต้องการ หรือสนองกิเลส ดูเหมือนจะระงับปัญหาได้ชั่วคราว แต่เมื่อเกิดความต้องการที่จะเสพอีก หากไม่สามารถสนองความต้องการ หรือสนองได้ในปริมาณน้อย ก็จะเกิดปัญหาหรือความทุกข์ ไม่ช่วยให้ปัญหาหมดไป เพราะตราบใดที่ ความต้องการซึ่งเป็นตัวเศษยังมีค่ามากกว่า 0 ปัญหาก็ยังมีค่าอยู่ ยังคงเป็นปัญหาต่อไป

ในทางตรงกันข้าม หากลดที่ตัวเศษจนไม่มีค่า ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปหาสิ่งตอบสนอง หรือเพิ่มค่าให้กับตัวส่วน ปัญหาก็จะเบาบางลง จนกว่าความต้องการตัวเศษจะมีค่าเป็น 0 (สภาวะทางคุณธรรม เรียกว่า “สูญ” คือ ความหมด หรือสูญ จากกิเลส ตัณหา อุปทาน) ปัญหาจะหมดไป ไม่ต้องสูญเสียงพลังงาน และเวลา ในการตอบสนองความต้องการส่วนเกินเหล่านั้น ทำให้มูลค่าของเวลา แรงงาน และความคิดที่เหลืออยู่ นำไปสร้างประโยชน์ คุณค่าต่อสังคม และธรรมชาติ เพื่อชดเชยและตอบแทนสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ เช่น อากาศ แสงแดด แผ่นดิน น้ำ เพราะสิ่งที่เรียกว่า ดิน น้ำ อากาศ และมิใช่ของ “ฟรี” ที่ธรรมชาติหยิบยื่นให้ เพียงแต่มนุษย์ “ขอยืม” เอามาใช้ชั่วคราว (อาจถึง 100 ปี หรือน้อยกว่านี้) ถ้าไม่เสียสละ หรือทำความดีตอบแทนค่าอากาศ ค่าแสงสว่าง ค่าน้ำ ที่ตนเสพเข้าไปทุกวัน มนุษย์ผู้นั้นก็จะกลายเป็น “ขโมย” ไปทันที ดังนั้น สาระของชีวิต ก็คือการลดกิเลสให้ได้ก่อนตาย เพื่อว่าจะได้ตายอย่างไม่เป็นหนี้

ระบบบุญนิยม ให้คำตอบเกี่ยวกับสาระของชีวิต และการทำชีวิตให้มีคุณค่า จากคำถามที่ว่า

ชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไร?
เกิดมาเพื่อตาย…..!

ถ้าอย่างนั้น เกิดมาทำไม?
เกิดมาทำงาน…..!

ทำงานเพื่ออะไร?
เพื่อให้ตายอย่างมีคุณค่า สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์.

ความตาย กับการทำงาน จึงมิใช่ปัญหาสำหรับผู้ที่รู้และเข้าใจสัจจะดีแล้ว

นักปรัชญาวิถีพุทธ ได้หยิบยกเอาความทุกข์ มาเป็นทัศนะแม่บทในการกำหนดทิศทาง การแก้ปัญหาของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เข้าใจแก่นสารของชีวิตได้ลึกขึ้น การตรัสรู้หลักอริยสัจ 4 ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เกิดจากมโนทัศน์ของความทุกข์ โดยเริ่มจากการค้นหาว่าปัญหาหรือความทุกข์คืออะไร (ทุกข์) เมื่อเห็นตัวตนของความทุกข์แล้ว จึงตั้งเป้าหมายให้แก่ตนเองว่า จะต้องไปเสียให้พ้นจากความทุกข์เหล่านั้นให้ได้ (นิโรธ) จึงแสวงหาหนทาง (มรรค) ในการกำจัดปัญหาหรือทุกข์เหล่านั้นด้วยวิธีการต่างๆ โดยเริ่มจากค้นหาต้นเหตุ (สมุทัย) เป็นเบื้องต้นก่อน นี่คือกลวิธีในการแก้ไขปัญหา ที่ได้ผลมาแล้ว กลายเป็นทฤษฎีต้นแบบให้อีกหลายทฤษฎีได้นำมาใช้อ้างอิง

จะเห็นว่าการมองชีวิตภายใต้มโนทัศน์ของความทุกข์ ก่อให้เกิดคำถามมากมาย และเป็นที่มาของการแสวงหาองค์ความรู้ในสาขาต่างๆ

เพื่อให้เกิดทัศนะที่ถูกต้องต่อระบบบุญนิยม ต้องมองในหลายมิติ คือ มติทางด้านศาสนา ชีวิต จิตวิญญาณ มิติทางการเมือง การปกครอง มิติทางเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ มิติทางสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และมิติทางการศึกษา ศิลปะ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในทุกมิติจะมีทิศทางเดียวกัน คือการสลาย “รหัสพันธุกรรมทางความคิด” (Genetic code of paradigm) อันเกิดจาก “อัตตทิฏฐิ” (อัตตา + ทิฏฐิ = ความเห็นว่าเป็นอัตตาตัวตน) และ “อัตตวา-ทุปาทาน” (อัตตา + วาทะ + อุปาทาน = การยึดเอาภาษามาเป็นอัตตาตัวตน) ที่มนุษย์ทุกวันนี้ไปยึดถือมโนทัศน์ (Concepts) บางเรื่องที่สะท้อนผ่านทางภาษามาเป็นอัตตาตัวตนของความจริงในธรรมชาติ

ทัศนะแม่บทของกำไร-ขาดทุน ในความหมายของระบบทุนนิยม

1. กำไร คือ การได้เปรียบจากผู้อื่น ยิ่งลงทุนน้อย แล้วได้คืนหลายเท่าเท่าใด ถือว่าประสบผลสำเร็จ เรียกว่า กำไร

2. ขาดทุน คือ เสียเปรียบ ลงทุนมากแต่ได้ผลตอบแทนมาน้อย

3. เงิน คือพระเจ้า เป็นจุดหมายสูงสุดที่ต้องการ แม้จะมีผลกระทบต่อผู้อื่น สิ่งแวดล้อมก็ตาม

