igood media
หน้าแรก - ชุมชน คนคิดดีวรรณกรรม - วิชาการ - บทความ เรื่องสั้น ร้อยกรอง เพลงภาพยนตร์ - บทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตัวอย่าง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ
นิเทศศาสตร์ - วิชาเรียน บรรยาย ตำรา เอกสารการเรียน สื่อการเรียน ถาม ตอบ

Blog film school

My Media channel

blog

1 หน้าแรก
2
บทความ
หนังสือเล่ม
ร้อยกรอง เพลง
3
บทภาพยนตร์
ภาพยนตร์สั้น
วีดิโอ มิวสิควีดิโอ
4
วิชาเรียน นิเทศศาสตร์
ตำราเอกสาร
สื่อการเรียน
 

 

 

 

บทที่ 4
ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : จิตธาตุ

 

 

TOPIC

นามรูป – วิญญาณ – สังขาร (คุณสมบัติ นามรูป – วิญญาณ – สังขาร, การก่อเกิด นามรูป – วิญญาณ – สังขาร ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ, ภพภูมิ อาณาจักรกำเนิด ของสังขารทั้งหลาย, ภพ ชาติ ของนามรูป – วิญญาณ – สังขาร)

ข้อสรุปบางประการ เกี่ยวกับ นามรูป – วิญญาณ – สังขาร

วิมุตติ – นิพพาน (ความหมาย นิพพาน, ผู้ได้วิมุตติ – นิพพาน, ทางลาดขึ้นไปสู่ วิมุตติ – นิพพาน ของอริยบุคคล)

ข้อสรุปบางประการ เกี่ยวกับ วิมุตติ – นิพพาน

[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]

 

จิตธาตุ (mental element) เป็นธัมมะธาตุที่มีความละเอียด ซับซ้อน ไม่มีมวล เป็นธาตุส่วนประกอบของ กลไกชีวะของ ชีวิตระบบขันธ์-5. จิตธาตุ แบ่งออกเป็น 2 สถานะ คือ (1) จิตธาตุ ที่ต้องอาศัยร่วมกับกายภาพ (ร่าง) ที่เป็นวัตถุธาตุ สสาร พลังงาน เพื่อให้ระบบชีวิต ของพวกสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้น และดำรงอยู่ ได้แก่ สัตว์ต่างๆ และมนุษย์ทั้งหลาย. (2) จิตธาตุ ที่ไม่ต้องอาศัยกายภาพ ก็ทำให้พวกสัตว์ดำรงอยู่ได้เอง เช่น เทวดา และสัตว์นรกบางประเภท.

 

นักวิทยาศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับจิต ได้เพียงส่วนที่เป็นกายภาพเท่านั้น คือ การทำงานของสมอง ระบบประสาท ระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวกับประสาท และจิตวิทยา. ตถาคต กล่าวถึงจิตไว้อย่างละเอียดทุกแง่มุม และใช้คำเรียกจิต ในหลายๆ นัยะ หลายความหมาย หลายอาการ เช่น มโน วิญญาณ จิต เวทนา สัญญา สังขาร อุปาทาน โทสะ พยาบาท ตัณหา ราคะ นันทิ นิวรณ์ อุเบกขา สติ สมาธิ ฌาน วิมุตติ เป็นต้น.

 

สัตตะธัมมะธาตุ ในบทนี้ ได้จำแนกจิตธาตุ ไว้เป็น 2 กลุ่ม คือ นามรูป – วิญญาณ – สังขาร และ วิมุตติ – นิพพาน ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ มีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง. ลักษณะ – สมบัติ ‘นามรูป – วิญญาณ – สังขาร' เป็นธัมมะธาตุ ที่เกิดจากการปรุงแต่งของ อวิชชา สังขาร วิญญาณ, ซึ่งทำให้สมบัติทางกายภาพ (นามรูป) จำเป็นต้องรวมเอาธัมมะธาตุ ส่วนที่เป็นวัตถุธาตุ สสาร พลังงาน รวมกับธัมมะธาตุ ส่วนที่เป็นจิตธาตุ เข้าไปด้วย. ส่วนลักษณะ–สมบัติ ‘วิมุตติ – นิพพาน' จัดเป็นธัมมะธาตุ ที่ไม่ได้เกิดจากการปรุงแต่งใดๆ คือ ไม่ได้เกิด ไม่ได้เป็น ไม่ได้ถูกอะไรกระทำ ไม่ได้ถูกสิ่งใดปรุงแต่ง.

 

สัญลักษณ์ ขันธ์-5 ที่ใช้สื่อความหมาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในหนังสือเล่มนี้

 

4.1
นามรูป
– วิญญาณ – สังขาร
(mind and matter–consciousness–corporeality)

 

อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป เป็นปัจจัยการเกิด ที่อยู่ในลำดับเริ่มต้น ของปฏิจจสมุปบาท. สังขารทั้งหลาย คือ กายสังขาร (การปรุงแต่งทางกาย) วจีสังขาร (การปรุงแต่งทางวาจา) จิตตสังขาร (การปรุงแต่งทางใจ) ถูกปรุงแต่งให้เป็น วัตถุธาตุต่างๆ เพื่อให้ วิญญาณ เข้าไปร่วมผสมในการก่อเกิดนามรูปที่หลากหลาย เพื่อชี้บอกว่า สิ่งนั้น สิ่งนี้. วิญญาณ อยู่กันเป็นกลุ่ม (หมู่) มี 6 กลุ่ม คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ, นามรูป แบ่งเป็น นาม คือ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ, รูป คือ มหาภูตรูป (ดิน น้ำ ไฟ ลม) รวมทั้งสิ่งที่อาศัยอยู่ในมหาภูติรูปด้วย. นามรูป ที่ก่อตัวขึ้นมาแล้ว จะเป็นปัจจัยต่อเนื่องให้เกิด บทบาทของการมีภพ ชาติ ชีวิต ชรามรณะ ของสัตว์ มนุษย์ เทวดา ต่อไป.

 

ธัมมะธาตุในหัวข้อนี้ (นามรูป – วิญญาณ – สังขาร) ผู้เขียนต้องการนำเสนอ รูปแบบ ลักษณะ สมบัติ รวมทั้งอาการ ของการอุบัติเกิดของสัตว์ สิ่งมีชีวิตทั้งมวล. นามรูป - วิญญาณ - สังขาร ในบทนี้ เมื่อจัดเข้ากลุ่มของ สังขารธรรม ก็จะได้ชื่อเรียกขานขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ได้แก่ สัตว์ มนุษย์ เทพ ธรรม-อสังขตะ . เมื่อจัดเข้ากลุ่มของ กลไกชีวะ ก็หมายถึง กลไกชีวะ-ชีวิต. การมี “ชีวิต” ย่อมต้องมี รูปวัตถุ อาศัย เป็นเสมือนเครื่องจักรกล ซึ่งมี วิญญาณ เป็นทั้งเชื้อเพลิง เป็นทั้งผู้ควบคุมเครื่องจักร ให้ความมีชีวิตโลดแล่นไป. ดังนั้น ธัมมะธาตุที่เป็น นามรูป – วิญญาณ – สังขาร นี้จะถูกอธิบายเป็นภาพรวม ‘รูปธาตุ' + ‘นามธาตุ' ของความมีชีวิต มากกว่าการแยก สังขาร วิญญาณ นามรูป ออกจากกัน ตามปัจจัยการเกิด-ดับของ ปฏิจจสมุปบาท.

 

ตถาคต กล่าวถึงวิญญาณไว้ ในหลายพระสูตร เช่น วิญญาณฐิติ (ที่ตั้งแห่งวิญญาณ) “ ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบัญญัติ ซึ่งการมา การไป การจุติ การอุบัติ ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ของวิญญาณ โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขาร' ดังนี้นั้น, นี่ ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย.” [01]

 


[01] “ผู้เข้าไปหา เป็นผู้ไม่หลุดพ้น ผู้ไม่เข้าไปหา ย่อมเป็นผู้หลุดพ้น.” พุทธจวน – หมวดธรรม เล่มที่ 4. [ซอฟต์แวร์]. E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 5. | บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/66/105.

 

ดั้งนั้น วิญญาณ มิใช่สิ่งล่องลอยไปลอยมาได้เอง อย่างไร้เหตุผล ไร้สิ่งยึดเกาะอาศัย. ที่จริง วิญญาณ เป็นธัมมะธาตุ ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับ อวิชชา, แต่ที่วิญญาณ ปรากฎแสดงตัวตนให้เห็น เพราะมี สิ่ง (รูป เวทนา สัญญา สังขาร) ให้มันยึดเกาะ นั่นเอง. วิญญาณ เป็นธัมมะธาตุที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุด ในสายพานการเกิด ของปฏิจจสมุปบาท คือตัวเองเป็นผู้สร้างนามรูป เพื่อให้มันมีที่อาศัย เพื่อส่งภาระงาน ต่อไปให้แก่สัตว์ทั้งหลาย จนเกิดภพ ต่อชาติ ชรามรณะของสัตว์ทั้งหลาเหล่านั้น.

 

4.1.1
คุณสมบัติ นามรูป
– วิญญาณ – สังขาร

 

(1) มีสิ่งใดบ้าง ที่มีคุณสมบัติร่วม นามรูป – วิญญาณ – สังขาร

 

นามรูป วิญญาณ สังขาร คือ ลักษณะสมบัติและอาการ ที่บ่งบอก การมีชีวิตของสิ่งมีชีวิต ทุกประเภท ทุกระดับ. ตถาคต กล่าวถึง นามรูป ไว้ดังนี้ “ ... ก็ นามรูป เป็นอย่างไรเล่า? เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ : นี้เรียกว่านาม. มหาภูตทั้งสี่ด้วย รูปที่อาศัยมหาภูตทั้งสี่ด้วย : นี้เรียกว่า รูป. นามนี้ด้วย รูปนี้ด้วย ย่อมมีอยู่อย่างนี้ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า นามรูป. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งนามรูป ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ ...” (บาลี - นิทาน. สํ. 16/50/88.)

 

นามรูป ในบทนี้ มีความหมาย 2 นัย คือ

(1) หมายถึง ร่างที่เป็นรูปธรรม (body) และเป็นที่ตั้งอาศัยอยู่ (house) ของธัมมะธาตุหรือสังขารธรรม ที่มีวงจรชีวิต เพื่อการดำรงอยู่ไปจนสิ้นอายุขัย ได้แก่ สัตว์ และมนุษย์.

(2) หมายถึง ร่างที่เป็นนามธรรม (form) ซึ่งเป็นที่ตั้งอาศัยอยู่ (home) ของธัมมะธาตุหรือสังขารธรรมอื่น ที่ไม่ต้องการร่างอาศัยแบบสัตว์โลก หรือ แบบมนุษย์โลก ได้แก่ สัตว์ในอบายภูมิ และเทวดาในภพภูมิชั้นต่างๆ.

 

 

 

รูป มี 2 ลักษณะ คือ รูปใหญ่ หรือ ภูตรูป 4 และ รูปอาศัย คือ รูปที่ต้องมีอาหาร เป็นเครื่องดำรงอยู่ ถ้าไม่มีอาหาร ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้. รูปใหญ่ ก็คือ กลไกชีวะ-ฟิสิกส์ และ รูปอาศัย ก็คือ กลไกชีวะ-ชีวิต ตามนัยที่กล่าวในหนังสือเล่มนี้. ดังนั้น กลไกชีวะ-ฟิสิกส์ และกลไกชีวะ-ชีวิต ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นเป็นรูปต่างๆ ตามกฎอิทัปปจยตา-ปฏิจจสมุปบาท จึงจัดเป็น สังขตาธาตุ ที่มีวัฏจักร หรือรอบของการเกิด (สังสารวัฏ) ดำเนินไปตามกรวยของเวลา เป็นระยะอนันต์.

 

กลไกชีวะ-ฟิสิกส์ ก่อให้เกิดวัตถุธาตุทุกชนิด หลากหลายรูปแบบ ตลอดทั้งจักรวาล. เป็นกลไกชีวะที่อาศัยแรง ความร้อน และพลังงาน จากมวลของมันเอง, ไม่มีจิตใจ ไม่มีนามอาศัย (มันไม่รู้เรื่องอะไร = อวิชชา). ส่วน กลไกชีวะ-ชีวิต เป็นรูปแบบชีวิตที่จำเป็นต้องมีทั้ง รูปอาศัย (รูป ที่เป็นร่างอาศัย) และ นามอาศัย (จิตใจ).

 

ในบทนี้จะพูดถึง กลไกชีวะ-ชีวิตเท่านั้น. สิ่งมีชีวิตแบบกลไกชีวะ-ชีวิต ได้แก่ สัตว์โลก (สัตว์เดรัจฉาน) สัตว์สวรรค์ (ยักษ์ นาค ครุฑ วลาหก) สัตว์ในอบายภูมิ (สัตว์นรก) โอปปาติกะสัตว์ มนุษย์เปรต (เปรตวิสัย) มนุษย์โลก มนุษย์สวรรค์ (เทวดา พรหม อสูร). สิ่งมีชีวิตรูปแบบนี้ จะมีคุณสมบัติร่วมที่เป็น นามรูป ทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน.

 

 

เกี่ยวกับนามรูป วิญญาณ สังขาร ตถาคต กล่าวโดยละเอียดไว้ในหลายพระสูตร.[02] เช่น

“ ... หมู่แห่งวิญญาณทั้งหลาย 6 หมู่เหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ (ผู้รู้แจ้งทางตา) โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ (ผู้รู้แจ้งทางใจ) : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า วิญญาณ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร ...”

“ ... สังขารทั้งหลาย 3 อย่างเหล่านี้ คือ กายสังขาร (ความปรุงแต่งทางกาย) วจีสังขาร (ความ ปรุงแต่งทางวาจา) จิตตสังขาร (ความปรุงแต่งทางใจ) : ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้เรียกว่า สังขารทั้งหลาย. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอวิชชา ...”

“ ... ถ้าไม่มีราคะ (ความกำหนัด) ไม่มีนันทิ (ความเพลิน) ไม่มีตัณหา (ความอยาก) ในกพฬิง-การาหาร (อาหารคือคำข้าว) แล้วไซร้, วิญญาณ ก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ ใน กพฬิงการาหารนั้น. วิญญาณ ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ ในที่ใด, การหยั่งลงแห่งนามรูป ย่อมไม่มีในที่นั้น. การหยั่งลงแห่งนามรูปไม่มีในที่ใด, ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มี ใน
ที่นั้น . ...”
 (บาลี - นิทาน. สํ. 16/124/248.)


[02]  “พระโสดาบัน คือ ผู้เห็นชัดรายละเอียด แต่ละสายของปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งสาย โดยนัยแห่งอริยสัจสี่ (เห็นตลอดสาย นัยที่หนึ่ง).” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 2. [ซอฟต์แวร์ ]. E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 39-48. | บาลี - นิทาน. สํ. 16/50/88.

 

 

คำว่า สังขาร ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดวิญญาณ และ สิ่งปรุงแต่งที่เกิดขึ้น อันเนื่องจาก วิญญาณ.

ความหลากหลายของนามรูป พอสรุปได้เป็นกลุ่ม ดังนี้.

