igood media
HOME   |  Articles - Book - Poem - SongAUTHOR  |  FILM SCHOOL  |  COMMUNICATION ARTS  |  MY BLOG |

Blog film school

My Media channel

blog

1 หน้าแรก
2
บทความ
หนังสือเล่ม
ร้อยกรอง เพลง
3
บทภาพยนตร์
ภาพยนตร์สั้น
วีดิโอ มิวสิควีดิโอ
4
วิชาเรียนนิเทศศาสตร์
ตำราเอกสาร
สื่อการเรียน
 

 

 

งานวิจัย ปี 2549:

การสื่อสารเพื่อการพัฒนาสุขภาวะภายใต้ระบบบุญนิยม
COMMUNICATION FOR DEVELOPMENT HEALTH IN BOONNIYOM

โดย อาจารย์สู่ดิน ชาวหินฟ้า

asoke community thailand

บทคัดย่อ

      การศึกษาเรื่อง การสื่อสารเพื่อการพัฒนาสุขภาวะ ภายใต้ระบบบุญนิยม เป็นการศึกษา แนวคิด ปรัชญา และวิถีวัฒนธรรมของชาวอโศก ที่ดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนา แนวทางหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีผลต่อการสร้างและพัฒนาสุขภาวะของตน โดยผ่านสื่อและกระบวนการสื่อสารที่มีคุณลักษณะเป็นของชาวอโศกเอง ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีพรรณนา จากข้อมูลที่ได้จากเอกสาร (documentary study) จากการบอกเล่า และจากบันทึกการสังเกต ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2548 - เมษายน 2549 โดยใช้สื่อบุคคลที่เป็นนักบวชและชาวชุมชน สื่อเอกสาร หนังสือ วารสาร สื่อสถานที่ 2 แห่ง คือ พุทธสถาน-ชุมชนสันติอโศก กรุงเทพมหานคร และพุทธสถาน-ชุมชนปฐมอโศก จ.นครปฐม และเก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม

      ผลการศึกษาพบว่า ชาวอโศกประกอบด้วยบุคคลที่มีฐานะทางสังคม 4 ระดับคือ "ระดับนักบวช" มีหน้าที่ให้การศึกษาอบรมด้านจิตวิญญาณและบุคลิกภาพ "ระดับนักบริหารปกครอง" มีหน้าที่บริหารองค์กรของชาวอโศก "ระดับนักบริการ" มีหน้าที่แลกเปลี่ยนและกระจายความเสมอภาคของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ไปยังชุมชนต่างๆ และ "ระดับนักผลิต" มีหน้าที่สร้างผลผลิตต่าง ซึ่งเน้นผลผลิตกสิกรรมไร้สารพิษ และผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่ออุปโภคบริโภคเพื่อใช้ในชุมชนและส่งไปยังตลาดเป้าหมาย

      ชาวอโศกมีแนวคิดในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาแนวทางหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "บุญนิยม" หมายความว่า แบบแผนหรือวิถีชีวิต ของบุคคล ชุมชน และสังคม และหมายถึง ระบบ แนวคิด หลักปฏิบัติ รูปแบบ ทั้งในด้านศาสนา การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม ที่มีทิศทาง และเป้าหมาย จากการลด ละ กิเลส ตัณหา อัตตา ทุกระดับ ไปสู่ความมักน้อย สันโดษ ขยัน ซื่อสัตย์ เสียสละ สร้างสรรค์ โดยมีรูปธรรมที่ชัดเจน ได้แก่ เลี้ยงง่าย (สุภระ) บำรุงง่าย (สุโปสะ) มักน้อย (อัปปิจฉะ) ใจพอ สันโดษ (สันตุฎฐิ) ขัดเกลา (สัลเลขะ) มีศีลเคร่ง (ธูตะ) มีอาการที่น่าเลื่อมใส (ปสาทิกะ) ไม่สะสม (อปจยะ) ยอดขยัน (วิริยารัมภะ)

      มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับหลักการทางพระพุทธศาสนา โดยผ่านคำสอนของสมณะโพธิรักษ์ ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชาวอโศก มีวัฒนธรรมอิงหลักวิถีพุทธ มีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง หรือเศรษฐกิจแบบพอเพียง หรือเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ซึ่งอิงหลัก "สาธารณะโภคี" หมายความว่า มีแบบแผนหรือวิถีชีวิต การบริหารจัดการ บุคคล กลุ่ม องค์กร ให้มีคุณลักษณะ "พึ่งตนเองได้ สร้างสรร ขยัน อดทน ไม่เอาเปรียบใคร ตั้งใจเสียสละ" จนเกิดความสามารถ และเต็มใจเสียสละ "ทำงานฟรี ปลอดหนี้ ไม่มีดอกเบี้ย เฉลี่ยทรัพย์เข้ากองบุญ" เพราะเชื่อมั่นและศรัทธาว่า การได้มาคือ "บาป" การเสียสละคือ "บุญ"

      ชาวอโศกยอมรับว่าสุขภาวะนั้น ประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 คือ สุขภาวะทางร่างกาย สุขภาวะทางจิตใจ สุขภาวะทางจิตวิญญาณ หรืออารมณ์ และสุขภาวะทางสังคม หรือทุนทางสังคม

      การพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกตามหลักพุทธศาสนา ชาวอโศกได้ใช้สื่อบุคคล สื่อวัตถุ-สถานที่ สื่อกิจกรรม-พิธีกรรม สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อมัลติมีเดีย สื่อวิทยุกระจายเสียง-วิทยุโทรทัศน์-วีดิทัศน์-สารสนเทศ และสื่อปราศรัย รวม 7 ประเภท เป็นทั้งช่องทาง สาร และสื่อ ในการแผยแพร่หลักธรรม จนก่อให้เกิดรูปแบบของวัฒนธรรม ของความเป็นผู้ รู้ ลด ละ เลิก อบายมุข มีศีลเคร่ง มีความ “ซื่อสัตย์ ขยัน ประหยัด สร้างสรร” แล้วเผยแพร่แนวทางการดำเนินชีวิตของตนไปสู่มวลสมาชิกคนอื่นๆ จากกลุ่มเล็กๆ พัฒนาจนเป็นกลุ่มใหญ่ ก่อเกิดเป็นชุมชน เป็นหมู่บ้าน สร้างสัมพันธภาพสอดร้อยกันเป็นเครือข่าย มีรูปแบบการจัดองค์กรที่ผสมผสานกันเป็น บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) มีหน่วยธุรกรรม หน่วยบริหารจัดการ หน่วยปกครอง หน่วยการศึกษา หน่วยสถาบัน มีพุทธสถาน-นักบวช คอยให้การอบรมด้านจิตวิญญาณ มีชุมชน เป็นศูนย์รวมกิจกรรมและวัฒนธรรม มีโรงเรียน เป็นแหล่งสืบทอดแนวคิดและวัฒนธรรมไปสู่อนุชนรุ่นต่อไป มีศูนย์ฝึกอบรม บริการให้การฝึกอบรมประชาชน เน้นการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างโอกาสให้แก่ตนเอง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

      โดยพฤตินัยแล้ว ระบบบุญนิยมภายใต้ขบวนการชาวอโศก มีจุดมุ่งหมาย ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ผ่านระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการบริหารการปกครอง ซึ่งมีแบบแผนของกิจกรรม กิจการ และพิธีกรรม ที่แสดงออกเห็นได้ นับว่าองค์กรที่ถือกำเนิดขึ้นจากขบวนการดังกล่าว มีคุณสมบัติและองค์ประกอบของกระบวนการสื่อสาร