ทัศนะแม่บทของกำไร-ขาดทุน ในความหมายของระบบบุญนิยม

1. กำไร คือได้เสียสละ หรือได้เสียเปรียบให้กับผู้อื่น ยิ่งลงทุนไปมาก แล้วไม่รับผลตอบแทนกลับคืนมาเลย ยิ่งเป็นค่าและมวลของ “บุญ” หรือความพึงพอใจ

2. ขาดทุน คือเอาเปรียบคนอื่น ลงทุนน้อยแต่รับผลตอบแทนมากกว่า โดยสัจจะย่อมเป็นหนี้สังคมเพราะเท่ากับเอาเปรียบแรงงานคนอื่น

3. กรรม คือพระเจ้า กรรมดี กรรมชั่ว ขณะที่บุคคลมีชีวิตอยู่ ล้วนคือสมบัติทรัพย์แท้ของชีวิตที่ต้องติดตัวไปทุกภพชาติ สัจจะของกรรมนั้น เมื่อทำดี - ดีในตัว เมื่อทำชั่ว - ชั่วทันที ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้

การประยุกต์ใช้การสื่อสารองค์กรเชิงบูรณาการ ในการวางแผนองค์กรบุญนิยม

1. องค์กรบุญนิยม หมายถึงการรวมกลุ่มของบุคคลที่มุ่งมั่นในอุดมการณ์ 7 ส. (สุข สูง สร้างสรร เสียสละ สมบัติ สูญ สัมบูรณ์) ร่วมกันดำเนินกิจกรม พิธีกรรม และกิจการ รวม 11 ด้าน (ศาสนา, การเมือง การปกครอง, การเงิน การคลัง, การกสิกรรม, สุขภาพ, ชุมชนและสิ่งแวดล้อม, อุตสาหกิจชุมชน, การศึกษา, การสื่อสาร, เศรษฐกิจ พาณิชย์, และการบริโภค) เพื่อให้เกิดสภาพของ “สาธารณโภคี” (สมาชิกและองค์กร สามารถพึ่งตนเองได้, สร้างสรร, ขยัน อดทน, ไม่เอาเปรียบใคร, ตั้งใจเสียสละ) โดยมีหลักวรรณะ 9 (เลี้ยงง่าย, บำรุงง่าย, มักน้อย, ใจพอ สันโดษ, ขัดเกลา, มีศีลเคร่ง, มีอาการที่น่าเลื่อมใส, ไม่สะสม, ยอดขยัน) เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ [*2]

[ดูรายเอียด ความหมาย การจัดตั้งองค์กรจาก ธรรมนูญว่าด้วยเครือข่ายองค์กรบุญนิยม และการจัดตั้งสถาบันบุญนิยมชาวอโศก พ.ศ. 2547., เอกสารโรเนียว]

2. องค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการ ในการวางแผนองค์กร

2.1 นโยบาย (Policy) ด้านการสื่อสาร

2.1.1 ส่งเสริม การใช้สื่อเพื่อการพัฒนา และสร้างสรร อย่างรู้คุณค่า และมีปัญญา มุ่งประโยชน์ สันติสุข สันติภาพแก่มนุษยชาติ ส่งเสริมการเรียนรู้ทางสังคม และการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ตลอดจนรู้เท่าทันสื่อ และการมอมเมา

2.1.2 ป้องกันและควบคุมระบบการสื่อสารทั้งระบบ ที่ทำลายคุณธรรมและจริยธรรม หรือถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ของบุคคล หรือกลุ่มบุคคล

2.1.3 สร้างและปรับปรุงแหล่งเครื่องมือสื่อสาร ให้พ้นจากการเป็นฐานอำนาจ และผลประโยชน์เพื่อตน-คณะบุคคล มาเป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพื่ออำนาจของปวงประชา [*3]

[โปรดดูรายละเอียดด้านอื่นๆ ในนโยบายของพรรคเพื่อฟ้าดิน ซึ่งถือว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กรบุญนิยม หรือดูที่ http://www.asoke.info/02Polity/FhaeParty/politic/index.html]

2.2 ปัจจัยนำเข้า (Input) ประกอบด้วยองค์ประกอบ 7M คือ

2.2.1 บุคลากร (Man) ประกอบด้วย นักบวช ผู้บริหารองค์กร เจ้าหน้าที่ และสมาชิกองค์กร ซึ่งต้องมีคุณสมบัติรักษาศีล 5 ได้เป็นปกติเป็นอย่างต่ำ ทุกฐานะ ทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะบุคลากรในฐานะผู้ส่งสาร ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นผู้กำหนดสารสาระต่างๆ ที่ไม่ผิดศีลธรรมจริยธรรมออกสู่สังคม

2.2.2 อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ (Machine and Accessory) ได้มาโดยบริสุทธิ์ ปราศจากการเบียดเบียน หรือมิใช่ได้มาเพราะเชิงเอาเปรียบ

2.2.3 วัสดุประกอบกิจกรรม (Material) เกิดจากพลังกาย ปัญญา ที่สั่งสมเป็นทุนทางนามธรรม มิใช่ได้มาเพราะเชิงเอาเปรียบ

2.2.4 งบประมาณ (Money) มาจากกองบุญต่างๆ เช่น กองบุญสวัสดิการ มูลนิธิ สมาคม บริษัท ซึ่งรวมกันเรียกว่า กองสาธารณโภคี การรับบริจาคเงิน แบบมีเงื่อนไข และป้องกันการครอบงำจากอิทธิพลของระบบทุนนิยม

2.2.5 สื่อ (Media and Message) แบ่งออกเป็น 7 ประเภท สื่อบางประเภท เป็นได้ทั้งสื่อ และช่องทางในการสื่อสาร ได้แก่ สื่อบุคคล (Person) สื่อวัตถุสถานที่ (Place) สื่อเอกสารสิ่งพิมพ์ (Printing) สื่อกิจกรรมพิธีกรรม (Event) สื่อโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ (Tele-mass communication) สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ สื่อมัลติมีเดีย (Multimedia) สื่อปราศรัย (Speech)