 

รูปในกลุ่ม ภูตรูป 4 คือรูปที่เป็นวัตถุธาตุ สสาร พลังงาน ทุกชนิดทุกสถานะ. สถานะของแข็ง เช่น ดิน ปฐวีธาตุ, สถานะของเหลว เช่น น้ำ อาโปธาตุ, สถานะของร้อน เช่น ไฟ เตโชธาตุ, สถานะก๊าซ เช่น ลม วาโยธาตุ.

 

รูปในกลุ่ม ธาตุ 6 ได้แก่ รูปในภูตรูป 4 รวมกับ สถานะอวกาศ หรือที่ว่าง เรียกว่า อากาศธาตุ และ สถานะจิตภาพ เรียกว่า วิญญาณธาตุ.

 

นอกจากนี้ ยังจัดรูปเข้าไปอยู่ในกลุ่ม อุปาทายรูป ได้อีก, อุปาทายรูป เป็นรูปที่บ่งบอก คุณสมบัติ-อาการ 10 ลักษณะ ได้แก่

(ก.) รูปที่เป็นประสาทรับอารมณ์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย )

(ข.) รูปที่เป็นอารมณ์รู้สึก (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส )

(ค.) รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ (หญิง ชาย )

(ง.) รูปอันเป็นที่ตั้งของใจ (หทัยวัตถุ )

(จ.) รูปอันเป็นที่ตั้งอาศัยของชีวิต (ชีวิตินทรีย์ - กลไชชีวะ-ชีวิต)

(ฉ.) รูปที่เป็นอาหาร (กวฬิงการาหาร )

(ช.) รูปที่เป็นช่องว่าง (space) หรือ อากาสธาตุ

(ซ.) วิญญัติรูป - รูปที่กำหนดความหมาย ในการเคลื่อนไหวทางกาย (กายวิญญัติ - อวจนภาษา ) การเคลื่อนไหวทางวาจา (วจีวิญญัติ - วจนภาษา)

(ฌ.) วิการรูป - รูปที่มีลักษณะอาการที่ใช้การได้ คือ เบา อ่อนสลวย เหมาะแก่การงาน (ลหุตา มุทุตา กัมมัญญตา )

(ญ.) ลักขณรูป - รูปที่มีลักษณะของการพัฒนาเติบโต สืบต่อ เสื่อม และแปรปรวน (อุปจยะ สันตติ ชรตา อนิจจตา).

 

ภายใต้กฎอิทัปปัจจยตา–ปฏิจจสมุปบาท, นามรูป จะถูกใช้เป็นบ้าน (ตั้งอาศัย) ให้วิญญาณ ได้พัฒนาตัวมันเอง ให้ได้อัตตาภาพในรูปแบบต่างๆ. ถ้าไม่มีนามรูป วิญญาณก็ไม่ปรากฎ เมื่อวิญญาณปรากฎ สังขารการปรุงแต่งก็ปรากฎ. ในทางกลับกัน สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ และ วิญญาณเป็นปัจจัย ให้เกิดนามรูป. เป็นเหตุให้สัตว์พัฒนาตัวตน จนได้ อัตตาเฉพาะอย่าง แบ่งเป็น 3 ประเภท, และอัตตาเฉพาะอย่างใน 3 ประเภทนี้ สัตว์เหล่านั้นจะมีได้ เป็นได้ คราวละหนึ่งประเภทเท่านั้น คือ [03] อัตตาชนิดหยาบ อัตตาชนิดกลาง และ อัตตาชนิดละเอียด.

 


[03]  อริยสัจจากพระโอษฐ์ 1. [ซอฟต์แวร์]. E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 65.

 

อัตตาชนิดหยาบ สัตว์นั้นจะได้ครอบครองร่างกายแบบเดียวกับ สัตว์โลก มนุษย์โลก ซึ่งเป็นอัตตา (ร่าง) ที่ประกอบด้วยภูตรูป 4 ซึ่งต้องพึ่งพาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และสวัสดิภาพต่างๆ.

อัตตาชนิดกลาง เป็นอัตตาที่มีรูปสำเร็จด้วยใจ (อุปาทายรูป) คือสัตว์นั้น จะได้ครอบครองร่างกาย ที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยใจ (เนรมิต) และมีอวัยวะสมบูรณ์ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เช่น ร่างกายแบบเทวดาในชั้นกามภพ หรือ ร่างกายแบบสัตว์ในอบายภูมิ จำพวก เปรตวิสัย อสุรกาย.

 

นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์บางคน คาดหวังว่า พวกเขาอาจค้นพบมนุษย์ก๊าซ หรือมนุษย์ 2 มิติ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์ ที่มีรูปสำเร็จด้วยใจเช่นกัน.

 

อัตตาชนิดละเอียด คือ อัตตาที่ไม่ต้องอาศัยรูปร่าง สำเร็จด้วยสัญญา คือ เป็นสัตว์ที่มีเพียงสัญญา ความจำได้หมายรู้เท่านั้น จะเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆ ด้วยใจ ได้แก่ เทวดาบางพวก ที่อาศัยในภพภูมิชั้นพรหม ที่ได้สมาธิฌานขั้นสูง เกินฌานที่ 4.

 

(2) อวิชชา สังขาร วิญญาณ เหตุปัจจัยของการเกิด สัตตะธัมมะธาตุ ข้อที่ 6 (นามรูป – วิญญาณ – สังขาร)

 

นามรูป – วิญญาณ – สังขาร เป็นธัมมะธาตุที่รวมทุกๆ สิ่งไว้ในตัวมันเอง ก่อเกิดตัวตนเป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ เป็นเทวดาตามมา. อวิชชา มีความพิเศษเฉพาะตัว เป็นต้นกำเนิดของสสาร พลังงานและ ธาตุอื่นๆ ทุกชนิด ตลอดทั้งจักรวาล. เมื่ออวิชชา วิวัฒน์กลายเป็น สังขารทั้งหลาย (รูป นาม วัตถุธาตุ จิตธาตุ) ก็จะเป็นที่ตั้งอาศัยของ วิญญาณ เป็นลำดับถัดไป.

ในจักวาล มีอวิชชา สังขาร วิญญาณ อยู่แล้วเป็นธรรมดา และมีปริมาณมากมายนับอนันต์. การกำจัดอวิชชา ให้หมดสิ้นไปจากจักรวาล จึงทำไม่ได้ แต่สามารถกำจัดออกไปเสียจาก การยึดไว้ในตัวตนของตน เป็นสิ่งที่ทำได้ (และเป็นสิ่งที่ควรทำ).

พระพุทธเจ้านาม ศรีอาริยเมตตรัย ปรารถนาว่าจะปรินิพพานเป็นองค์สุดท้าย เมื่อรื้อขน (นำพา) สัตว์ให้พ้นจากอวิชชา จนครบทุกสัตว์แล้ว, ก็เป็นเพียงการตั้งความปรารถนาไว้ อีกกาลนานยาวไกล.

การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ และด้านพุทธศาสน์ มีส่วนสอดคล้องกัน หลายประเด็น. นักวิทยาศาสตร์ จำแนกสิ่งที่ศึกษา ตั้งแต่วัตถุธาตุขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ และรวมถึงสิ่งมีชีวิต ออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อกำหนดคุณสมบัติและวิวัฒนาการของมัน.

 

พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ความจริง ของ กระบวนการการเกิด-ดับของ อวิชชา สังขาร วิญญาณ และบัญญัติไว้ ในหลักปฏิจจสมุปบาท. กล่าวคือ อวิชชา เป็นปัจจัยการเกิดของ สังขารทั้งหลาย (รูปธาตุ นามธาตุ) จากนั้น การสังขาร (การ ปรุงแต่ง) ก็เป็นเหตุให้ วิญญาณ เกิดปรากฎขึ้น ในรูปแบบต่างๆ (ดูชุดของวิญญาณ 6, เวทนา 6, สัญเจตนา 6, สัญญา 6, ผัสสะ 6, อายตนะภายใน 6, อายตนะภายนอก 6, ตัณหา 6). ขั้นตอนการปรากฎตัวของ วิญญาณ เป็นจุดกำเนิดของการเรียนรู้ ของมนุษย์. วิญญาณ ได้ทำหน้าที่ชี้บอกว่า สิ่งนั้น สิ่งนี้ ซึ่งก็คือ ‘นามรูป' ในลำดับถัดมา. เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ก็คือ การค้นพบสิ่งต่างๆ ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ นั่นเอง.

 

กล่าวได้ว่า วัตถุธาตุทุกชนิด ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบและให้คำนิยามไว้ ก็คือ ขั้นตอนของการเกิด นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ ในปฏิจจสมุปบาท. เช่น ปรากฎการณ์ต่างๆ (นามรูป) ที่ค้นพบ (ผัสสะ) มาจาก การตั้งสมมุติฐาน (อวิชชา สังขาร วิญญาณ) ทั้งสิ้น.

 

4.1.2
การก่อเกิด นามรูป
– วิญญาณ – สังขาร ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ

 

(1) การจำแนกหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต แบบวิทยาศาสตร์และแบบพุทธศาสน์

 

นักวิทยาศาสตร์ จัดกลุ่มระบบชีวิตบนโลก ออกเป็น อาณาจักร (kingdom) ไฟลัม (phylum) คลาส (class) อันดับ (order) วงศ์ (family) สกุล (genus) และ ชนิด (species). อาณาจักร ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด (รวมสัตว์เดรัจฉานและมนุษย์) แบ่งออกได้เป็น 6 อาณาจักร คือ แบคทีเรีย อาร์เคีย โปรตีส ฟังไจ พืช สัตว์. ในบรรดาอาณาจักรสัตว์เหล่านี้ ถูกจำแนกออกเป็น 9 ไฟลัม คือ พอริเฟอรา (Polifera) ซีเลนเทอราตา (Coelenterata ) เเพลทีเฮลมินเทส (Platyhelminthes) เนทาโทดา (Nematoda) เเอนเนลิดา (Annelida) อาร์โทรโพดา (Athropoda) มอลลัสกา (Mollusca) เอไดโนเดอมาตา (Echinodermata) และ คอร์ดาตา (Chordata), มนุษย์ จัดอยู่ในไฟลัมนี้.

การแบ่ง คลาส (Class ) แบ่งออกเป็น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (Amphibians ) สัตว์เลื้อยคลาน (Reptiles) และ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) , มนุษย์จัดอยู่ในคลาสนี้. สวนการจัดอันดับ (Order) มนุษย์ และ ลิง จัดอยู่ในอันดับ ไพรเมท (Primates). การจัดหมู่ของ วงศ์ (Family) ของสิ่งมีชีวิต, มนุษย์ อุรังอุตัง กอลิลลา ซิมแปนซี และ โบโนโบ จัดอยู่ในวงศ์ โฮมินิดส์ (Hominids). สกุล (Genus) ของมนุษย์ในอดีต สูญพันธุ์ ไปแล้วกว่า 6-12 species และที่หลงเหลืออยู่นี้ คือสกุลมนุษย์สมัยใหม่. การแบ่งหมู่ของสิ่งมีชีวิต ออกเป็นชนิด (Species) ใช้เกณฑ์ของ สกุล และชื่อชี้เฉพาะ. มนุษย์ จัดอยู่ในชนิด โฮโมซาเปียนส์ (Homo sapiens).

 

ความจริงแล้ว โลกเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมาย ที่เรายังไม่รู้จัก. ประมาณร้อยละ 90 ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด คือสายพันธุ์ ที่ยังรอการค้นพบและจัดจำแนก. ยังมีบริเวณแคบๆ ในโลก อีกมาก ที่นักวิทยาศาสตร์ยังเข้าไปไม่ถึง เช่น ในร่องน้ำลึกมหาสมุทร ในทะเลทราย ในป่าดิบ. นักวิทยาศาสตร์ ไม่เพียงแต่จะยอมรับ สิ่งมีชีวิตที่ค้นพบได้ในโลกเท่านั้น พวกเขายังเชื่อว่า อาจมีสิ่งมีชีวิตในโลกใบอื่นอีก ซึ่งเป็นดาวเคราะห์แบบโลก (earth) ในกาแล็กซี่เพื่อนบ้าน.

 

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตตามคำนิยามแบบวิทยาศาสตร์ ก็ยังแคบกว่าระบบชีวิตแบบพุทธศาสน์. ตถาคต รู้จักชีวิตและจำแนก ได้ลึกและไกลกว่า กล่าวคือ ชีวิตประกอบด้วย นามรูป ที่พระองค์เรียกว่า ขันธ์-5. รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, รูป ก็คือ ส่วนที่เป็นรูปร่างกาย แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ สมอง ระบบประสาท และอุณหภูมิ ตลอดจนระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ, นาม ก็คือ ส่วนที่เป็นจิตทั้งหมด.

 

ทำให้ขอบเขตการจำแนก ชีวิตแบบพุทธศาสน์ แตกต่างจากฝั่งวิทยาศาตร์ไปมาก ทั้งในด้านคุณสมบัติรูปนาม พื้นที่ถิ่นอาศัย ความยาวนานของอายุ การดำรงชีพ. ตถาคต จำแนกชีวิตออกเป็นหลายแบบ ในหลายพระสูตร ดังนี้.

 

– อสูร นาค คนธรรพ์ พวกนี้อาศัยอยู่ในสมุทร (ทะเล - น้ำ) (บาลี – จุลล. วิ. 7/292/464.)
– เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ (บาลี – มหา. ที. 10/310/255.)
– อบาย ทุคติ วินิบาต นรก (บาลี – มู. ม. 12/147/170.)
– นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ เทวดา (บาลี - มู. ม. 12/147/170.)
– นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย ทุคติใดๆ แม้อื่นอีก (บาลี – ทสก. อํ. 24/285/165.)
– เทวดา มนุษย์ สุคติใดๆ แม้อื่นอีก (บาลี – ทสก. อํ. 24/285/165.)
– เทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ ภูติ มนุษย์ (บาลี – มหา. ที. 10/67/58.)

 

และยังมีชีวิตอื่นอีก ที่ไม่อาจจำแนกได้แน่ชัด เพราะการมีวรรณะคร่อมกับวรรณะอื่น เช่น อสูร และ ยักษ์ เป็นต้น. และในสัตตะธัมมะธาตุ ได้จำแนกระบบชีวิตออกเป็น 4 กลุ่ม (ในบทนำ) คือ ชีวิตจักรวาล – ควันตัม ชีวิตจักรกล ชีวิตแบบโลก และ ชีวิตระบบขันธ์-5.

เหตุที่สัตว์ในโลกนี้ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะจิตของสัตว์เหล่านั้น มีความซับซ้อน แตกต่างกันมากมาย, โดยเฉพาะ จิตของสัตว์ ที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนร่างกายเก่า ไปได้ร่างกายใหม่. ความซับซ้อนของจิต มีลำดับการเกิดขึ้น การวิวัฒน์ และการดับสลาย ที่ไม่อาจจำแนกได้ชัดเจน และไม่มีรูปแบบที่แน่นอน.