      รวมความแล้ว พฤติกรรมต่างๆ ทั้งในส่วนของกิจกรรม กิจการ และพิธีกรรม ที่เกิดจากขบวนการชาวอโศก มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ การสร้างและพัฒนาระบบสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน อย่างสอดคล้องและกลมกลืน ผลจากพฤติกรรมที่ดำเนินไปข้างต้นนั้น มาจากการใช้รูปแบบการสื่อสารที่อิงแนวคิดจากฝั่งอิทธิพลผลของการสื่อสาร (Effect Approaches) ซึ่งมีความคาดหวังต่อประสิทธิผลของการฟังธรรม-สั่งสอนธรรม และแนวคิดจากฝั่งอรรถประโยชน์ของผู้รับสาร (Uses and Gratification Approaches) ซึ่งส่งผลให้เกิดการเลือกเปิดรับ เลือกบริโภคและจดจำข่าวสารที่เป็นสาระ

      ความผสมกลมกลืนกัน ระหว่างการถือศีลปฏิบัติธรรม การดำเนินกิจกรรม ธุรกรรมต่างๆ และการเฝ้าระวังด้านสุขภาพ มีลักษณะเป็นองค์รวมที่หมายรวมเอาสุขภาวะกาย จิตใจ จิตวิญญาณ และสังคม รวมเข้าไปด้วยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ชาวอโศกมีรูปแบบการสื่อสาร ที่เป็นแบบของตนเอง ใช้แบบจำลองการสื่อสารที่ต่อยอดจากทฤษฎีเดิม เป็นองค์ความรู้ใหม่ คือ การสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารภายในองค์กร และการสื่อสารมวลชน การสื่อสารภายในบุคคล มาจากการศึกษาและปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา จนเกิดสมาธิ ซึ่งเรียกว่า "สมาธิพุทธ" ซึ่งเป็นผลผลิตของสื่อบุคคล ที่บ่งบอกถึงสุขภาวะจิต และสุขภาวะจิตวิญญาณ การสื่อสารระหว่างบุคคล และการสื่อสารภายในองค์กร ซึ่งเป็นผลผลิตของสื่อกิจกรรม-พิธีกรรมที่บ่งบอกถึงสุขภาวะจิตวิญญาณและสุขภาวะทางสังคม และการสื่อสารมวลชนบุญนิยม ซึ่งเป็นผลผลิตของสื่อทั้งเจ็ดประเภทของชาวอโศก ที่สื่อให้เห็นถึงแก่นสาระของระบบสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน และการมีระบบสุขภาวะดังกล่าว ชาวอโศกได้ถ่ายทอดไปยังชุมชนอื่นๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของสื่อบุคคลที่เคร่งศีล มักน้อย ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด สร้างสรร ต้องได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพดียิ่งไปกว่านี้ ส่วนระยะเวลาและวิธีการเผยแพร่ระบบสุขภาวะ ตามแนวทางอโศกยังจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาต่อไป เพื่อขยายผลในการสร้างสุขภาวะในระดับสังคมระดับกว้าง และให้เป็นเครือข่ายสุขภาวะของคนไทยต่อไป

      ข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้ค้นพบแนวคิดใหม่ ที่ยึดทฤษฎีเป็นแนวทาง ซึ่งเกี่ยวกับการใช้หน่วยในการวิเคราะห์งานวิจัยชุมชนชาวอโศก ปรากฏการณ์ของการสื่อสาร ในสังคมของชาวอโศก นำไปสู่การกำหนดแผนการบริหาร องค์กรบุญนิยมในด้านสื่อ และการค้นพบแนวคิดที่นำไปสู่การวิจัยเรื่องการสื่อสารภายในบุคคล

Document (Zip) Download] [กลับไปหน้าสารบัญ บทความ หนังสือเล่ม ร้อยกรอง บทเพลง]

  thinking focus new idea today
คำคม คำคิด แง่คิด ชีวิตดี
 


igood media copyright
 
SUDIN CHAOHINFA, igoodmedia.net : Administration and Producer
Copyright © 2010-2016 intelligence good media homeschool.
All rights reserved. me@igoodmedia.net