2.2.6 ระเบียบวิธี (Method) ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการ องค์กรบุญนิยม

ทางด้านกายภาพ ใช้สูตรสู่ความสำเร็จ 7 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ศึกษา (2) เอาจริง (3) ต่อเนื่อง (4) ประสานสัมพันธ์กลุ่ม (5) ขยายงาน (6) เผยแพร่ (7) การตลาด มาเป็นหลักการบริหารทั่วไป

2.2.7 การบริหารจัดการ (Management) ได้นำเทคนิคการตัดสินใจในมิติต่างๆ มาใช้บริหารองค์กร ได้แก่

มิติทางวัตถุ ตัวตนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางใดๆ ก็ตาม จะให้ความสำคัญเรื่องคน มากกว่าวัตถุ แม้คนก็ยังมีทางเลือก เช่น การให้ทาน ที่ถือว่าเป็นทางเลือกที่จะเกิดประโยชน์คุณค่าที่สุด คือ ให้ในสิ่งที่ขาดแคลนก่อน ให้ในสิ่งที่จำเป็นก่อน ให้ในสิ่งที่เขาต้องการก่อน ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ก่อน และให้สิ่งที่เป็นคุณค่าก่อน การให้แบบสังคมสงเคราะห์ จึงเกิดประโยชน์น้อยกว่า การให้ปัญญา หรือการให้ธรรมะ (เพื่อให้เขาพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคม)

มิติทางเวลา หรือลำดับ ขั้นตอน ก่อนหลัง โดยให้ความสำคัญทางด้านจิตใจก่อนวัตถุ จัดการแกัปัญหาเรื่องคนก่อน เป็นต้น

มิติทางคุณภาพ หรือคุณค่า ใช้องค์ประกอบของความจริงแท้ (สัจธรรม) 7 ประการ มาเป็นตัวชี้วัด ตัดสิน คือ (1) เป็นความดี (2) เป็นความถูกต้อง (3) เป็นคุณค่าประโยชน์ (4) เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ (อาริยสัจ) (5) เป็นไปได้ (6) รู้ได้สัมผัสได้จากรูปธรรมและนามธรรม และ (7) ท้าทายให้มาพิสูจน์ได้

มิติการสร้างกลไกในการตัดสิน คือการตัดสินใจในเรื่องของ ความถูก-ผิด, ดี-เลว, รักษา-ทำลาย, ให้-รับ, ดีใจ-เสียใจ โดยใช้กุญแจ 5 ดอก ได้แก่

กุญแจ เจตนา ดูจากสถานการณ์ ผิดกฎหมาย, บาดเจ็บ หรือทรัพย์สินเสียหาย, บันดาลโทสะ ป้องกันตัว เหตุสุดวิสัย, พยาม ผิดแค่ทางวาจา, ไม่เจตนา หรือประมาท
กุญแจ ผลกระทบ ดูจากสิ่งที่จะเกิด กระทบต่อสาธารณะ, กระทบต่อบุคคล, กระทบต่อทรัพย์สินหรือสัตว์, กระทบต่อชื่อเสียง เกียรติยศ
กุญแจ กรรม ดูจากสาเหตุ กระทำกันเป็นกลุ่ม, ทำเองหรือจ้างวานให้ผู้อื่นทำ, ทำเพราะหลงผิด, ทำเพราะถูกบังคับหรือสถานการณ์จำนน
กุญแจ สำนึก ดูจากจำนวนครั้งที่เกิดขึ้น เกิดซ้ำซาก, เกิดสองสามครั้ง, เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก, ยอมรับการเกิดขึ้น
กุญแจ ฐานะ ดูจากสถานภาพและ ความน่าเชื่อถือของผู้กระทำ หรือสิ่งที่เกิดขึ้น
ส่วนน้ำหนักการตัดสินใจ สามารถวัดค่าเป็นตัวเลขสมมุติได้

ในการตัดสินใจ อาจใช้หลักความจำเป็น 5 ประการ มาพิจารณาด้วย คือ "ความถี่ของพฤติการณ์, ความรุนแรง, ผลกระทบ, ความยากง่ายในการแก้ไข, และ ประโยชน์สูง ประหยัดสุด" และหลักของความเป็นกลาง "ความเป็นกลางต้องเข้าข้างคนดี" (คนดี คือ คนที่ไม่เห็นแก่ตัว)

2.4 ผลที่ได้ (Output)

2.4.1 คุณภาพของคน ซึ่งเกิดผลกระทบ (Impact) ต่อวิถีแห่งพฤติการณ์ และการตัดสินใจของบุคลากรในองค์กร ตามลำดับขั้นของ 3 ล. คือ (1) ลด ความสูญเสียอันเกิดจากความไร้ระเบียบของคน (2) ละ หน่าย คลาย ห่าง จากปัญหาหรือความขัดแย้งที่มีอยู่ก่อนซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ เพื่อมิให้ปัญหานั้นรุนแรง ลุกลาม มากกว่าเดิม โดยไม่สร้างหรือเป็นต้นเหตุให้ปัญหา หรือความขัดแย้งเหล่านั้น สัมฤทธิ์ผล (3) เลิก สนับสนุนปัจจัย หรือสาเหตุที่จะทำให้เกิดปัญหาหรือความขัดแย้งในองค์กร และสังคม

2.4.2 องค์ความรู้ ที่เป็นสาระสำคัญ (Message) ที่สมาชิกองค์กรพึงได้รับ และสามารถนำไปสื่อสาร หรืออธิบาย (Presentation) หรือแสดง (Exhibition) ให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ตลอดจนสามารถวัดผลประเมินคุณภาพของผลผลิต หรือชิ้นงานได้

2.4.3 ดุลยภาพทางกายและจิต ได้แก่ มุ่งหวังให้เกิดสุขภาวะทางร่างกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และสุขภาวะทางสังคม เป็นประเด็นหลัก