 

ตถาคต ได้อธิบายการวิวัฒน์ของจิตมนุษย์ไว้ว่า เริ่มจาก ‘มโน' เปรียบเหมือนแสง ส่องไปกระทบ (ผัสสะ) ‘ฉาก' (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ อารมณ์) ก่อให้เกิดกลุ่มของ ‘วิญญาณ' ซึ่งเรียกชื่อตามฉาก ที่มโนส่องไปกระทบ ได้แก่ จักขุวิญญาณ (ตา+รูป) โสตวิญญาณ (หู+เสียง) ฆานะวิญญาณ (จมูก+กลิ่น) ชิวหาวิญญาณ (ลิ้น+รส) กายวิญญาณ ( ผิวกาย+สัมผัส) มโนวิญญาณ (ใจ+อารมณ์). จากนั้น จิตก็จะวิวัฒน์ เป็นตัวตนที่ชัดเจนขึ้น เช่น เวทนา ตัณหา นันทิ ราคะ ฉันทะ ซึ่งรวมแล้วเรียกว่า ‘จิต'.

 

นี่คือ กระบวนการวิวัฒน์ของจิตมนุษย์ ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตบ้าง, เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย แสวงหาร่าง อันเป็นที่อยู่อาศัยของจิต เพื่อการสืบต่อชีวิตและเผ่าพันธุ์. ตถาคต ให้ความสำคัญของจิตไว้ในลำดับต้นๆ เพราะมีอิทธิพล ในการควบคุมพฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้น.

จิตของสัตว์ จึงเป็นต้นเหตุของการปรุงแต่งร่างอาศัย. ยิ่งจิตมีความซับซ้อนมากเท่าใด ร่างอาศัยของสัตว์ ก็ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวิภาพ มากเท่านั้น. ความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ทำไมปลาดาวจึงมี 5 แฉก เพราะเหตุใด ปูจึงมีก้ามใหญ่ ทำไมสกั๊ง จึงมีกลิ่นเหม็น เพราะเหตุใด ไดโนเสาร์ จึงมีสองขาใหม่ และคอยาว ฯลฯ.

ปรากฎการณ์หลากหลายเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลว่า เพราะสภาพแวดล้อม ทำให้สัตว์เหล่านั้น จำเป็นต้องออกแบบรูปร่างกาย เพื่อความอยู่รอด. แต่ตถาคนบอกว่า นั่นเป็นเพราะกรรม ที่จิตของสัตว์เหล่านั้น กระทำและสะสมเป็นพลังงานชนิดหนึ่งขึ้นมา อันส่งผล (วิบาก) ต่อ การมีร่างใหม่ของสัตว์ หลังการตาย. และกรรมของสัตว์ ก็มีความซับซ้อน เช่นเดียวกับจิต จึงไม่อาจกำหนดรูปแบบได้ว่า ทำกรรมเช่นนี้ เช่นนั้นแล้ว จะได้รับผลอย่างนั้น, บอกได้แต่เพียงว่า เมื่อมีการกระทำ (กรรม) ก็ต้องมีผล (วิบาก) เกิดขึ้นเสมอ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ (อิทัปปัจจยตา - เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี).

 

ตถาคต กล่าวไว้ในหัวข้อธรรมชื่อ ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ ไว้ว่า

“ ... สัตว์ทั้งหลาย (สตฺตา) มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน มีอยู่ ได้แก่ มนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก และวินิบาตบางพวก ... สัตว์ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ที่บังเกิดโดยปฐมภูมิ (ปฐมานิพฺพตฺตา) ... สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพอาภัสสระ ... สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพสุภกิณหะ ... สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่ง รูปสัญญา โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ มีการทำในใจว่า ‘ อากาศไม่มีที่สุด' ดังนี้ มีอยู่ ... สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ ซึ่งอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ มีการทำในใจว่า ‘ วิญญาณไม่มีที่สุด' ดังนี้ มีอยู่ ... สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ ซึ่งวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ มีการทำในใจว่า ‘ อะไรๆ ก็ไม่มี' ดังนี้ มีอยู่ ... อสัญญีสัตตายตนะ ... เนวสัญญานาสัญญายตนะ ... มีอยู่ ...”

(บาลี - บาลี มหา. ที. 10/81/65.)

 

ในบรรดาความหลากหลาย ของชีวิตสัตว์, ตถาคต มีทางออกสำหรับสัตว์บางผู้ ที่ไม่ต้องมีสภาพชีวิต แบบใดแบบหนึ่ง ดังที่กล่าวนี้. เพราะการมีสภาพชีวิตทุกๆ แบบ ล้วนแต่สร้างความทุกข์ให้ทั้งสิ้น คือ สัตว์ผู้นั้น ต้องเรียนรู้ชัดว่า อะไรคือเหตุที่ทำให้ วิญญาณ ตั้งอยู่ได้ (วิญญาณฐิติ). การรู้ชัดวิญญาณฐิติ คือ รู้ชัดการเกิด (สมุทัย) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดความดับ (อัตถังคมะ) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดรสอร่อย (อัสสาทะ) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดโทษอันต่ำทราม (อาทีนวะ) แห่งสิ่งนั้น และรู้ชัดในอุบาย อันเป็นเครื่องนำออกไปให้พ้น (นิสสรณะ) จากสิ่งนั้น. เมื่อสัตว์ผู้นั้นรู้ชัดโดยถูกต้อง ดังนี้แล้ว จะส่งผลให้สัตว์ผู้นั้น เป็นผู้หลุดพ้นเพราะความไม่ยึดมั่น, พระองค์เรียกสัตว์ผู้นั้นว่า ผู้ปัญญาวิมุตติ. (บาลี - มหา. ที. 10/81/65.)

นี่คือเหตุผลว่า สัตว์ได้กระทำกรรมต่างๆ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อน ทำให้สัตว์เหล่านั้นได้ร่าง หรือภพภูมิ ที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว จนทำให้ระบบการจำแนกสิ่งมีชีวิต แบบวิทยาศาสตร์ ไม่อาจเข้าถึงความมีชีวิตได้ครบถ้วน.

 

(2) ความรู้สึกสัมผัส ตัวตน นามรูป เกิดจากการทำงานของสมองและจิต

 

สมองมนุษย์ มีน้ำหนักราว 1,300 – 1,400 กรัม. สมองทำงานด้วยกำลัง 14 วัตต์ ซึ่งคิดเป็นพลังงาน ร้อยละ 20 ของพลังงานรวม ที่เราบริโภคเข้าไป. สมองประกอบไปด้วยเซล์ประสาท หรือ นิวรอน (neuron) ราว 86,000 ล้านเซลล์, แต่ละเซลล์ จะสร้างการเชื่อมโยงระหว่างกัน นับหมื่นจุด, ทำให้สมอง กลายเป็นอวัยวะ ที่ซับซ้อนมากที่สุด ในร่างกายแบบมนุษย์. แตสิ่งที่สร้างความน่าทึ่ง ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ มากที่สุด คือ สมองทำงานอย่างไร.

 

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ พยายามนำเทคโนโลยี ที่หลากหลาย เข้าไปไขความลับของสมอง ในขณะที่บุคคลคนนั้น คิด พูด หรือได้ยินเสียง และได้สร้างปริศนาสำคัญในข้อที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับความรู้ตัว เกิดขึ้นได้อย่างไร. กลไกภายในสมอง ประกอบด้วยจำนวนศูนย์กลางในสมอง 180 จุด ซึ่งปล่อยกระแสประสาท นับล้านๆ ครั้ง เพื่อให้เรามองเห็น พูดได้ และ เดินได้ แต่เราอาจจะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีพวกมันก็ได้.

 

งานวิจัยใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่า สมองเป็นนักเอาตัวรอด ที่เหลือเชื่อมากๆ. จากการทดลองกับหนู นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เซลล์ประสาทในสมอง มีการพัฒนาตลอดเวลาไปตลอดชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับความจริงที่ว่า มนุษย์ที่ผ่านประสบการณ์ ด้วยวัย 70 – 90 ปี หรือ 100 ปี ยังคงมีความคิด ความฉลาด อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ เซลล์ของร่างกายส่วนอื่นๆ กลับทรุดโทรมลง. หากจะกล่าวว่า มนุษย์มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็คงไม่ผิดนัก เพราะเหตุที่เซลล์สมอง มีการพัฒนา เติบโตตลอดเวลานั่นเอง ซึ่งนับเป็นความมหัศจรรย์ ที่นักวิทยาศาสตร์ยังหาสาเหตุไม่ได้.

เรอเน เดส์การ์ตส์ (Rene Descartes : 1596 – 1650 A.D.) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เห็นว่า วิญญาณหรือความรู้ ต่างกับร่างกายมาก และต่างจากสมอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายด้วย. เขายังบอกอีกว่า ต่อมไพเนียล (pineal giand) ซึ่งอยู่ที่ใจกลางสมอง เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างร่างกายกับวิญญาณ และเป็นจุดแลกเปลี่ยนสาร ระหว่าง ‘วัตถุ' 2 ชนิด ที่เป็นเอกเทศต่อกัน (คือ จิตสำนึก (consciousness) กับ ร่างกายและสมอง - ผู้เขียน).[04] ต่อมา ได้มีการค้นพบยืนยันว่า ต่อมไพเนียล เป็นสื่อกลาง ทำให้ความคิด และความรู้สึกต่างๆ ไปกระตุ้นให้เกิด กิริยาอาการต่างๆ ทางกาย และทำให้สิ่งที่มากระทบกับร่างกายนั้น กระทบต่อจิตสำนึก และเกิดประสบการณ์ทางจิตตามมา เช่น ความปรารถนาทางใจ ความเจ็บปวด ความกลัว.

 


[04]  ส่วนของจิต ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า จิตสำนึก ก็คือ กระบวนการ จิต มโน วิญญาณ ใน ขันธ์-5, และสิ่งที่เรียกว่า เจตจำนงเสรี (free will) เป็นได้ทั้งสองกรณี คือ ไม่เชิงบวก (กุศล) ก็เชิงลบ (อกุศล).

 

ความรู้สึกในการมีตัวตน กระจายอยู่ทั่วสมอง ไม่ได้อยู่ ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง อันเป็นผลมาจาก การทำงานร่วมกัน ของสมองส่วนต่างๆ. คือ

สมองส่วนกลีบหน้า ทำหน้าที่วางแผนสร้าง ภาพรวม และโครงสร้าง การตัดสินใจ. สมองส่วนนี้ มีบทบาทหลักในด้านบุคลิกภาพ และการควบคุม ตัวเอง.

สมองกลีบข้าง ทำหน้าที่ประมวลข้อมูล ที่ได้รับมาจากประสาทสัมผัส ให้เป็นประสบการณ์ทางกาย เพียงอย่างเดียว.

สมองส่วนพรีคิวเนียส ทำหน้าที่ควบคุมข้อมูล อัตชีวประวัติเกี่ยวกับตัวตน ทำให้บุคคลผู้นั้น เล่าเรื่องเกี่ยวกับที่มาของตัวเองได้.

สมองส่วนมิดโซน เป็นตัวเชื่อมสมองกลีบหน้า 2 ซีก เข้าด้วยกัน และเป็นศูนย์บัญชาการของ จิตที่เรียกว่า อีโก้.

สมองส่วนหน้า ฟรอนต์ อินซูลา จะทำงานก็ต่อเมื่อเราพูดถึงตัวเอง มันจะช่วยทำให้เรารู้ว่าเราคือใคร.

สมองกลีบขมับ ทำหน้าที่ประมวลอารมณ์ ความรู้สึก และเก็บความทรงจำที่เกี่ยวกับการฟัง ทำให้เราเข้าใจคำและประโยค.

ปัจจุบัน นักวิจัยด้านสมอง ต่างเห็นตรงกันว่า จิตสำนึก ความรู้สึก และเจตจำนง (will) เกิดจากกระบวนการทางเคมี ร่วมกับทางกายภาพในสมอง ซึ่งมีความซับซ้อน เกินกว่าจะสรุปให้แน่ชัดได้. แต่ก็ยอมรับว่า ความสามารถ ด้านสมองของมนุษย์เกือบทุกๆ ด้าน ทั้งการมองเห็น การพูด ความจำ และวิจารณญาณ ล้วนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก และไม่ได้จำกัดอยู่ ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง เพียงอย่างเดียว. พวกเขาสรุปได้แต่เพียงว่า ส่วนต่างๆ ของสมอง เป็นตัวบ่งบอกลักษณะเด่น ที่ผสมผสานกัน เป็นบุคลิกภาพของบุคคลคนนั้น. [05]

 


[05]  SCIENCE ILLUSTRATED. ฉบับที่ 89. November 2018, หน้า 39-41.

 

จะเห็นว่า ความซับซ้อน ที่ซ่อนอยู่ภายในสมอง เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ ไม่อาจมองเห็นได้ เพราะนั่นคือโลกอีกโลกหนึ่ง ซึ่งเป็นโลกของจิตวิญญาณ. ความซับซ้อนของจิตวิญญาณ ได้ถูกเปิดเผยอย่างละเอียดโดย พระพุทธเจ้า แต่ยังคงเป็นสิ่งซ่อนเร้น ของนักวิทยาศาสตร์. การศึกษาทางด้านพุทธศาสน์ ไม่ได้เจาะลงลึกในด้านสมอง เพราะมันคือธรรมชาติ ของร่างกาย วัตถุ ที่ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว. แต่ธรรมชาติของจิต จำเป็นต้องศึกษาลงลึกในรายละเอียด เพราะมีความซับซ้อนยิ่งกว่าสมอง เป็นล้านเท่า และอธิบายไม่ได้ด้วยภาษามนุษย์. นับว่าเป็นภารกิจที่ยากที่สุด ที่คนธรรมดาจะกระทำได้ แต่ด้วยความสามารถ ในการหยั่งรู้ อันเป็นความรู้พิเศษของ ตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะ แล้วถ่ายทอดออกมาด้วยภาษามนุษย์. ทำให้คนเราทุกวันนี้ เข้าใจเกี่ยวกับจิต วิญญาณ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งยังไม่มีมนุษย์ผู้ใดทำได้.

 

ความคิดแรกๆ ของดาส์การ์ตส์ สอดคล้องกับสิ่งที่ตถาคตค้นพบ มากที่สุดว่า กายกับจิตนั้น เป็นเอกเทศต่อกัน. ทำให้การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ถูกทางยิ่งขึ้น. กล่าวคือ กาย ก็คือ รูป, จิต ก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมกายกับจิต ก็คือ ขันธ์-5 นั่นเอง. สิ่งที่นักวิจัยด้านสมองเรียกว่า จิตสำนึก ความรู้สึก และเจตจำนง นั้น, ในความเห็นของตถาคต พระองค์ไม่ได้แยกจิตออกเป็นแบบนั้น แต่พระองค์ อธิบายจิตในภาพรวมของ กระบวนการเกิดของขันธ์-5. และที่ เดส์การ์ตส์ กล่าวว่า ต่อมไพเนียล เป็นสื่อกลาง ระหว่างสมองกับความรู้สึกนั้น จะจริงเท็จอย่างไร ก็ไม่ส่งผลต่อการศึกษาด้านจิตวิญญาณ.