2.4.4 ทุนทางสังคม (Social Outputs) คือ ต้นทุนที่จำเป็นต่อความผาสุกของส่วนรวมในระยะยาว ที่จะใช้เป็นแหล่งสร้างความเป็นเอกภาพ หรือหนึ่งเดียวให้แก่องค์กร องค์ประกอบของทุนทางสังคม ได้แก่
(1) คนดี
(2) สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี
(3) มีระบบสาธารณโภคี
(4) มีสุขภาวะที่ดี (กาย จิต วิญญาณ สังคม)

3. การประยุกต์ใช้แผนการสื่อสารองค์กรเชิงบูรณาการในองค์กรบุญนิยม มีองค์ประกอบ ดังนี้

3.1 การวิเคราะห์สถานการณ์ขององค์กร (Analysis)

3.1.1 จุดแข็ง (Strength) ขององค์กรบุญนิยม คือ

บุคลากรที่เป็นสมาชิก มีหลายระดับ และมีคุณภาพแตกต่างกัน ซึ่งถูกอบรมขัดเกลา และฝึกอบรมอยู่เสมอ โดยมีคุณสมบัติพื้นฐานสำคัญ คือ รักษาศีล 5 ลดละอบายมุข รับประทานมังสวิรัติ มีการสร้างกลุ่ม องค์กรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จากชมรม เป็นกลุ่ม เป็นมูลนิธิ สมาคม บริษัท พัฒนาเป็นชุมชน บางแห่งยกระดับเป็นหมู่บ้าน (หมู่บ้านศีรษะอโศก และหมู่บ้านราชธานีอโศก) จนสามารถขยายความเกาะกลุ่มเป็นเครือข่ายชุมชน เรียกว่าเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย หรือ คกร. เนื่องจากหน่วยงานในองค์กรบุญนิยมมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้การประงานด้านกำลังคน และงบประมาณเกิดอุปสรรค เมื่อปลายปี 2547 จึงได้จัดตั้งสถาบันบุญนิยม ถือเป็นการปรับกระบวนยุทธ์ขององค์กรเสียใหม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

บุคลากร ที่ทำงานในองค์กรบุญนิยม มีคุณสมบัติหลายระดับ บางคนทำงานโดยไม่รับเงินเดือนเป็นของตนเอง (ลงชื่อรับเงิน แต่บริจาคเข้ากองบุญ) หรือรับค่าตอบแทนแต่น้อย หรือไม่รับเลย (ทำงานให้ฟรีโดยไม่คิดค่าแรง) ที่อยู่ได้เพราะ ไม่มีอบายมุข ลดความต้องการส่วนเกินไปได้ และบางคนมีรายได้เป็นของตนเองส่วนหนึ่งอยู่แล้ว แต่อาสาสมัครไปทำงานให้ เพราะเห็นคุณค่าของการได้เสียสละ

3.1.2 จุดอ่อน (Weakness) ขององค์กรบุญนิยม คือ สัดส่วนของปริมาณบุคลากร กันปริมาณงานไม่เหมาะสม กล่าวคือ กิจการขององค์กรได้ขยาย แตกตัวออกไปมาก แต่ปริมาณบุคลากรไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มน้อยมาก ทำให้เกิดการอัดแน่น และกระจุกตัวของตำแหน่งงาน และปริมาณงานโดยที่คนคนเดียวรับหน้าที่หลายตำแหน่ง และทำงานหลายหน้าที่ในเวลาเดียวกัน

3.1.3 โอกาส (Opportunity) ในการสร้างสรรงานเพื่อสังคม มีอยู่ทุกโอกาส ทุกสถานที่ มีงานล้นมือตลอดเวลา เหมาะสำหรับคนที่มีอุดมคติ และต้องการสร้างอุดมการ หาทางเลือกให้แก่ชีวิต แม้จะมีปริมาณน้อย แต่ก็มากด้วยพลัง เพราะทำด้วยศรัทธา (เสียสละ คือกำไร เอาเปรียบ หรืออยู่เฉยๆ คือ ขาดทุน)

3.1.4 อุปสรรค (Threat) คือ คุณภาพทางจิตวิญญาณของสมาชิก สร้างได้ยาก และตัวชี้วัดก็มีน้อย ตัวชี้วัดสำคัญที่จะบ่งบอกระดับความสูงต่ำทางคุณธรรม ก็คือคนที่มีคุณธรรมระดับเดียวกัน ย่อมรู้กันเอง ไม่สามารถบอกให้ผู้อื่นรู้ได้ เพราะเป็นนามธรรมภายใน

3.2 การกำหนดภารกิจ (Mission)

3.2.1 ภารกิจในการกู้ชาติ 5 ประการ คือ
(1) เร่งประหยัด (มัธยัสถ์) (2) ฝึกหัดสร้างสรร (อิทธิบาท) (3) ช่วยกันอุดหนุน (ชาตินิยม) (4) รู้บุญเลิกบาป (วิชชา) และ (5) เอิบอาบเสียสละ (จาคะ)

3.2.3 ภารกิจในการสร้างเครือข่ายชุมชน

(1) ก้าวสู่บุญนิยม คือการสร้างพื้นฐานให้กับชีวิตของสมาชิกใหม่ โดยการจัดฝึกอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต (สำหรับผู้ใหญ่) หลักสูตรเยาวชนคนสร้างชาติ (สำหรับเยาวชน) หลักสูตรสร้างผู้นำ (สำหรับสมาชิกแกนนำ)

(2) ขั้นพัฒนาตน ด้วย "สัมมาอาชีพ"

(3) ขั้นเพิ่มผลศักยภาพ ด้วย "เศรษฐกิจพึ่งตน (เศรษฐศาสตร์บุญนิยม)"

(4) ขั้นปรับสถานะ ให้เป็น "ชุมชนเข้มแข็ง (ชุมชนบุญนิยม)"

(5) ขั้นสร้างสุขภาวะยั่งยืน เพื่อเป็น "ทุนทางสังคม" ด้วยการรู้จักใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมพื้นบ้านอย่างเหมาะสม

3.2.4 ภารกิจในการสร้างคนดี คุณภาพ 4 ขั้นของคนดี คือ
ผู้รู้ได้ถ้วน ทำได้ที่ เรียกว่า “ผู้สำเร็จ”
ผู้ทำได้ดี แต่รู้ไม่มาก เรียกว่า “ผู้เป็น”
ผู้ทำได้ยาก แต่รู้มากและง่าย เรียกว่า “ผู้รู้”
ผู้มีป้ายปริญญาประกาศนียบัตร เรียกว่า “ผู้ได้รับการรับรอง”

3.2.5 ภารกิจสูงสุด คือ อุดมการณ์ความเป็นมนุษย์ 6 ประการ คือ สะอาด สว่าง สงบ สุภาพ สมรรถนะ สามัคคี

3.3 กลยุทธ์ (Strategy)

3.3.1 หลักการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรการสื่อสารเชิงบูรณาการ สามารถนำแบบจำลองของกระบวนการสื่อสารองค์กรเชิงบูรณาการ ได้แก่ รักองค์กรด้วยใจ (Incorporation) ทุ่มเทให้กับงาน (Action) พัฒนาสารสนเทศ (Information) ใช้กลเม็ดสื่อสาร (Strategic Communication) ประสานสัมพันธ์สมาชิก (Interaction)

กลยุทธ์เหล่านี้ ถูกนำไปบูรณาการในการบริหารองค์กร และกิจกรรมประจำวัน

3.3.2 จัดลำดับกระบวนกู้ชาติไว้ 4 ขั้นตอน คือ เศรษฐกิจพึ่งตน ชุมชนเข้มแข็ง ประชามีธรรม ประเทศมีไท

3.3.3 กลยุทธ์การขัดเกลากิเลส ตัณหา อุปทาน โดยใช้สูตรจากสมการต่อไปนี้

y = d / s
M = m - (p + n)

ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ มีต้นเหตุมาจากรากเหง้า ของความกลัวภัย 5 ประการ (อาชีวิตภัย, อสิโลกภัย, สารัชภัย, มรณภัย, ทุคติภัย) ดังนั้น ปัจจัย 4 (อาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, ที่อยู่อาศัย, ยารักษาโรค) จึงเป็นความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่เพราะเพราะมนุษย์ส่วนใหญ่จะมี กิเลสเป็นเจ้าเรือน มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นต้นเหตุให้เกิดความต้องการส่วนเกิน ซึ่งไม่จำเป็น

จากสมการต่อไปนี้

ทุกข์ หรือ ปัญหา (y) = ความต้องการส่วนเกิน (d) / สิ่งตอบสนองความต้องการ (s)

มนุษย์ไม่มีความผาสุก เพราะต้องดิ้นรนแสวงหา หรือตอบสนองความต้องการส่วนเกิน ความต้องการส่วนเกินยิ่งมีค่าสูงเท่าใด แรงเรียกร้องในการตอบสนองจะสูงตามไปด้วย หากบุคคลผู้นั้น วิ่งแสวงหาสิ่งตอบสนองดูเหมือนปัญหาจะสงบได้ระยะหนึ่ง แต่เมื่อเกิดความต้องการรอบใหม่ ปัญหาก็เกิดอีกวนอยู่เช่นนี้ตลอดไป จึงเป็นความทุกข์ และเป็นปัญหาของสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี และต้องใช้ศิลปะในการขัดเกลา เพื่อจะลดค่าตัว d

กระบวนการขัดเกลากิเลส เพื่อให้เกิดการลด ละ เลิกการเสพ แสวงหาสิ่งที่เกินความต้องการ ใช้สมการ ดังนี้

วัตถุ (Material) = ความคงสภาพของมวล (mass) – กำลัง (power) + จำนวนครั้ง (n))

หรือ M = m - (p + n)

ถ้าให้ M แทนค่าด้วยก้อนหินก้อนหนึ่ง ก้อนหินจะคงสภาพอยู่ได้เพราะมีแรงเกาะยึดจำนวนหนึ่ง สมมุติ มีค่าเป็น 10 ถ้าต้องการทำลายก้อนหิน (ให้ค่าของ M = 0) ด้วยการใช้ฆ้อนเหล็กทุบหินให้แตก ก็จะต้องออกแรงให้ได้สัดส่วนกับจำนวนครั้งที่ทุบ เช่น ถ้าออกแรงเพียงเล็กน้อย เช่น 1 ใน 10 หน่วย ก็จะต้องออกแรงตี จำนวน 10 ครั้ง ก้อนหินจึงจะแตก แต่ถ้าต้องการทุบให้หินแตกเพียงครั้งเดียว ก็จะต้องทุ่มเทออกแรงให้มากที่สุด คือ 10 หน่วย

จากตัวแบบในสมการ ดังกล่าวสามารถนำมาอธิบาย กระบวนการขัดเกลากิเลสได้ โดยให้กิเลส หรือความต้องการส่วนเกิน เหมือนก้อนหินก้อนหนึ่ง การทุบหรือขัดเกลา จะต้องใช้ศิลปะ ประมาณความพอเหมาะระหว่างการออกแรง และจำนวนครั้ง ในการขัดเกลาคนอื่น โดยอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ เช่น บุคคลที่เราต้องการจะขัดเกลา (ผู้รับสาร) มีอุปนิสัย และความติดยึดสูง แต่ เขามีความศรัทธาในตัวผู้ขัดเกลา (ผู้ส่งสาร) การบอกกล่าว ห้ามปราม อาจจะได้ผลระดับหนึ่ง เช่น บอกเพียง 2 – 3 ครั้ง เขาก็เลิกละความติดยึดนั้นได้บางส่วน แต่ถ้าผู้ส่งสารใจร้อนมีความปรารถนาดีต้องการให้เขาละเลิกโดยเร็ว โดยอาจใช้คำพูดที่รุนแรง เพียงครั้งเดียว แต่ถ้าผู้รับสารมีความติดยึดสูง และไม่ศรัทธา การขัดเกลาก็ไร้ผล และเกิดผลกระทบในทางลบเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ยากในการขัดเกลาในครั้งต่อไป

3.3.4 การใช้กลยุทธ์การสื่อสาร

กลยุทธ์การสื่อสาร (Communication Strategies) ของบุญนิยม ยังคงใช้องค์ประกอบพื้นฐานการสื่อสารทั่วไป คือ