 

สมองส่วนที่เรียกว่า ทาลามัส (thamalmus) ทำหน้าที่ควบคุมการรับรส การได้ยินเสียง และการรับสัมผัส โดยทำงานคล้ายเป็นสถานีเชื่อมต่อ. ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) เป็นศูนย์กลางความจำ ซึ่งประมวลและจัดเก็บความจำของมนุษย์. คลอสทรัม (claustrum) เป็นศูนย์กลางใน สมอง ช่วยให้เรามีสติรู้ตัว เพราะทำหน้าหน้าที่ เชื่อมต่อกับสมองแทบทุกส่วน. อะมิกดาลา (amygdala) เป็นตัวก่อกำเนิดอารมณ์ต่างๆ เช่น ความกระวนกระวายใจ ความก้าวร้าว ความยินดี และสร้างฮอร์โมน บางอย่างขึ้นมาได้.

มีสารเคมี ในเซลล์สมอง 2 ชนิด เป็นตัวกระตุ้น และเสริมความรู้สึกภายในสมอง ให้เกิดการยอมรับว่า ความปรารถนาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ดี คือ เอนเคฟาลิน (enkephalin) และ อนันดาไมด์ (anandamide). เอนเคฟาลิน มีคุณสมบัติคล้ายฝิ่น ทำให้รู้สึกเป็นสุขมาก. เมื่อเซลล์ประสาทปล่อย เอนเคฟาลิน ออกมา จะส่งผลกระตุ้นให้เซลล์อื่นๆ ปล่อย อนันดาไมด์ ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกัญชา ออกมาด้วย. ทำให้เรารู้สึกสบาย เป็นสุขสนุกสนาน ส่งผลกระตุ้นให้เซลล์ประสาทปล่อย เอนเคฟาลิน ออกมามากยิ่งขึ้น และออกฤทธิ์ร่วมกัน. เท่ากับเป็นการเพิ่มความเข้มข้น ของสัญญาณประสาท ในศูนย์ควบคุมความสุขในสมอง อีกด้วย. [เหตุนี้ จึงเรียกสิ่งที่ไปกระตุ้นเซลล์ประสาทเหล่านั้นว่า สิ่งเสพติด ].

 

ศูนย์กลางในสมอง 5 ส่วน ที่แพทย์เห็นว่า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ จะขาดไม่ได้ คือ.

(1) ก้านสมอง ตรงตำแหน่งเหนือไขสันหลัง ที่เรียกว่า แมดัลลา ออบลองกาตา (medulla ablongata) . มันทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ และความดัน. หากสมองส่วนนี้ได้รับบาดเจ็บ มักจะเสียชีวิต.

(2) น้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) อยู่ในโพลงสมอง ที่เป็นช่องว่างรวม 4 ช่อง. ถ้าคนเราหกล้ม หรือศีรษะได้รับบาดเจ็บ แต่สมองจะไม่ได้บาดเจ็บ เพราะมันถูกห่อมหุ้มด้วย น้ำหล่อสมอง.

(3) สมองที่อยู่ตรงกลาง เรียกว่า ทลามัส (thalamus) เป็นศูนย์กลางการรับรู้ ทำหน้าที่รับสัญญาณจาก ส่วนปลายทางของร่างกายทุกส่วน (การรับสัมผัส). ถ้าไม่มีทลามัส มนุษย์จะสูญเสียการเชื่อมต่อ กับประสาทสัมผัส และ อาจจะไวต่อความเจ็บปวดมาก.

(4) สารที่เป็นสื่อการรับรู้ มีลักษณะคล้ายตาข่ายในสมอง ช่วยให้มนุษย์รับรู้สิ่งต่างๆ ทั้งยังทำให้คนเรา ตื่นขึ้นอีกครั้งได้ หลังหมดสติไป. ถ้าสาร ตัวนี้ได้รับความเสียหาย มนุษย์ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ หรืออยู่ในอาการโคม่า.

(5) สมองที่เป็นหน่วยความจำ หลัก ของมนุษย์ เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (hippocampus). หากมันได้รับความเสียหาย หรือบาดเจ็บ เช่น จากอุบัติเหตุ หรือ เกิดภาวะเลือดคั่ง อาจทำให้บุคคลผู้นั้น สูญเสียความจำ และความสามารถจดจำข้อมูลใหม่ๆ.

 

แต่อย่างไรก็ตาม สมองสามารถซ่อมแซมตัวเองได้. เมื่อเซลล์สมองตาย พวกมันจะปล่อยสาร ออกสู่สิ่งแวดล้อม เป็นชุดๆ สารต่างๆ เหล่านี้ เป็นโปรตีนชนิดพิเศษ ที่กระตุ้นการเติบโต เรียกว่า นิวโทรฟิน (neutrophin). เมื่อเซลล์สมองที่เหลือ ได้รับนิวโทรฟิน จะทำให้เซลล์บางส่วน สร้างจุดเชื่อมต่อใหม่ๆ เรียกว่า แอซอน (xon) ขึ้นมา, เซลล์อื่นๆ ที่เหลือ ก็จะมีความไวต่อสารสัญญาณใหม่ๆ รอบตัวมากยิ่งขึ้นด้วย. คาร์ลา แชตซ์ นักประสาทชีววิทยา [06] ค้นพบว่า บนผิวหน้าของเซลล์สมอง มีโปรตีนชนิดหนึ่ง ชื่อว่า เพอร์บี (pirB) ทำหน้าที่ป้องกัน ไม่ให้เซลล์สร้างการเชื่อมต่อใหม่ๆ, เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ปริมาณของเพอร์บี้ จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย. ด้วยเหตุนี้ สมองของเด็ก สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ดีกว่า สมองของผู้ใหญ่.

 


[06]  SCIENCE ILLUSTRATED. ฉบับที่ 74. August 2017, หน้า 54.

 

นักวิทยาศาสตร์ มีความเห็นตรงกันว่า ประสาทสัมผัสของมนุษย์ แท้จริงมี 13 ชนิด.[07] ได้แก่

(1) การได้กลิ่น
(2) การมองเห็น
(3) การได้ยิน
(4) การรับรส
(5) การสัมผัส
(6) การทรงตัว
(7) การรับรู้เวลา
(8) การรับรู้การเคลื่อนไหวของตนเอง
(9) ความรู้สึกคัน
(10) การรับรู้อุณหภูมิ
(11) ความรู้สึกเจ็บ
(12) ความรู้สึกหิว-อิ่ม
(13) การรับรู้สนามแม่เหล็ก เป็นประสาทสัมผัส ชนิด เดียวกับนกและแมลง ซึ่งสามารถรับรู้ทิศทางได้ จากแรงสนามแม่เหล็กโลก.

 


[07]  SCIENCE ILLUSTRATED. ฉบับที่ 78. December 2017, หน้า 62-67.

 

ข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับสิ่งที่ตถาคต กล่าวไว้ใน อายตนะภายนอก 6 กับ อายตนะภายใน 6 ที่สัมผัสกัน (จุดเชื่อมต่อให้เกิดการรับรู้ รวมทั้งสองอย่างนี้ เรียกว่า สฬายตนะ) นั้นคือประสาทสัมผัสของมนุษย์ คือ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส ผิวกายกระทบสัมผัส และใจกระทบอารมณ์.

ประสาทสัมผัส ทำให้ความปราถนา ผุดขึ้นที่ก้านสมอง. รสอร่อยจากการสัมผัส ทางอวัยวะต่างๆ (ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย) จะไปกระตุ้น การทำงานของ เวนทรัล เททเมนตัล แอเรีย (ventral tegmental area) ซึ่งอยู่บริเวณก้านสมอง ทำหน้าที่ควบคุม ความรู้สึกและแรงจูงใจ. การรับสัมผัสจากรสอร่อย ของอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดการหลั่งของ สารสื่อประสาท ที่ช่วยส่งสัญญาณภายในสมอง เรียกว่า โดพามีน (dopamine) จะไปกระตุ้นสมองส่วนหน้า เป็นการเร่งเร้า ให้เกิดความปรารถนาต้องการ สิ่งนั้นมากขึ้น.

 

โดพามีน จึงทำหน้าที่ให้เกิดการไหลเวียน ของสัญญาณประสาท ระหว่างศูนย์ควบคุมความสุข 2 แห่ง ที่เรียกว่า นิวเคลียส แอคคัมเบนส์ (nucleus accumbens) และ เวนทรัล พัลลิดัม (ventral pallidum) ซึ่งอยู่ที่บริเวณกลางสมองว่า ‘ความปรารถนาที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งดี.' แต่ก็ยังถูกทำให้ซ่อนอยู่ในสมอง ยังไม่เป็นที่เปิดเผย เพราะความปรารถนาที่ว่าเป็นสิ่งดีนั้น ยังมีความเคลือบแคลง. จากนั้น ความปราถนาจากรสอร่อย ที่เกิดจากการทำงาน ของสมองส่วนที่เรียกว่า เวนทรัล เททเมนตัล แอเรีย กับความรู้สึกที่ว่า ความปรารถนานั้นเป็นสิ่งที่ดี จะถูกส่งเป็นสัญญาณประสาท ไปยังศูนย์ควบคุมความสุขแห่งที่ 3 ซึ่งเป็นศูนย์หลัก อยู่ที่บริเวณเปลือกสมองส่วนหน้า เหนือลูกนัยน์ตา. จากนั้น ความรู้สึกทั้งสองส่วน จะรวมกัน เป็นความรู้สึกสุขแบบรู้ตัว (ซึ่งเรียกว่า จิตสำนึก). แต่ความรู้สึกสุขแบบรู้ตัว จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสมอง. ส่วนที่เป็นศูนย์ควบคุม ด้านเหตุผลและวิจารณญาณ (pre-frontal cortex) ซึ่งอยู่ในบริเวณกลีบหน้าผากส่วนหน้า.

 

เมื่อรับสารความรู้สึกเป็นสุขเหล่านั้นมาแล้ว ก็จะวิเคราะห์ตัดสินเสียก่อนว่า ควรหรือไม่ ที่จะยอมรับว่า ความปรารถนาที่เป็นสุขนั้น เป็นสิ่งดีที่ยอมรับได้หรือไม่เพียงใด (เหตุผลทางด้านศีลธรรม จริยธรรม).

 

‘ความปรารถนาที่เป็นสุข เป็นสิ่งที่ดี ' ก็คือส่วนของจิตที่เกิดจากสัญชาติญาณที่ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เรียกว่า อิด (Id) และตถาคต เรียกว่า ตัณหา ราคะ นันทิ ฉันทะ ซึ่งเป็นจิตฝ่ายลบ (อกุศลจิต). จิตส่วนนี้ ยังคงถูกซ่อนอยู่ในสมอง บริเวณศูนย์ควบคุมความสุข 2 แห่ง คือ นิวเคลียส แอคคัมเบนส์ (nucleus accumbens) และ เวนทรัล พัลลิดัม (ventral pallidum) ซึ่งมันจะถูกควบคุม ด้วยส่วนของจิตที่เรียกว่า ซูเปอร์อีโก้ (super ego) หรือกฎทางสังคม และศีลธรรม. แต่อย่างไรก็ตาม ‘ความปรารถนาที่เป็นสุข เป็นสิ่งที่ดี' ก็อาจถูกระบายออกมาทางพฤติกรรม พอประมาณ ที่จะไม่เป็นโทษภัย แก่บุคคลผู้นั้น และคนรอบข้าง โดยส่วนของจิตที่เรียกว่า อีโก้ (ego) ซึ่งอยู่ที่ศูนย์ควบคุม ด้านเหตุผลและวิจารณญาณ (pre-frontal cortex). อีโก้ เปรียบเหมือนปัญญา ความฉลาด ที่จะตัดสินว่าสิ่งใดควรกระทำ หรือไม่ควรกระทำ อันเป็นการควบคุมพฤิตกรรม ของคนผู้นั้น ให้อยู่ในกรอบทางสังคม.

 

นักวิทยาศาสตร์ และนักจิตวิเคราะห์ มองจิตไปได้ไกลแค่ การทำงานของสมอง และ กระบวนการ อิด อีโก้ และซูปเปอร์อีโก้ ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic theory). แต่ตถาคต มองจิตเป็นกระบวนการของ จิต มโน วิญญาณ ในขันธ์-5 และตอบโจทก์ด้วยว่า มนุษย์จะสลายจิต ในส่วนที่เป็นสัญชาติญาณดิบ (id) ได้อย่างไร เพื่อให้มนุษย์เข้าถึง เจตจำนงเสรี (free will) [08] อันเป็นความปรารถนาเชิงบวก.

 


[08]  เจตจำนงเสรี คือ เสรีภาพ หรือความสามารถของผู้กระทำการ ที่จะคิด กระทำ สิ่งใดๆ ก็ได้ ในทางบวก (คือ สอดคล้องกับ ศาสนา กฎหมาย และจริยศาสตร์) โดยไม่ถูกจำกัด ด้วยปัจจัยและอิทธิพลแวดล้อม ได้แก่ ข้อจำกัดทางกายภาพ (เช่น โซ่ตรวน การจองจำ การทุพลภาพ) ข้อจำกัดทางสังคม (เช่น การข่มขู่ ตำหนิ ขนบประเพณี) ข้อจำกัดทางจิตใจ (เช่น ความกลัวภัยทั้ง 5 ) ข้อจำกัดทางด้านปรัชญา เหตุผลทางตรรกะ.

 

ตถาคต มองการเกิด และพฤติการณ์ของจิตใน 3 ขั้นตอน คือ มโน วิญญาณ และ จิต โดยใช้ทฤษฎีที่อาศัย หลักความจริง 3 ประการร่วมกัน มาอธิบาย คือ หลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท และหลักอริยสัจ-4. การที่นักวิทยาศาสตร์ ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าในสมอง ก็เป็นสิ่งยืนยันว่า ระบบประสาทในมอง มีคุณสมบัติทางไฟฟ้า ซึ่งก่อให้เกิดแรงแม่เหล็กไฟฟ้าแบบอ่อนๆ ที่ตรวจจับได้. แต่กระบวนการของจิต ไม่สามารถตรวจจับคลื่นใดๆ ได้เลย (คลื่นของจิต ไม่ใช่คลื่นทางฟิสิกส์). ถ้าเช่นนั้น จิตทำงานได้อย่างไร ใช้อะไรหรือมีสิ่งใด เป็นสื่อของแรง พลังของจิตมีลักษณะคุณสมบัติอย่างไร. ข้อนี้อธิบายได้ว่า แรงที่ก่อให้เกิดพฤติการณ์ของจิต แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ (1) เจตนา-มนะสิการ (2) ทิฏฐิ -ปัญญา (3) สมาธิ-สติ-ฌาน (4) กรรม-วิบาก. (ดูรายละเอียด บทที่ 2 ข้อ 2.2.5 ความแตกต่างระหว่าง แรงด้านฟิสิกส์ กับแรงด้านจิตธาตุ.)

 

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ความรู้สึกต่างๆ และการรับรู้ของบุคคลผู้นั้น สิ้นสุดไป พร้อมกับความตายของสมองและร่างกาย. แต่ข้อสรุปของตถาคต กลับเห็นในทางตรงกันข้าม, การทำงานของสมองจะยุติลง เมื่อร่างกายมนุษย์ส่วนอื่นๆ หยุดทำหน้าที่ แต่การทำงานของจิต จะยังคงมีอยู่ต่อไป แม้ว่าบุคคลผู้นั้นตายแล้ว. พระองค์ ไม่ได้จำกัดชีวิต ไว้แค่ร่างกายแบบมนุษย์โลกเท่านั้น, ชีวิตยังมีอยู่ในรูปแบบอื่น เช่น สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต เทวดา โอปปาติกะ เป็นต้น. ความรู้ ความรู้สึก ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น อาจไม่ต้องอาศัยการทำงานของสมองก็ได้.