ผู้ส่งสาร (Sender)---> สื่อสาระ (Message) --->ช่องทาง (Channel) --->ผู้รับสาร (Receiver)

<-----------------------------Feedback---------------------------------------|
(ภาพแผนภูมิ)

แต่ได้อธิบายความหมายขององค์ประกอบ แตกต่างจากทฤษฎีดั้งเดิม กล่าวคือ

ผู้ส่งสาร (Sender) หมายถึง นักบวช หรือผู้นำองค์กรที่ไม่บกพร่องเรื่องคุณธรรม เป็นผู้กำหนดสาร และผู้ส่งสารสาระ ตลอดจนเป็นผู้เลือกสื่อที่เหมาะสม

สาระ (Message) ที่อยู่ในข่ายของบุญนิยม ต้องไม่ใช่สิ่งที่มอมเมา หรือ อนาจาร หรือเป็น “ศาสตรา” ที่ให้ผลในเชิงเอาเปรียบ เบียดเบียน แต่เป็น “ศิลป” ที่ชวนให้คนมาทำความดี เสียสละ ด้วยการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงภาพลักษณ์ (Image) ในความเป็นองค์กรที่เสียสละเพื่อสังคม ดังนั้น ตัวสาร (Context) จำเป็นต้องมีคำสอนในทางศาสนาแทรกไว้อยู่เสมอ “สารใดที่ไร้ธรรม สารนั้น คือ ศาสตรา สารใดที่ทรงธรรม สารนั้นคือ ศิลปะ สารใดที่พาให้คนพ้นอัตตา สารนั้นคือ ศิลปะอันติมะ”

ช่องทางในการเผยแพร่ (Channel) ได้แก่ สื่อต่างๆ (Media), บุคคล (Person), เหตุการณ์ (Events) ที่ได้รับการคัดสรร เน้นเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ สื่อประเภทใดที่เสี่ยงต่อการควบคุม ก็จะงดจำกัดสื่อประเภทนั้น

ผู้รับสาร (Receiver) เน้นมวลสมาชิกขององค์กรก่อน และประชาชนในระดับล่าง ระดับกลาง ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ผู้รับสารคือผู้ปฏิบัติธรรม จึงอยู่ในข่ายที่ได้รับความสำคัญก่อน

องค์กรบุญนิยม ถือว่า บุคคล (คนดี มีศีลเคร่ง) คือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ใช้กระบวนการผลิตที่ยุ่งยาก และอาศัยเวลา แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็เป็นสินค้าเฉพาะ (Personality Product) และมีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานประหยัด (กินน้อย ใช้น้อย) และให้กำลังงานสูง (ทำงานจากพลังความศรัทธาในคุณค่าของการเสียสละ หรือ บุญ)

ดังนั้นการขายสินค้าขององค์กรบุญนิยม ก็คือการ ผลิตคนดีขึ้นมารับใช้สังคม สามารถนำทฤษฎีการสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการ หรือ IMC (Integrated Marketing Communication) มาประยุกต์ใช้ได้ โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนบรรจุภาพลักษณ์ (Brand) ที่สังคมรู้จักดีอยู่แล้วเข้าไปในระบบการสื่อสาร ด้วยการวางตำแหน่ง (Positioning) และกำหนดจุดขาย (Placing) ของทั้งสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ บุคคลให้เหมาะสม และอาศัยสื่อต่างๆ ตลอดจนความมีชื่อเสียงของบุคคลเป็นจุดประชาสัมพันธ์ โดยอาศัยสถานการณ์ความตกต่ำทางจริยธรรมของสังคม มาเป็นจุดประชาสัมพันธ์ ว่ายุคสังคมไร้ยางอาย ศีลธรรมไม่มาโลกาจะวินาศ ทุกคนต้องหันมาคิด และให้ความสำคัญในเรื่องบาปบุญคุณโทษ โดยเฉพาะเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มฝั่งทะเลตะวันตกของไทย ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่ลวง มีสาเหตุมาจากมนุษย์ไปเบียดเบียนธรรมชาติจนเสียสมดุล [*4]

[ตัวอย่างในการทำประชาสัมพันธ์ (ขายความรักเอื้ออาทร) ให้แก่ผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ก็คือ ภาพของกลุ่มชาวบุญนิยม ทั้งนักบวชและฆราวาส ออกเดินจาริกไปเยี่ยมเยือน ช่วยเหลือด้วยสองมือ ด้วยน้ำใจ แม้ไม่ใช่ญาติพี่น้อง สิ่งที่ช่วยไม่ใช่เงิน เงินเทียบค่าไม่ได้กับ ความเห็นอกเห็นใจ ที่มาอยู่ร่วมทุกข์ ร่วมรับรู้ชี้ทางสว่างให้หายจากเศร้าโศก นี่คือตัวอย่างของการขายสินค้าที่เป็นธรรมะ สามารถดื่มได้ในยามหิวกระหาย ซึ่งเป็นสินค้าที่คนภาคใต้ต้องการมากที่สุด คือ ความเป็นมิตรในยามยาก

การขายสินค้า (ต่ำกว่าราคาตลาด เท่าทุน ต่ำกว่าทุน แจกฟรี) ที่เป็นวัตถุธรรม หรือ นามธรรม เช่น ต้องการขายธรรมะ โดยการเชิญชวนให้คนมาถือศีล 5 หรือมาช่วยกันทำงานการกุศลสักอย่าง ก็สามารถนำเครื่องมือของ IMC มาประยุกต์ไช้ได้เช่นเดียวกัน เช่น การโฆษณา (Advertising) การประชาสัมพันธ์ (Public Relations) การส่งเสริมการขาย (Sales Promotion) การขายทางตรง (Direct Marketing) และการขายผ่านพนักงานขาย (Personal Selling)]

3.4 แผนงาน โครงการ กิจกรรม (Planing)

3.4.1 โครงสร้างองค์กร การจัดโครงสร้างองค์กร เพื่อให้การประยุกต์ใช้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งแผนกงานได้ดังนี้ แผนกงานที่ประสานงานภายในองค์กร แผนกงานที่ประสานงานกับองค์กรภายนอก (สื่อมวลชนสัมพันธ์) แผนกผลิตสื่อ แผนกสารสนเทศ และแผนกวิจัย

3.4.2 แผนพัฒนาบุคลากร การพัฒนาบุคลากร ถือเป็นหัวใจหลักของแผนงาน เพราะทรัพยากรมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดขององค์กรบุญนิยม นับเป็นภาระกิจอันดับหนึ่งในการสร้างคนดีมีศีล

3.4.3 แผนงานผลิตสื่อ และการประชาสัมพันธ์ ในฐานะเป็นเครื่องมือถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิธรรม

3.4.4 แผนงานวิจัย และการประเมินคุณภาพ โดยองค์กรภายใน และองค์กรภายนอก เพื่อเป็นกรอบในการปรับปรุงองค์กรให้ทันสมัย

3.4.5 แผนการดำเนินงาน ที่ระบุรายการปฏิบัติ วันเริ่มต้น วันสิ้นสุด เป้าหมาย ผู้รับผิดชอบ เพื่อเป็นกรอบกิจกรรม แบ่งเป็นแผน 3 ปี แผน 6 เดือน แผน 3 เดือน ตามความเหมาะสม

3.4.6 แผนงบประมาณ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของหน่วยงาน และแหล่งสนับสนุนเงินทุน แหล่งทุนที่สนับสนุนได้จาก กองบุญที่เป็นสาธารณโภคี จากการบริจาค และจากงบประมาณของรัฐ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขขององค์กรบุญนิยม แหล่งงบประมาณที่ขัดหรือแย้งกับหลักอุดมการ ไม่ถูกปฏิเสธจากองค์กร

3.5 ผลกระทบ (Impact)

จากแนวคิด อุดมการณ์บุญนิยม ผลักดันให้เกิดมวล (Mass) และพลัง (Power) ของ “บุญ” ที่ฝัง และแนบแน่นไปกับกลุ่มคนที่ได้รับการขัดเกลา หล่อหลอมจากแม่แบบที่ดี (สมณะ และ สิกขมาตุ) ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมอย่างน้อย 2 ประการ คือ

3.5.1 ทุนทางสังคม (Social Outputs) ซึ่งประกอบด้วย คนดี สิ่งแวดล้อมดี สาธารณโภคี และ สุขภาวะที่ดี

3.5.2 เครือข่ายบุญนิยม (Boonniyom Networking) มี 3 รูปแบบ และ 3 วงจร ประสานสอดร้อยกัน ส่งเสริมและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันจนเป็นหนึ่งเดียว (Oneness)

(1) เครือข่ายชุมชน (Community Network)
(2) เครือข่ายองค์กร (Organization Network)
(3) เครือข่ายการสื่อสาร (Communication Network)

เครือข่ายชุมชน มีหลายขนาด ประกอบด้วย ชมรม กลุ่ม ชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งเครือข่ายแต่ละขนาด อาจประกอบด้วยชมรม กลุ่ม ชุมชน หรือหมู่บ้าน ในจำนวนไม่เท่ากัน หากแต่ในจำนวนชมรม หรือ กลุ่ม หรือ ชุมชน หรือหมู่บ้านที่กาะกลุ่มกันอยู่นั้น จะมีองคาพยพขององค์กรสอดแทรกอยู่ภายใน เช่น ในแต่ละชุมชน จะมี ตอ. ของตนเอง (ตอ. คือองค์กรหนึ่งของชาวอโศก ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต การกำหนดราคา การจำหน่าย และการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต) ซึ่ง ตอ.ชุมชน จะมีสายใยสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายองค์กร (Organization Network) กับ ตอ.กลาง ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ชุมชนสันติอโศก กรุงเทพมหานคร ในขณะเดียวกัน ก็ย่อมมีโยงใยของสายการสื่อสาร (Communication) และสาระ (Infomation) ต่างๆ เป็นองค์ประกอบในการบริหารองค์กร (Community Management) และการเชื่อมร้อยเครือข่าย (Contact Organized) ไปยังองค์กร หรือ กลุ่ม ชุมชนที่เกี่ยวข้อง

ศิลปะที่ควรใช้อย่างยิ่งในการใช้กลยุทธ์ใดๆ ก็คือ การลงน้ำหนักให้แก่ค่าของ p และ n ในสมการ M = m - (p + n) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า วิธีการขายสินค้าบุญนิยม โดยเฉพาะที่เป็นนามธรรม ต้องใช้ศิลปะอันอันติมะ โดยเฉพาะพนักงานขาย (คนดี มีศีล) ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ “จริง” เหมือนสินค้าที่นำเสนอ จึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อ สมดังคำกล่าวที่ว่า พูดอย่างใด ทำได้อย่างนั้น นี่คือโอกาสทองของการสะสมคุณค่าของ “บุญ”

โลกในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปมาก จนทำให้สื่อมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในขณะที่อัตราการแข่งขันช่วงชิงช่องทางการรับรู้ ก็สูงตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะบริโภคข่าวสารได้มากกว่า ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันในเชิงการตลาดมากเป็นเงาตามตัว การช่วงชิงตลาด และลูกค้าในระบบทุนนิยม สร้างความยินดีให้แก่ผู้ได้เปรียบ ในขณะที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจให้แก่ผู้เสียเปรียบ เกิดรอยแค้นที่หวังจะเอาชนะกัน เท่ากับจองเวรกันไม่จบสิ้น

แต่สินค้าที่เป็นสัจธรรม กลับถูกละเลย เป็นเรื่องที่ไม่แปลกแต่อย่างใด เพราะสัจธรรมเป็นสินค้าที่ต้องผลิตโดยคนที่อยู่ฝ่ายธรรมะเท่านั้น ฝ่ายอธรรมจะผลิตธรรมะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ภาระกิจในการผลิตสินค้าบุญเหล่านี้ เป็นหน้าที่โดยตรงขององค์กรบุญนิยม และองค์กรแนวร่วมตราบนานเท่านาน.