 

กล่าวได้ว่า วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ ได้อธิบายความจริง ในเชิงกลไกของสมอง ไว้โดยละเอียด และวิทยาการด้านพุทธศาสน์ ได้อธิบายความจริง หลังกลไกของสมอง ที่นักวิทยาศาสตร์ยังมองไม่เห็น.

 

(3) หน่วยพื้นฐาน ของกลไกลชีวะ – ชีวิต

 

นักวิทยาศาสตร์พบว่า หน่วยพื้นฐานของร่างกาย ของสิ่งมีชีวิต พืช สัตว์ มนุษย์ ประกอบด้วย เซลล์ (cell) โครโมโซม (chromosome) ดีเอ็นเอ (DNA – deoxyribonueleic acid) และ ยีนส์ (gene). ยีนส์ คือ หน่วยพันธุกรรม ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด. สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด จะมีจำนวนยีนส์ไม่เท่ากัน. ยีนส์ เป็นส่วนหนึ่งของ ดีเอ็นเอ มีตำแหน่งอาศัยอยู่บน “สายพาน” (beads on string) ของโครโมโซม ในนิวเคลียสของเซลล์ ของสิ่งมีชีวิตทุกประเภท. โครโมโซม ทำหน้าที่เป็นสะพานให้ ยีนส์ และ ดีเอ็นเอ รวมกับ โปรตีนฮีสโตน (histone) ซึ่งเรียกว่า nucleosome ในการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม จากพ่อแม่ไปสู่ลูก.

 

มนุษย์ มีจำนวนโครโมโซม 46 โครโมโซม (23 คู่โครโมโซม) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ autosome กับ sex chromosome. autosome ของเพศชายและหญิง มีจำนวนเท่ากัน คือ 22 คู่ ทำหน้าที่ ควบคุมลักษณะต่างๆ ทางกรรมพันธุ์ (ยกเว้นเพศ). sex chromosome ทั้งหญิงและชาย มีกันฝ่ายละ 1 คู่ แต่มีความแตกต่างกัน. เพศชาย มีโครโมโซมคู่ XY และ เพศหญิง จะมีโครโมโซมคู่ XX, โดยที่ โครโมโซม Y จะมีขนาดเล็กกว่า โครโมโซม X. ทั้ง XX และ YY ทำหน้าที่ กำหนดเพศ ชาย หรือ หญิง. เมื่อเซลล์สืบพันธุ์ชาย (อสุจิ) ผสมกับเซลล์สืบพันธุ์หญิง (ไข่) โอกาสที่ทารกจะได้เพศชายหรือหญิง ขึ้นอยู่กับ เซลล์อสุจิของชาย X หรือ Y จะไปปฏิสนธิกับเซล์ไข่ของหญิง. ช่วงนี้ถ้า วิญญาณ ก้าวลงไปอุบัติในครรภ์ ก็จะได้ทารกเกิดมา ตามเพศที่ปฏิสนธิ. วิญญาณ ไม่มีสิทธิ์เลือก ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย.

 

ข้อสังเกต การปรากฎของ วิญญาณ จะเกิดขึ้นพร้อมกับ เวทนา สัญญา สังขาร เสมอ. การก่อ เกิดภพชาติใหม่ของสัตว์ เป็นได้ 2 กรณี คือ หากร่างที่ครอบครอง มีครบทั้ง 5 ขันธ์ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) จะได้กำเนิดเป็น มนุษย์โลก หรือ สัตว์โลก (กำเนิดเดรัจฉาน ) แล้วแต่กรณี. แต่ถ้า ร่างที่ครอบครองนั้นมีแต่จิต ไม่มีรูปขันธ์ ก็จะได้กำเนิดในเทวโลก เป็นเทวดา หรือ พรหม ในชั้นต่างๆ, ไม่ต้องพึ่งพา ร่างกายแบบมนุษย์ ทำให้มีอายุยืนยาวกว่ามนุษย์โลก หลายหมื่นเท่า มีถิ่นอาศัยใน มิติกาลอวกาศ แบบหนึ่ง.

 

 

 

 

ตารางที่ 4.01 โครงสร้างลักษณะทางกายภาพ ของสังขารธรรมระดับต่างๆ

โครงสร้าง รูปแบบ ของ สังขารธรรม
ลักษณะและคุณสมบัติ 3 ของธัมมะธาตุ
รูปวัตถุ รูปอาศัย (ร่างกาย) การปรุงแต่ง (จิต)
วัตถุธาตุ ของแข็ง ของเหลว อุณหภูมิ ก๊าซ
(ดิน น้ำ ไฟ ลม)
อนุภาค นิวเคลียส อะตอม โมเลกุล แรง คลื่น อุณหภูมิ พลังงาน มีวิญญาณ ตั้งอาศัย
ในรูปวัตถุ รูปอาศัย

พืช

มีวัตถุธาตุ เป็นองค์ประกอบ

โมเลกุล นิวเคลียส เซล พลังงาน คลอโรฟิลด์ ดิน น้ำ แร่ธาตุ

มีวิญญาณ ตั้งอาศัย
ในรูปวัตถุ รูปอาศัย

สัตว์เดรัจฉาน

มีวัตถุธาตุ เป็นองค์ประกอบ

อาหาร อากาศ ที่อยู่ สิ่งแวดล้อม

มีวิญญาณ ตั้งอาศัยใน
เวทนา

สัตว์นรก เปรตวิสัย เทวดา สัตว์กึ่งมนุษย์ กึ่งเทวดา
โอปปาติกะ

เป็นจิตธาตุ
(อวิชชา สังขาร )

ภพภูมิ สวรรค์ นรก เป็นที่อยู่อาศัย ไม่มีร่างแบบวัตถุ เป็นองค์ประกอบ เคลื่อนไหวไปได้ ในมิติที่สี่

มีวิญญาณ ตั้งอาศัยใน
เวทนา สัญญา สังขาร

มนุษย์

มีวัตถุธาตุ สสาร พลังงาน แรง คลื่น มีเซล โครโมโซม ดีเอ็นเอ ยีนส์ เป็นองค์ประกอบ

ต้องการ อาหาร อากาศ ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ที่เหมาะสม

มีวิญญาณ ตั้งอาศัยใน
รูป เวทนา สัญญา สังขาร

 

(4) การปรุงแต่งกลไกชีวะ ของสังขารธรรม

 

สิ่งที่ถูกปรุงแต่งตามกฎสังขตธรรม แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  สังขารธรรมที่เป็นวัตถุธาตุอย่างเดียว
  สังขารธรรมที่เป็นจิตธาตุอย่างเดียว และ
  สังขารธรรมที่เป็นทั้งวัตถุธาตุและจิตธาตุร่วมกัน.

 

ส่วนที่เป็นวัตถุธาตุ จะถูกปรุงแต่งขึ้น ตามกระบวนการ ทางธรรมชาติของสสารพลังงาน ส่วนที่เป็นทั้งวัตถุธาตุและจิตธาตุ มีกระบวนการปรุงแต่ง ที่ซับซ้อนกว่า. นักวิทยาศาสตร์ กำหนดขอบเขตของกลไกชีวะ-ชีวิต ไว้แค่ พืช สัตว์ และมนุษย์ เท่านั้น. ส่วนกลไกชีวะ-ฟิสิกส์ (กำเนิดวัตถุธาตุ) เป็นเรื่องของฟิสิกส์อย่างเดียว เช่น การกำเนิดของดางดาว ดาราจักร และ วัตถุธาตุ สสารต่างๆ.

 

แต่ตถาคต กำหนดขอบเขตของการมีชีวิต ครอบคลุมไปถึง สัตว์ มนุษย์ ที่ไม่มีร่างกายแบบสัตว์โลก หรือมนุษย์โลก เช่น พวกเทวดา เทวดากึ่งสัตว์ เทวดากึ่งมนุษย์ พรหม สัตว์ในอบายภูมิ (นรก) เปรตวิสัย ซึ่งทั้งหมดนี้ พระองค์ใช้คำเรียกว่า “สัตว์” หรือ สัตตา. การกำเนิดและการดำรงอยู่ ของชีวิตของสัตว์ต่างๆ เหล่านั้น พระองค์เรียกว่า ภพ ชาติ.

 

มีเหตุปัจจัย 3 ประการ ที่ทำให้พวกสัตว์ที่กล่าวมาทั้งหมด ก่อภพ ก่อชาติ เวียนเกิด เวียนตาย นับเป็นอนันต์รอบ คือ [09] วิญญาณฐิติ (ที่ตั้งอาศัยของวิญญาณ) 4 อย่าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร เปรียบเหมือน ผืนดิน. นันทิราคะ เปรียบเหมือน น้ำ. วิญญาณ ซึ่งเข้าไปตั้งอาศัยใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร แล้ว เปรียบเหมือน ส่วนของพืช 5 อย่าง ที่ใช้เป็นพันธุ์ปลูก-พันธุ์ขยาย (รากเหง้า, ลำต้น, ตาหรือผล, ยอด, เมล็ด). ผลจากการ “ผสมพันธุ์” ของ วิญญาณฐิติ นันทิราคะ และวิญญาณ ก่อให้เกิด การมา การไป การจุติ (ตาย) การอุบัติ (เกิด) ของชีวิต และพัฒนาการไปสู่ ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก การร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ ต่างๆ (ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาสะ) ในที่สุด.

 


[09] “ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ (นัยที่ 2).” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 15-17. | บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/67/106.

 

ตถาคต ได้แบ่งการกำเนิดชีวิตไว้ 4 แบบ คือ

(1) อัณฑชะกำเนิด (เกิดในไข่)
(2) ชลาพุชะ กำเนิด (เกิดในครรภ์)
(3) สังเสทชะกำเนิด (เกิดในเถ้าไคล)
(4) โอปปาติกะกำเนิด (เกิดผุดขึ้นในทันที)
.

 

การเกิดทั้ง 4 แบบ พระองค์ กล่าวถึง โอปปาติกะกำเนิดไว้ตอนหนึ่งว่า “ ... โอปปาติกะกำเนิด เป็นอย่างไรเล่า? เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวก นี้เราเรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด ...”  และอธิบายลักษณะของ เปรตวิสัย ไว้ถึง 21 ชนิด (บาลี - มหาวิ. วิ. 1/210/295.) และอธิบายลักษณะและความงดงาม ของร่างเทวดานางแก้วผู้หนึ่งว่า “ ... รูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ล่วงผิวพรรณของมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงผิวพรรณทิพย์ มีสัมผัสทางกายปานประหนึ่ง สัมผัสปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย นางแก้วนั้นมีตัวอุ่นในคราวหนาว มีตัวเย็นในคราวร้อน มีกลิ่นดังกลิ่นจันทน์ฟุ้งไปแต่กาย มีกลิ่นดังกลิ่นอุบลฟุ้งไปแต่ปาก ...”  (บาลี - อุปริ. ม. 14/324/488.)

 

 

ภาพ - การอุบัติเกิด สิ่งที่อยู่เหนือการรับรู้ของมนุษย์ (เกินมิติที่ 3)

 

ภาพ - การอุบัติเกิดของมนุษย์ ทารก

 

 

นักวิทยาศาสตร์ อธิบายการกำเนิดชีวิตมนุษย์, เริ่มต้นจากการปฏิสนธิในรังไข่ของหญิง โดยเชื้ออสุจิของชาย ผสมกับไข่ของฝ่ายหญิง เกิดการปฏิสนทธิเป็นตัวอ่อน และมีการพัฒนาโครงสร้างร่างกาย ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบประสาท ภูมิคุ้มกัน เติบโตเป็นทารกในครรภ์ นานราว 9 เดือน แล้วคลอดออกมาเป็นทารก.

แต่ตถาคต มองเห็นการกำเนิดชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่มีแค่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อธิบาย แต่พระองค์มองลึกลงไปถึง การก่อเกิด รูปนามของจิตวิญญาณ ร่วมกับการก่อรูปร่างกาย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ.[10]

 

(1) วิญญาณ ก้าวลงในครรภ์ และไม่แตกสลายไปก่อน รูปร่าง (นามรูป + วิญญาณ) ก็ปรากฎ.

(2) วิญญาณของเด็กอ่อนยังอยู่ ไม่แตกสลายไปก่อน ทารก (นามรูป + วิญญาณ) ก็จะเจริญในครรภ์ จนกระทั่งคลอด.

(3) ตราบใดที่ วิญญาณยังไม่แตกสลายจากร่าง (นามรูป + วิญญาณ) มนุษย์ ( สัตว์โลก ) ผู้นั้น ก็จะมีชีวิตไปจนแก่และตายไป (ชาติ ชรา มรณะ).

 


[10] “เหตุแห่งการดำรงอยู่ของชีวิต.” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์]. E-Tipitaka v3.0.6 , หน้า 177-179. | บาลี - มหา. ที. 10/74/60.

 

(5) การจำแนกรูปแบบร่างกายและอายุ ของสัตว์ทั้งหลาย

 

ตถาคต ได้จำแนกการได้ร่างกายรูปแบบต่างๆ ของ สัตตา (สัตว์ทั้งหลาย) เรียกว่า วิญญาณฐิติ หรือ อายตนะ (บาลี – มหา. ที. 10/81/65.) หรือ สัตตาวาส (บาลี - สตฺตก. อํ. 23/413/228.) ซึ่งมีความยาวนานของอายุ แตกต่างกันมากมาย (บาลี - เอก. อํ. 20/263/510., ปา. ที. 11/73/41., 11/92/56.). สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ได้รูปกายต่างๆ เพราะยึดมั่น เพลิดเพลินในการได้เกิด (สมุทัย) เพราะไม่รู้การดับ (อัตถังคมะ) เพราะยึดในรสอร่อย (อัสสาทะ) เพราะไม่เห็นโทษอันต่ำทราม (อาทีนะวะ) และ เพราะไม่รู้ว่าจะใช้อุบายอย่างไร ในการหลุดพ้นออกไปจาก วิญญาณฐิติ อายตะ สัตตาวาส ดังที่กล่าวไปแล้ว.

 

รูปแบบร่างกายของสัตว์ แบ่งออกเป็น 8 จำพวก คือ.

 

(5.1) พวกที่มีกายต่างกัน มีสัญญา (การจดจำอดีต) ต่างกัน ได้แก่ มนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก (เทวดาชั้นกามภพ) วินิบาต (สัตว์ในอบายภูมิ) บางพวก. มีอายุมากจนนับจำนวนปีไม่ได้ ลงมาจนถึง 10 ปี. [ เทวดาชั้นกามภพ มีอายุหลายช่วง ตั้งแต่ 16,000 ปีทิพย์ (9,216,000,000 ปีมนุษย์) ลดหลั่นลงมาจนถึง 500 ปีทิพย์ (9,000,000 ปีมนุษย์). สัตว์เดรัจฉานก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ อาจมีอายุไม่ถึง 10 ปีมนุษย์ – ผู้เขียน]

 

(5.2) พวกที่มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่ พรหมกายิกา (พรหมชั้นแรก ได้ฌานที่ 1). มีอายุ 1 กัป.

 

(5.3) พวกที่มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน ได้แก่ เทวดาชั้น อาภัสสระ. มีอายุ 2 กัป.