อภิธานศัพท์

“สร้างสรร” หมายถึง การสร้างอย่างชาญฉลาด หรือการสร้างอย่างเลือกสรรแล้ว ว่าสิ่งที่สร้างนั้นมีบุญ มีคุณ มีค่า เกิดประโยชน์ ประหยัด ต่างกับ สร้างสรรค์ ซึงหมายถึง การสร้างทุกสิ่งทุกอย่างแม้สิ่งที่เป็นภัยต่อศีลธรรม จริยธรรม และสิ่งแวดล้อม

“อาริยะ” หมายถึง อารยะ คือความเจริญทางด้านวัตถุ รวมกับ อริยะ คือความเจริญงอกงามของจิตวิญญาณ

"บุญนิยม" หมายถึง แบบแผนหรือวิถีชีวิต ของบุคคล ชุมชน และสังคม และหมายถึง ระบบ แนวคิด หลักปฏิบัติ รูปแบบ ทั้งในด้านศาสนา การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม ที่มีทิศทาง และเป้าหมาย จากการลด ละ กิเลส ตัณหา อัตตา ทุกระดับ ไปสู่ความมักน้อย สันโดษ ขยัน ซื่อสัตย์ เสียสละ สร้างสรรค์ โดยมีรูปธรรมที่ชัดเจน ได้แก่ เลี้ยงง่าย (สุภระ) บำรุงง่าย (สุโปสะ) มักน้อย (อัปปิจฉะ) ใจพอ สันโดษ (สันตุฎฐิ) ขัดเกลา (สัลเลขะ) มีศีลเคร่ง (ธูตะ) มีอาการที่น่าเลื่อมใส (ปสาทิกะ) ไม่สะสม (อปจยะ) ยอดขยัน (วิริยารัมภะ)

"สาธารณโภคี" หมายถึง แบบแผนหรือวิถีชีวิต การบริหารจัดการ บุคคล กลุ่ม องค์กร ให้มีคุณลักษณะพึ่งตนเองได้ สร้างสรร ขยัน อดทน ไม่เอาเปรียบใคร ตั้งใจเสียสละ จนเกิดความสามารถ และความเต็มใจในการทำงานฟรี ปลอดหนี้ ไม่มีดอกเบี้ย และเฉลี่ยทรัพย์เข้ากองบุญ เพราะเชื่อมั่นและศรัทธาว่า การได้มาคือ บาป การเสียสละคือ บุญ

อุดมคติ หมายถึง สุดยอดแห่งความคิดความวาดหวังไว้

อุดมการณ์ หมายถึง สุดยอดในการกระทำเพื่อไปสู่สุดยอดแห่งความวาดหวังไว้

 

บรรณานุกรม

ธรรมนูญว่าด้วยเครือข่ายองค์กรบุญนิยม และการจัดตั้งสถาบันบุญนิยมชาวอโศก พ.ศ. 2547., เอกสารโรเนียว

สมควร กวียะ,รศ.ดร. ทฤษฎีการประชาสัมพันธ์ใหม่ การสื่อสารองค์กรเชิงบูรณาการ (Integrated Organizational Communication). (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2547), 248 หน้า

สัมมาสัมพุทธสาวก, เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ. กรุงเทพฯ: ธีระการพิมพ์, 2531, 176 หน้า

สุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง, การเมืองบุญนิยม. (กรุงเทพฯ: บจก.ฟ้าอภัย, 2545)]

สุนัย เศรษฐบุญสร้าง, อุดมการณ์ทางสังคมในพุทธศาสนา ตามแนวความคิดของสำนักสันติอโศก. (กรุงเทพฯ: บจก.ฟ้าอภัย, 2534), 432 หน้า

หลักปฏิบัติของชาวอโศก, สรรค่า สร้างคน. กรุงเทพฯ: บจก.ฟ้าอภัย, 2542, 50 หน้า

http://www.asoke.info/01Religion/Buddhastan/santi-asoke/index.html]

http://www.asoke.info/02Polity/FhaeParty/politic/index.html]

 

มิติการตัดสินแบบกลไกล คือการตัดสินใจในเรื่องของ ความถูก-ผิด, ดี-เลว, รักษา-ทำลาย, ให้-รับ, ดีใจ-เสียใจ โดยใช้กุญแจ 5 ดอก ได้แก่
กุญแจ เจตนา ดูจากสถานการณ์ ผิดกฎหมาย, บาดเจ็บ หรือทรัพย์สินเสียหาย, บันดาลโทสะ ป้องกันตัว เหตุสุดวิสัย, พยาม ผิดแค่ทางวาจา, ไม่เจตนา หรือประมาท
กุญแจ ผลกระทบ ดูจากสิ่งที่จะเกิด กระทบต่อสาธารณะ, กระทบต่อบุคคล, กระทบต่อทรัพย์สินหรือสัตว์, กระทบต่อชื่อเสียง เกียรติยศ
กุญแจ กรรม ดูจากสาเหตุ กระทำกันเป็นกลุ่ม, ทำเองหรือจ้างวานให้ผู้อื่นทำ, ทำเพราะหลงผิด, ทำเพราะถูกบังคับหรือสถานการณ์จำนน
กุญแจ สำนึก ดูจากจำนวนครั้งที่เกิดขึ้น เกิดซ้ำซาก, เกิดสองสามครั้ง, เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก, ยอมรับการเกิดขึ้น
กุญแจ ฐานะ ดูจากสถานภาพและ ความน่าเชื่อถือของผู้กระทำ หรือสิ่งที่เกิดขึ้น
ส่วนน้ำหนักการตัดสินใจ สามารถวัดค่าเป็นตัวเลขสมมุติได้
ในการตัดสินใจ อาจใช้หลักความจำเป็น 5 ประการ มาพิจารณาด้วย คือ "ความถี่ของพฤติการณ์, ความรุนแรง, ผลกระทบ, ความยากง่ายในการแก้ไข, และ ประโยชน์สูง ประหยัดสุด" และหลักของความเป็นกลาง "ความเป็นกลางต้องเข้าข้างคนดี" (คนดี คือ คนที่ไม่เห็นแก่ตัว)