 

(5.4) พวกที่มีกายและสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่ เทวดาชั้น สุภกิณหะ. ถ้าได้ฌานที่ 3 มีอายุ 4 กัป ถ้าได้ฌานที่ 4 จะมีอายุ 500 กัป (เทวดาชั้น เวหัปผละ).

 

(5.5) พวกอากาสานัญจายตนะ ทำสมาธิ ดับความรู้สึก (เวทนา) การมีอยู่ของรูปกาย หรือ รูปวัตถุ (ดับรูปสัญญา) ดับความรู้สึกที่ไม่น่ายินดีของรูปทั้งปวง (ปฏิฆสัญญา) ดับการรับรู้ทุกสิ่งอย่าง (นานัตสัญญา) มีการทำในใจว่า “อากาศไม่มีที่สุด.” [ เห็นว่า จักรวาล ไม่มีขอบเขต – ผู้เขียน] ได้แก่ พรหมชั้นอรูป ที่มีอายุ 20,000 กัป.

 

(5.6) พวกวิญญาณัญจายตนะ ทำสมาธิจนก้าวข้าม พวกอากาสานัญจายตนะ เข้าถึง ความรู้สึกว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด.” [ เห็นว่า สิ่งที่รู้ ไม่มีขอบเขต ] ได้แก่ พรหมชั้นอรูป ที่มีอายุ 40,000 กัป.

 

(5.7) พวกอากิญจัญญายตนะ ทำสมาธิจนก้าวข้าม พวกวิญญานัญจายตนะ เข้าถึงความรู้สึกว่า “อะไรๆ ก็ไม่มี.” ได้แก่ พรหมชั้นอรูป ที่มีอายุ 60,000 กัป.

 

(5.8) พวกเนวสัญญานาสัญญายตนะ และพวกอสัญญีสัตว์ คือ ผู้ที่ทำจิตสมาธิ ก้าวพ้นจากการรับรู้ใดๆ จะว่า “มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่.” ได้แก่ สัตว์พวกอรูปพรหม. [ ไม่มีการรับรู้ใด แม้กระทั่ง มิติ เวลา สัตว์ในกลุ่มนี้ รวมถึงพรหมชั้น สุทธาวาส – ผู้เขียน ] ไม่สามารถนับจำนวนอายุได้.

 

ตถาคต มองเห็นในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้ และยืนยันว่า อวิชชา สังขาร วิญญาณ นี่แหละ คือต้นเหตุของการเกิด แก่ ตาย และการเวียนกลับเกิดรอบใหม่ของ สัตว์ มนุษย์และเทวดา นับจำนวนรอบเป็นอนันต์. หลักการที่ว่า “นามรูปมี เพราะปัจจัย คือ วิญญาณ” เป็นสิ่งที่พระองค์รับรองด้วย พระองค์เอง (อธิวจน) เป็นสิ่งที่พระองค์ยืนยันแล้ว (นิรุตฺติ) เป็นสิ่งที่พระองค์บัญญัติว่าจริงแท้แน่นอน (ปญฺญตฺติ) เป็นสิ่งที่เกิดจากปัญญาของพระองค์เอง (ปญฺญาวจร).

สิ่งที่เป็นต้นเหตุให้สัตว์ผู้นั้น เวียนเกิดในภพใหม่ได้เรื่อยๆ ตถาคตเรียกสิ่งนั้นว่า “เครื่องนำไปสู่ภพ” เป็นกิเลสที่มีลักษณะอาการ 6 แบบ (กิเลสที่เกิดจาก วิญญาณ พัฒนาไปเป็นจิตในลักษณะต่างๆ) คือ ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ตัณหา (ความอยาก) อุปายะ (กิเลสที่เป็นเหตุให้เข้าไปสู่ภพ) และ อุปาทาน (ความยึดมั่น). ลักษณะอาการทั้ง 6 แบบนี้ จะผสมพัวพันรวมไปใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร และในตัววิญญาณเองด้วย.

 

 

4.1.3
ภพภูมิ
(sphere) อาณาจักรกำเนิด ของสังขารทั้งหลาย
(นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ เทวดา)

 

นักวิทยาศาสตร์ มีทัศนะต่อ ภพภูมิ ว่าเป็นปรากฎการณ์ของดาราจักร หลุมดำ สุริยะ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ วัตถุธาตุ สสาร พลังงาน อะตอม ตลอดจน การเกิดชีวิตแบบสัตว์โลก มนุษย์โลก. เนื่องจาก นักวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถหยั่งรู้ ขอบเขตของเอกภพ ได้เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าเห็น, พวกเขาจึงจำเป็นต้องสร้างทฤษฎี จากการสมมุติฐานขึ้นมา เพื่ออธิบายสิ่งที่ค้นพบ และรองรับโครงการต่างๆ ที่พวกเขาแสวงหา. นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าอาจยังมีมนุษย์ในโลกอื่น หรือในระบบสุริยะอื่น จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ชาติต่างๆ เกิดการแข่งขัน การค้นคว้า การผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ยานอวกาศ เครื่องยนต์จรวด รถสำรวจพื้นผิวของดวงดาว ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นการศึกษา ในด้านวัตถุธาตุเท่านั้น.

 

แต่ภพภูมิ ในทัศนะของตถาคต มีความกว้าง ลึกซึ้ง และครอบคลุมทั้งใน วัตถุธาตุและจิตธาตุ. พระองค์ได้อธิบายการมีอยู่ของภพภูมิ ด้วยภาษาทางจิตภาพ ทำให้ยากแก่การเข้าใจ สำหรับนักวิทยาศาสตร์. การอธิบายนามธรรม หรือ สิ่งที่อยู่เหนือ การรับรู้สัมผัสของมนุษย์, ตถาคต ทรงใช้วิธีอุปมาเปรียบเทียบ สิ่งที่มนุษย์โลกเข้าใจอยู่แล้ว เพื่อจะสรุปว่า สิ่งที่พระองค์หมายถึงนั้น เหมือนหรือแตกต่าง กับสิ่งที่มนุษย์โลกเข้าใจอย่างไร.

 

พระองค์มองว่า ภพภูมิ เป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่เช่นนั้น ตามธรรมชาติ คือ มีการเกิด การเสื่อม การแปรปรวน ไม่เที่ยงแท้ ทนสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นสิ่งที่จะยึดมั่นว่าเป็นตัวตนไม่ได้. ดังนั้น ภพภูมิ จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดสร้างขึ้น หรือสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด และมันจะสิ้นสุดลง ณ เวลาใด.

 

ตถาคต ได้อธิบายการมีอยู่ของภพภูมิต่างๆ (บาลี - มู. ม. 12/147/170.) ไว้ดังนี้ “คติ 5 ประการเหล่านี้ มีอยู่. 5 ประการ อย่างไรเล่า? คือ (1) นรก (2) กำเนิดเดรัจฉาน (3) เปรตวิสัย (4) มนุษย์ (5) เทวดา.”  พระองค์เป็นผู้รู้ชัด ในกำเนิดของสัตว์ต่างๆ เช่น สัตว์ในอบายภูมิ ทุคติ วินิบาต นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย และสัตว์ในภพภูมิที่สูงกว่า เช่น มนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย. ตลอดจน รู้วิธีในการทำลายวัฏจักรของภพชาติ การเกิด แก่ ตาย ได้เป็นอย่างดี.

 

(1) นรก ( นิรโย – hell)

 

 

นรก เป็นสภาวะหรือสถานที่ที่กักขังสัตว์ ให้ได้รับความเร่าร้อนกระวนกระวาย ไร้ความสุข. มนุษย์รับรู้ นรกภูมิ (sphere of hell) ได้ในจินตภาพ เช่น ความรู้สึกกลัว ความเร่าร้อน กระวน กระวายใจ ความทุกข์ ความเจ็บปวด ทรมาน จากการถูกทำร้าย จากอุบัติเหตุ จากโรคต่างๆ ตลอดจน การฝันร้าย. แต่เมื่อหลังตายไปแล้ว จึงจะสามารถเข้าถึงสภาวะนั้นได้จริง. (การรับรู้ และการเข้าถึง สวรรค์ ก็ในลักษณะเดียวกัน แต่มีผลตรงกันข้ามกับ นรก).

 

ภพภูมินรก ที่จะกล่าวต่อไปนี้ หมายถึงภพภูมิที่สัตว์ทั้งหลาย เข้าถึงได้หลังการตาย. ภพภูมินรก มีความหลากหลายและแตกต่างกันมาก. ตถาคต ได้จัดหมวดหมู่ของนรกภูมิ ตามภูมิทัศน์บ้าง เช่น มหานรก นรกคูถ นรกเถ้ารึง ป่างิ้ว ป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบ แม่น้ำใหญ่มีน้ำเป็นด่าง (บาลี – อุปริ. ม. 14/341/514.) แบ่งตามลักษณะบรรยากาศบ้าง เช่น อเวจีนรก โลกันตริกนรก (บาลี – จุลฺล. วิ. 7/204/403., มหาวาร. สํ. 19/566/1739.) แบ่งตามอายุบ้าง. ภพภูมินรกที่แบ่งตามอายุ จากชั้นบน (อายุสั้น) ไปสู่ชั้นล่างสุด (อายุยาวนาน) มี 10 ชั้น [11] คือ.

-อัพพุทนรก (อพฺพุโท นิรโย)
-นิรัพพุทนรก (นิรพฺพุโท นิรโย)
-อพพนรก (อพโพ นิรโย)
-อฏฏนรก (กฎโฏ นิรโย)
-อหหนรก (อหโห นิรโย)
-กุมุทนรก (กุมุโท นิรโย)
-โสกันธิกนรก (โสคนฺธิโก นิรโย)
-อุปปลกนรก (อุปฺปลโก นิรโย)
-ปุณฑริกนรก (ปุณฺทรีโก นิรโย)
-ปทุมนรก (ปทุโม นิรโย).


[11] “อายุนรก.”  พุทธวจน-หมวดธรรม. เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 89. | บาลี - ทสก. อํ. 24/181/89.

 

นอกจากนี้ พระองค์ยังกล่าวถึง นรกอีกหลายชื่อ ที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้ ในภพปัจจุบัน เช่น ผัสสายตนิกะ มี 6 ขุม (บาลี - สฬา. สํ. 18/158/214.) และ มหาปริฬาหะ (บาลี มหาวาร. สํ. 19/ 562/1731.) นรกทั้งสองชื่อ เป็นสถานที่ไม่น่าสัมผัสเลยด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ทางใจ. นรกชื่อ สรชิต สำหรับพวกที่เป็นนักรบในสงคราม. สัตว์ในอบายภูมิอีกพวกหนึ่ง คือ อสุรกาย หรือ อสูร (demons | frightened ghosts). ที่จริง อสูร คือเทวดาที่อยู่ชั้นบนบนสุด ของชั้นกามภพ จัดเป็นพวกเทวดาเลว เพราะทะนงตนว่า มีศักดิ์สูงกว่า มีฤทธิ์มากกว่า แต่ถ้ามีความประพฤติดี ก็จะไปทำหน้าที่ปกครอง ควบคุมพวกสัตว์นรก ในนรกภูมิชั้นต่างๆ. ดังนั้น อสูร จึงสามารถท่องเที่ยวไปได้ ทั้งในภพนรก และภพสวรรค์.

 

อายุของนรกแต่ละชั้น ไม่อาจเทียบกับเวลาบนโลกมนุษย์ได้เลย. ตถาคต กล่าวกับพระสาวก เกี่ยวกับนรกไว้ตอนหนึ่งว่า “ ... ภิกษุทั้งหลาย ! ประมาณอายุในปทุมนรกนานนัก การนับประมาณอายุในปทุมนรกนั้นว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือว่าเท่านี้แสนปี ไม่ใช่ทำได้ง่าย.”  พระองค์จึงได้ทำการเปรียบเทียบอายุนรกชั้นที่ตื้นที่สุด ชื่อ อัพพุทนรก ไว้ว่า “ ... เปรียบเหมือนเกวียนที่บรรทุกงาของชาวโกศล มีอัตรา 20 ขารี (1 ขารี = ประมาณหนึ่งหาบกระบุง หรือประมาณ 256 ทะนาน) เมื่อล่วงไป ทุกแสนปี บุรุษพึงหยิบเมล็ดงาขึ้นจากเกวียนนั้นออกหนึ่งเมล็ด. ภิกษุทั้งหลาย ! เกวียนที่บรรทุกงาของชาวโกศลมีอัตรา 20 ขารีนั้น จะพึงถึงความสิ้นไป หมดไปโดยลำดับนี้ ยังเร็วเสียกว่า ส่วนหนึ่งของ อัพพุทนรก ยังไม่พึงถึงความสิ้นไป หมดไปได้เลย ... ”  และ ยังเปรียบเทียบอายุของนรกแต่ละชั้นอีกว่า “ ... 20 อัพพุทนรก เป็น 1 นิรัพพุทนรก 20 นิรัพพุทนรก เป็น 1 อัพพนรก 20 อัพพนรก เป็น 1 อหหนรก 20 อหหนรก เป็น 1 อฏฏนรก 20 อฏฏนรก เป็น 1 กุมุทนรก 20 กุมุทนรก เป็น 1 โสคันธิกนรก 20 โสคันธิกนรก เป็น 1 อุปลกนรก 20 อุปลกนรก เป็น 1 ปุณฑรีกนรก 20 ปุณฑรีกนรก เป็น 1 ปทุมนรก ...”

 

ข้อสังเกต ถ้าเราใช้มุมมองภายใต้มโนทัศน์สัมพัทธภาพ เราอาจไม่จำเป็นต้องรู้ขนาด ระยะ ที่เป็นจำนวนจริงก็ได้ เพียงแค่การใช้จินตภาพ เพื่อเทียบเคียงอุปมาที่ตถาคตพูด กับภาวะความเป็นจริงในโลกมนุษย์ ก็น่าจะเพียงพอที่จะปลดข้อสงสัยได้ว่า นรก ที่คุมขังสัตว์ทั้งหลายนั้น มีความยาว นานต่างกันอย่างไร. การเปรียบเทียบอายุนรก รวมทั้งอายุของเทวดา ก็ในลักษณะเดียวกัน. และเมื่อเปรียบเทียบกับ อายุของดาราจักร ระบบสุริยะ หรือ ดาวฤกษ์ดวงหนึ่งนั้น ก็ยาวนาน จนไม่สามารถหาเลขจำนวนจริง มาวัดค่าได้.

 

(2) กำเนิด เดรัจฉาน ( ติรจฺฉานโยนิ - animal | beasts)

 

 

สัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิต ประกอบด้วยเซลล์ ตั้งแต่หนึ่งเซลล์ขึ้นไป และพัฒนาจนเป็นสัตว์หลายเซลล์. นักวิทยาศาสตร์ ได้แบ่งโครงสร้างของสัตว์ ออกเป็นระดับชั้นต่างๆ รวมเรียกว่า อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia). สิ่งมีชีวิตที่จัดอยู่ในอาณาจักร มีมากกว่า 1.7 ล้านสปีชีส์ และสัตว์ทุก ระดับชั้นในอาณาจักรสัตว์ จะมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน เป็นเครือข่ายในระบบนิเวศ. สัตว์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องสร้าง และรักษาสมดุล ให้แก่ระบบนิเวศ เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของตนเอง.

 

นักวิทยาศาสตร์ ได้กำหนด ลักษณะและคุณสมบัติ ขึ้นใช้เป็นเกณฑ์จำแนกหมวดหมู่ ของอาณาจักรสัตว์ เช่น การทำงาน ของเซล (level of cell organization) ลักษณะลำตัว การแบ่งส่วนของร่างกาย (segmentation and symmetry) ช่องว่างในลำตัว (body cavity or coelom) ระบบนำเข้านำออก ของอาหารและของเสีย (digestive tract). สัตว์ ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้เหมือนพืช เพราะสัตว์ไม่มีคลอโรฟิลล์, ธรรมชาติจึงทำให้มันเคลื่อนไหวได้ เพื่อหาสิ่งมีชีวิตอื่นมาเป็นอาหาร ทำให้มันมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ได้ดีกว่าพืช.

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ การนิยามคำว่า สัตว์ ในเชิงโครงสร้างรูปแบบเพียงด้านเดียว. ทำให้ความหมายของสัตว์ ดูแคบไป. ความจริง ยังมีสาเหตุและองค์ประกอบอื่นอีก ที่ทำให้สัตว์นั้น เวียนเกิดเวียนตาย และประสบความทุกข์ต่างๆ ตลอดกาลยาวนาน. ตถาคต กล่าวถึงส่วนของโครงสร้างรูปกาย ที่ก่อให้เกิดสัตว์ไว้เพียงแค่ ดิน น้ำ ไฟ ลม (รูปขันธ์) เท่านั้น. แต่พระองค์กล่าวถึงส่วนของจิต ภาพ (นามขันธ์) ไว้โดยละเอียด โดยเฉพาะ กระบวนการของ มโน วิญญาณ จิต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่ทำให้สัตว์เวียนเกิด เวียนตาย และประสบความทุกข์ต่างๆ. สรุปคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, 5 สิ่งนี้ คือต้นเหตุและองค์ประกอบ ในความเป็น สัตว์.

 

 


•  พุทธวจน – ความหมายของคำว่า สัตว์

ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิน) ตัณหา (ความอยาก) ใดๆ มีอยู่ในรูป เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วในรูปนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “สัตว์” (ผู้ข้องติดในขันธ์ทั้ง 5) ดังนี้.

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ใน เวทนา (ความรู้สึกสุข ทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์) เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วในเวทนานั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้.

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ใน สัญญา (ความหมายรู้) เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วในสัญญานั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้.

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ใน สังขารทั้งหลาย ( การปรุงแต่ง ) เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วในสังขารทั้งหลายนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้.

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ใน วิญญาณ เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วในวิญญาณนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้.

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 1 1. หน้า 23. | บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/232/367.

 

ดังนั้น คำว่าสัตว์ จึงไม่ได้หมายถึง สัตว์เดรัจฉานเท่านั้น แต่รวมถึง มนุษย์ เทวดา ด้วย [ในหนังสือเล่มนี้ จัดสัตว์อยู่ในกลุ่ม กลไกชีวะ – ชีวิต หรือ สังขารธรรม ระดับที่ 3 ถึงระดับที่ 6] . ตถาคต ได้จำแนก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ไว้เป็น 5 ประเภท คือ [12]

 

(1) จำพวกมีหญ้าเป็นภักษา (ติณภกฺขา) เช่น ม้า แพะ โค ลา เนื้อ.

(2) จำพวกมีคูถ (อุจจาระ) เป็นภักษา (คูถภกฺขา) ได้แก่ สัตว์จำพวกดมกลิ่น ของสกปรก ของทิ้งแล้ว เป็นอาหาร เช่น ไก่ หมู สุนัข.

(3) จำพวก เกิด แก่ ตาย ในที่มืด (อนฺธกาเร ชายนฺติ อนฺธกาเร ชียนฺติ อนฺธกาเร มียนฺติ) เช่น ตั๊กแตน มอด ไส้เดือน.

(4) จำพวก เกิด แก่ ตาย ในน้ำ (อุทกสฺมึ ชายนฺติ อุทกสฺมึ ชียนฺติ อุทกสฺมึ มียนฺติ) เช่น ปลา เต่า จระเข้.

(5) จำพวก เกิด แก่ ตาย ในของโสโครก (อสุจิสฺมึ ชายนฺติ อสุจิสฺมึ ชียนฺติ อสุจิสฺมึ มียนฺติ) ได้แก่ สัตว์ที่เกิดใน ซากสัตว์เน่า ศพ หลุมโสโครก น้ำครำ เช่น พวกหนอนต่างๆ แล้วพัฒนาเป็นแมลงวัน ยุง เป็นต้น.

 


[12] “เหตุที่ทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน.”  พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 108-110. | บาลี - อุปริ. ม. 14/317/476.

 

ในภพภูมิของเดรัจฉาน ยังมีสัตว์พิเศษอยู่อีก 2 ชนิด คือ นาค กับ ครุฑ. นาค (สัตว์ประเภทงู) เป็นสัตว์พิเศษจำพวกหนึ่ง ที่มีภาวะการกำเนิดคล้ายมนุษย์ แต่ตถาคต จัดเป็น สัตว์เดรัจฉาน (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/298/519.)

 

พระองค์กล่าวว่า สัตว์จำพวกนาค มีชาติกำเนิดแบ่งเป็น 4 ประเภท จาก วรรณะต่ำไปสู่วรรณะสูง คือ ประเภทที่เกิดในไข่ (อัณฑชะ) ประเภทที่เกิดในครรภ์ (ชลาพุชะ) ประเภท ที่เกิดในเถ้าไคล (สังเสทชะ) และประเภทผุดเกิดขึ้น (โอปปาติกะ).

 

สัตว์พวกนาค จะแสดงตัวตนให้เห็นเป็นงู เมื่อเสพเมถุนกัน กับตอนหลับ. ส่วน ครุฑ (สัตว์ประเภทนก) มีภาวะการกำเนิดสูงกว่าสัตว์จำพวกนก. ครุฑ มีชาติกำเนิดแบ่งเป็น 4 ประเภท เช่นเดียวกับนาค. ครุฑที่มีวรรณะสูงกว่า ย่อมเป็นผู้นำนาค ที่มีวรรณต่ำกว่า หรือเสมอกันไปได้. (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/305/531.) นาค อาศัยอยู่ในภพเดียวกับมนุษย์ แต่ครุฑ อาศัยอยู่ในภพมนุษย์บ้าง ภพเทวดาบ้าง (ชั้นจาตุมหาราชิกา).

 

(3) เปรตวิสัย ( ปิตฺติวิสโย - hungry ghosts)

 

 

เปรตวิสัย เป็นสัตว์ที่มีวรรณะของภพภูมิ สูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน แต่ต่ำกว่ามนุษย์. ตถาคตเป็นผู้รู้ชัดในวิสัยของเปรต. พระองค์ได้จำแนกเปรต ออกเป็น 21 ประเภท [13] คือ.

 

(1) อัฏฐิสังขลิกเปรต พวกที่มีแต่ร่างกระดูก ลอยไปในเวหาส์ ถูกฝูงแร้ง เหยี่ยว นกตระกรุม โฉบจิก.

(2) มังสเปสิเปรต พวกที่มีแต่ชิ้นเนื้อ ลอยไปในเวหาส์ (อากาศ) ถูกฝูงแร้ง เหยี่ยว นกตระกรุม โฉบจิก.

(3) มังสปิณฑเปรต พวกที่มีแต่ก้อนเนื้อ ลอยไปในเวหาส์ ถูกฝูงแร้ง เหยี่ยว นกตระกรุม โฉบจิก.

(4) นิจฉวิเปรต มีเพศเป็นชาย ไม่มีผิวหนัง ลอยไปในเวหาส์ ถูกฝูงแร้ง เหยี่ยว นกตระกรุม โฉบจิก.

(5) อสิโลมเปรต มีเพศเป็นชาย มีขนเป็นดาบ ลอยไปในเวหาส์ ดาบเหล่านั้น หลุดลอยขึ้นไปแล้ว ตกลงที่กายของมัน.

(6) สัตติโลมเปรต มีเพศเป็นชาย มีขนเป็นหอก ลอยไปในเวหาส์ หอกเหล่านั้น หลุดลอยขึ้นไปแล้ว ตกลงที่กายของมัน.

(7) อุสุโลมเปรต มีเพศเป็นชาย มีขนเป็นลูกศร ลอยไปในเวหาส์ ลูกศรเหล่านั้น หลุดลอยขึ้นไปแล้ว ตกลงที่กายของมัน.

(8) สูจิโลมเปรต มีเพศเป็นชาย มีขนเป็นเข็ม ลอยไปในเวหาส์ เข็มเหล่านั้น หลุดลอยขึ้นไปแล้ว ตกลงที่กายของมัน.

(9) สูจกเปรต มีเพศเป็นชาย มีขนเป็นเข็ม ลอยไปในเวหาส์ เข็มเหล่านั้น หลุดลอยขึ้นไปแล้ว ทิ่มเข้าไปในศีรษะทะลุปาก.

(10) กุมภัณฑเปรต มีเพศเป็นชาย มีอัณฑะโตเท่าหม้อ ลอยไปในเวหาส์ ถูกฝูงแร้ง เหยี่ยว นกตระกรุม โฉบจิก.

(11) คูถนิมุคคเปรต มีเพศเป็นชาย จมอยู่ในหลุมคูถ (อุจจาระ) ท่วมศีรษะ.

(12) คูถขาทิเปรต มีเพศเป็นชาย จมอยู่ในหลุมคูถท่วมศีรษะด้วย และกินคูถนั้นด้วย.

(13) นิจฉวิตถีเปรต มีเพศเป็นหญิง ไม่มีผิวหนัง ลอยไปในเวหาส์ ถูกฝูงแร้ง เหยี่ยว นกตระกรุม โฉบจิก.

(14) มังคุลิตถีเปรต มีเพศเป็นหญิง มีรูปร่างน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็น ลอยไปในเวหาส์ ถูกฝูงแร้ง เหยี่ยว นกตระกรุม โฉบจิก.

(15) โอกิลินีเปรต มีเพศเป็นหญิง มีร่างกายถูกไฟลวก มีหยาดเหงื่อไหลหยด มีถ่านเพลิงโปรยลง ลอยไปในเวหาส์.

(16) อสีสกพันธเปรต มีศีรษะขาดลอยไปในเวหาส์ ตาและปากของมันอยู่ที่อก ถูกฝูงแร้ง เหยี่ยว นกตระกรุม โฉบจิก.

(17) ภิกษุเปรต มีร่างลอยไปในเวหาส์ สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกายของมันถูกไฟติดลุกโชน.

(18) ภิกษุณีเปรต มีร่างลอยไปในเวหาส์ สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกายของมัน ถูกไฟติดลุกโชน.

(19) สิกขมานาเปรต มีร่างลอยไปในเวหาส์ สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกายของมันถูกไฟติดลุกโชน.

(20) สามเณรเปรต มีร่างลอยไปในเวหาส์ สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกายของมันถูกไฟติดลุกโชน.

(21) สามเณรีเปรต มีร่างลอยไปในเวหาส์ สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกายของมันถูกไฟติดลุกโชน.

 

สัตว์ที่มีอยู่ใน อบาย (ภาวะปราศจากความเจริญ) นั้น มีจำนวนมากมายนับอนันต์. [14] ตถาคตเปรียบเทียบ จำนวนสัตว์ในมหาสมุทร กับการเอาหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ในป่าทั้งหมดที่มี มาทำเป็นหลาวเสียบสัตว์เหล่านั้น ไม้ก็หมดป่าเสียก่อน แต่สัตว์เหล่านั้นก็ยังมีเหลืออยู่อีกมากมาย. ( บาลี - มหาวาร. สํ. 19/551/1719.) นั่นยังไม่นับสัตว์ในภพนรก เปรตวิสัย ซึ่งมีมากมายเป็นจำนวนอนันต์.

 


[13] “เปรตวิสัย.”  พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์ ].  E-tipitaka v3.0.6, หน้า 136-148. | บาลี - มหาวิ. วิ. 1/210/295. | นิทาน. สํ. 16/298/637. (ในพระสูตรนี้ แตกต่างตรงที่ในบาลี ไม่มีคำว่า เปโต (เปรต)).


[14]  ในไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พบคำว่า อบายทั้ง 4 อยู่เพียงตำแหน่งเดียว ที่เป็นพุทธวจน (บาลี - มหา. ที. 10/81/65.) ว่าด้วย วิญญาณฐิติที่ 2 แต่ไม่ตรงกับพระสูตรอื่นที่กล่าวถึง วิญญาณฐิติ 7 และ ไม่ตรงกับไตรปิฎกฉบับภาษามอญ และ และภาษายุโรป. [เข้าใจว่า ‘อบาย' นั้น ตถาคต หมายรวมถึง ภาวะใดๆ ที่มีแต่ความเสื่อม ต่ำทราม ไม่เจริญ แม้ในหมู่มนุษย์ เทวดา ก็ตกอยู่ในอบายได้ทั้งสิ้น. ดังนั้น คำว่า อบายทั้ง 4 จึงไม่ได้หมายถึงแค่ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย และ อสุรกาย เท่านั้น – ผู้เขียน].

 

การเปลี่ยนภพชาติกำเนิดของสัตว์ ตถาคต กล่าวไว้ว่า “ ... สัตว์ที่จุติ จากกำเนิดเดรัจฉานไปแล้ว จะกลับไปเกิด ในหมู่มนุษย์ มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากกำเนิดเดรัจฉานไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย มีมากกว่า โดยแท้ ... เพราะความที่สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่ ...”  โดยพระองค์อุปมาว่า โอกาสการเกิดเป็นมนุษย์ เท่ากับเศษฝุ่นปลายเล็บ เมื่อเทียบกับแผ่นดินทั้งผืน ซึ่งจะไปเกิดในนรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย. (บาลี - มหาวาร. สํ. 19/587/1798.)

 

(4) มนุษย์ ( มนุสฺสา – human)

 

 

นักวิทยาศาสตร์ จัดเผ่าพันธุ์มนุษย์ไว้ใน โดเมนชื่อ Eukaryta, อาณาจักร Animalia ไฟลัม Chordata ชั้น Mammalia อันดับ Primates วงศ์ Hominidae สกุล Homo สปีชีส์ H. sapiens. คำว่า Homo sapiens มาจากภาษาละติน แปลว่า คนผู้ฉลาด หรือ ผู้รู้. ตามหลักฐานทางบรรพชีวินวิทยา พบมนุษย์บนโลกครั้งแรก ในทวีปแอฟริกา เมื่อราว 200,000 ปีที่แล้ว โดยกำหนดคุณสมบัติความนำสมัยทางพันธุกรรม (behavioral modernity ) มาเป็นเครื่องชี้ว่า นั่นคือมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์.

 

ตถาคต กล่าวว่า สัตว์ที่จุติ (ตาย) แล้ว จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกนั้นยาก. “ ... สัตว์ที่จุติ (ตาย) จากมนุษย์ไปแล้ว จะกลับไปเกิดในหมู่มนุษย์ มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย มีมากกว่า โดยแท้. ” (บาลี - มหาวาร. สํ. 19/576/1792.) แต่กระนั้น การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็มิใช่คราวเดียว เพราะเหตุว่าสังสารวัฏนั้น ยาวนานมาก ไม่ใช่แค่การเกิดขึ้นของโลกใบนี้ครั้งเดียว.

 

หมายความว่า โลกแบบมนุษย์ (earth) ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีนั้น ก็ไม่ได้มีเฉพาะโลกของเราเท่านั้น แต่ยังมีดาวโลกในระบบสุริยะอื่น ที่คาดกว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่. ความเชื่อนี้ สอดคล้องกับคำกล่าวของ ตถาคต ที่ทรงกล่าวยืนยันว่า โลกนี้มี โลกหน้า (โลกอื่น) มี และ เป็นสถานที่อันสัตว์ พากันเวียนเกิด เวียนตาย ไม่สิ้นสุด.

 

ตถาคต ทรงหยั่งรู้และฉลาด ในเรื่องซึ่งพ้นวิสัยโลก (เรื่องที่มนุษย์โลกเข้าใจได้ยาก). “ ... เราแล เป็นผู้ฉลาดในเรื่อง โลกนี้ ฉลาดในเรื่อง โลกอื่น, เป็นผู้ฉลาดต่อวัฏฏะอันเป็นที่อยู่ของมาร ฉลาดต่อ วิวัฏฏะอันไม่เป็นที่อยู่ของมาร, เป็นผู้ฉลาดต่อ วัฏฏะอันเป็นที่อยู่ของมฤตยู ฉลาดต่อ วิวัฏฏะอันไม่เป็นที่อยู่ของมฤตยู. ... ทั้ง โลกนี้ และ โลกอื่น ตถาคตผู้ทราบดีอยู่ ได้ประกาศไว้ชัดแจ้งแล้ว ... ” (พุทธประวัติจากพระโอษฐ์. บาลี - จูฬโคลปาลสูตร มู.ม. 12/421/381.) นอกจากนี้ พระองค์ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ ... สัตว์ โลกนี้ หนอ ถึงแล้วซึ่งความยากเข็ญ ย่อมเกิด ย่อมแก่ ย่อมตาย ย่อมจุติ และย่อมอุบัติ, ... ”  (ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์. บาลี - นิทาน.สํ. 16/126/250.)

 

เหตุที่ทำให้มนุษย์เกิดมาแตกต่างกัน คือ กรรม (การกระทำของตน). “ ... สัตว์ทั้งหลาย มีกรรม เป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรม ย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้.”  (บาลี - อุปริ. ม. 14/376/579.) เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน (ซึ่งไม่ใช่หนเดียว) ได้สะสมกรรมดีมาตลอด ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อีกครั้ง ย่อมได้ มหาปุริสลักขณะ (ลักษณะของมหาบุรุษ) ซึ่งไม่มีในมนุษย์โลกคนใด จะมีได้ เป็นได้ เสมอตถาคต. แม้แต่เทวดาที่กำลังจะตาย ก็ยังหวังว่า ขอให้ได้เกิดเป็นมนุษย์. “ ภิกษุทั้งหลาย ! ความเป็นมนุษย์ นี้แลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติ ของเทวดาทั้งหลาย.”  (บาลี - ขุ. ขุ. 25/289/261.)

 

มนุษย์ ไม่ได้มีอายุ 100 ปี เหมือนในปัจจุบัน. อดีต มนุษย์โลก เคยมีอายุยาวกว่านั้นมาก จนกลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เช่น “ ... เรื่องเคยมีมาแล้ว เวปุลลบรรพตนี้ มีชื่อว่า ปาจีนวังสะ. สมัยนั้นแล หมู่มนุษย์มีชื่อว่า ติวรา หมู่มนุษย์ชื่อติวรา มีอายุประมาณ สี่หมื่นปี ... หมู่มนุษย์ชื่อ โรหิตัสสะ มีอายุประมาณ สามหมื่นปี ... หมู่มนุษย์ชื่อ สุปปิยา มีอายุประมาณ สองหมื่นปี ... หมู่มนุษย์ชื่อ มาคธะ มีอายุเพียงน้อยนิด ... เพียงร้อยปี น้อยกว่าก็มี เกินกว่าก็มี ... ” [ปัจจุบัน มนุษย์ มีอายุอยู่ในเกณฑ์นี้]  (บาลี - นิทาน. สํ. 16/225/456.)

 

สรุปได้ว่า มนุษย์ไม่ได้ถือกำเนิดมาเฉพาะโลกใบนี้เท่านั้น, มนุษย์ไม่ได้มีเชื้อสายแยกออกมาจาก ชิมแพนซี (เมื่อราว 5 ล้านปีที่แล้ว) ตามที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อ และไม่ได้มียุคมนุษย์เพียงยุคเดียว ตามที่นักบรรพชีวินวิทยาคาดการณ์ไว้. มนุษย์มีการพัฒนา มีหายนะ มีการเกิดการตาย มา หลายล้านอนันต์รอบ อันมีสาเหตุมาจาก แรงขับภายในจิตใจ (กิเลส) ของตัวมนุษย์เอง ที่คอยกระตุ้น ให้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ทำร้ายพวกเดียวกันเองบ้าง และทำร้ายสิ่งแวดล้อมบ้าง. มนุษย์ผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ก็จำเป็นต้องควบคุมพวกเดียวกันเอง ด้วยวิธีการทางพิธีกรรมบ้าง ทางศาสนาบ้าง ทางด้าน การปกครองบ้าง เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์นั่นเอง. สรุปก็คือ การประพฤติผิดศีลธรรม เป็นสาเหตุ หลักที่ทำให้มนุษย์ และสัตว์ ต้องเวียนเกิด เวียนตาย ทั้งในโลกนี้ และโลกอื่น.

 

จะเห็นว่า ตถาคต กล่าวถึงประวัติ ความเป็นมาของมนุษย์ ย้อนหลังไปไกล ไม่ใช่ล้านปี แสนปี หรือหมื่นปี ดังที่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมุติฐานไว้ และตามหลักฐาน ที่นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบ. มนุษย์มีการปรับตัวทางกายวิภาคศาสตร์ ได้มากมายอย่างเหลือเชื่อ. สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อาจยอมรับ ไม่ได้ คือ มนุษย์ สามารถมี “ร่างอาศัย” (ร่างกาย) แบบอี่นได้อีก เช่น มนุษย์ก๊าซ มนุษย์ 2 มิติ เป็นต้น.

 

ในบางยุค มนุษย์สามารถดำรงชีวิตรอบหนึ่ง ได้ยาวนานเป็นแสนปี หมื่นปี และในจำนวนแสนปี หมื่นปีนั้น ไม่ได้มีรอบเดียว. จึงทำให้ ประวัติการเกิดการตายของมนุษย์นั้น ยาวนานควบคู่ไปกับอายุของจักรวาล เลยทีเดียว. “ ... เพราะเหตุว่า สงสาร (สังสารวัฏ) นี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฎ ...”  (บาลี - นิทาน. สํ. 16/217/435.) [สัตว์ผู้มีอวิชชา ท่องเที่ยวไปนั้น มีมนุษย์รวมอยู่ด้วย]

 

ตถาคต เป็นผู้รู้ลึกซึ้งที่สุด เกี่ยวกับมนุษย์. พระองค์ได้กล่าวถึงการเกิดสังคมมนุษย์ ไว้ว่า [15]

 

“ ... มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราว โดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล ที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดใน อาภัสสรพรหม (อาภสฺสร) สัตว์เหล่านั้น ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน. [มนุษย์ที่มีร่างกายแบบนี้ ย่อมมีอายุยาวนานมาก อาจยาวเท่ากับอายุของดาวฤกษ์ เพราะไม่ต้องรักษาร่างอาศัยแบบมนุษย์ปัจจุบัน.]

... เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้นอยู่ โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจุติ (เคลื่อน) จากอาภัสสรพรหม (อาภสฺสรกายา) ลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์เหล่านั้น ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ก็ใน สมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้ เป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ก็ยังไม่ปรากฎ ดาวนักษัตรและดาวทั้งหลาย ก็ยังไม่ปรากฎ กลางวันและกลางคืน ก็ยังไม่ปรากฎ เดือนและปักษ์ ก็ยังไม่ปรากฎ ฤดูและปี ก็ยังไม่ปรากฎ เพศชายและเพศหญิง ก็ยังไม่ปรากฎ สัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งการนับเพียงว่าสัตว์ (สตฺต) เท่านั้น.

... ครั้นต่อมา โดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล ได้เกิดมีง้วนดิน (รสปฐวี) ขึ้นปรากฎแก่สัตว์เหล่านั้น ง้วนดินนี้ลอยอยู่ทั่วไปบนน้ำ เหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็น จับเป็นฝ้าอยู่ข้างบน ง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็ก อันหาโทษมิได้.

เมื่อสัตว์เหล่านั้น พากันเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ รสของง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเกิดความอยากขึ้น ต่อมาก็ได้พากันพยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ ด้วยมือแล้วบริโภค ในคราวที่พากันบริโภคง้วนดินอยู่ รัศมีกายของสัตว์เหล่านั้นก็ได้หายไป เมื่อรัศมีกายหายไป ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมปรากฎ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ปรากฎ ดาวนักษัตรและดาวทั้งหลายย่อมปรากฎ เมื่อดาวนักษัตรและดาวทั้งหลายปรากฎ กลางคืนและกลางวันย่อมปรากฎ เมื่อกลางคืนและกลางวันปรากฎ เดือนและปักษ์ย่อมปรากฎ เมื่อเดือนและปักษ์ปรากฎ ฤดูและปีย่อมปรากฎ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล โลกนี้จึงกลับเจริญขึ้นอีก.

ครั้นต่อมา สัตว์เหล่านั้น พากันบริโภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน ด้วยเหตุที่สัตว์เหล่านั้น มัวเพลิดเพลินบริโภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฎว่าแตกต่างกันออกไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม ได้พากันดูหมิ่นสัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งาม เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้น เกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินจึงหายไป.

เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว ก็ได้เกิดมีกระบิดิน (ภูมิปปฺปฏิก) ขึ้น สัตว์เหล่านั้นได้ใช้กระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่สิ้นกาลช้านาน ผิวพรรณก็ปรากฎว่าแตกต่างกันออกไป ด้วยเพราะมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย กระบิดินจึงหายไป เมื่อกระบิดินหายไปแล้ว ก็ได้เกิดมีเครือดิน (ปทาลตา) ขึ้น สัตว์เหล่านั้นได้ใช้เครือดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่สิ้นกาลช้านาน ผิวพรรณก็ปรากฎว่าแตกต่างกันออกไป ด้วยเพราะมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารถผิวพรรณเป็นปัจจัย เครือดินจึงหายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว ก็ได้เกิดมีข้าวสาลีเกิดขึ้น ในที่ที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นสัตว์เหล่านั้น นำเอาข้าวสาลี ใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลีนั้น ก็มีเมล็ดสุกแล้วงอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้าสัตว์เหล่านั้น นำเอาข้าวสาลีใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็นข้าวสาลีนั้น ก็มีเมล็ดสุกแล้วงอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฎว่าบกพร่องไปเลย สัตว์เหล่านั้นจึงได้บริโภคข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงอยู่สิ้นกาลช้านาน ด้วยประการที่สัตว์เหล่านั้น มีข้าวสาลีเป็นอาหาร ดำรงอยู่สิ้นกาลช้านาน.

สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฎว่าแตกต่างกันออกไป สตรีก็มีเพศหญิงปรากฎ และบุรุษก็มีเพศชายปรากฎ ด้วยว่า สตรีก็เพ่งดูบุรุษอยู่เสมอ และบุรุษก็เพ่งดูสตรีอยู่เสมอ เมื่อคนทั้งสองเพศ ต่างก็เพ่งดูกันและกันอยู่เสมอ ก็เกิดความกำหนัด เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย เพราะความเร่าร้อนเหล่านั้นเป็นปัจจัย เขาทั้งสองจึงเสพเมถุนธรรมกัน . ...”

 


[15]  พระสูตรที่ว่าด้วยเกี่ยวกับมนุษย์นั้น คือการบอกเล่าว่าสังคมมนุษย์เกิดขึ้นมาอย่างไร และ มีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ส่งผลต่อการมีอายุขัยของมนุษย์. ดู “การเกิดสังคมมนุษย์.”  พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 203-215. | บาลี - ปา. ที. 11/92/56.

 

การเสพเมถุน (การร่วมเพศ) เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้มนุษย์ เกิดการวิวัฒน์ทั้งทางร่ายกายและทางสังคมตามมา. มีการตั้งบ้านเรือนที่อาศัย เพื่อปกปิคความไม่งามต่างๆ เช่น ปกปิดการเสพเมถุน การแย่งชิงการวิวาทกัน เรื่องอาหารและที่ดิน. ทำให้เกิดระบบชนชั้นปกครอง (กษัตริย์) เข้ามาควบคุม แก้ไข พฤติกรรมที่เบียดเบียนกัน เช่น มี การอบรมขัดเกลานิสัย การควบคุมสืบทอดความเชื่อ พิธีกรรม. ต่อมา เกิดชนชั้นนักบวช (พราหมณ์) นักประกอบการณ์การค้าอาชีพ (แพศย์) กสิกร กรรมาชน (ศูทร) ก็เกิดขึ้นในลำดับถัดมา. เกิดภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ ลัทธิ การปกครอง อีกมากมายตามมา. แต่มนุษย์ก็ยังวิวาทแย่งชิงทำร้ายกัน แบ่งแยก เหยียดสีผิว ชาติกำเนิด (จันทาล) ซึ่งในพระสูตรได้กล่าวไว้อย่างละเอียด. จนในที่สุด มนุษย์ก็ควบคุมกิเลสของตัวเองไม่ได้ ความชั่วร้ายก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง จนทำให้อายุขัยของตน สั้นลงไปเรื่อยๆ จนกลับไปสู่ยุคของความโกลาหล (กลียุค) อีกครั้ง.

 

มีพระสูตรบทหนึ่ง ที่ตถาคตได้บรรยาย ภาวะวิกฤตของสังคมมนุษย์ หลังจากมนุษย์มีอายุค่อยๆ ลดลง จนเหลือต่ำกว่า 100 ปี อันเกิดจากการไร้ศีลธรรมอย่างหนัก.

“สมัยนั้น จักมีสมัยที่มนุษย์มีอายุขัยลดลงมา เหลือเพียง 10 ปี (จักมีลักษณะแห่งความเสื่อมเสีย มีประการต่างๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า) หญิงอายุ 5 ปี ก็มีบุตร. รสทั้งห้า คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และรสเค็ม ก็ไม่ปรากฎ. มนุษย์ทั้งหลาย กินหญ้าที่เรียกว่า กุท๎รูสกะ (ซึ่งนิยมแปลกันว่าหญ้ากับแก้) แทนการกินข้าว. กุศลกรรมบถหายไป ไม่มีร่องรอย, อกุศลกรรมบถ รุ่งเรืองถึงที่สุด. ในหมู่มนุษย์ ไม่มีคำพูดว่ากุศล จึงไม่มีการทำกุศล. มนุษย์สมัยนั้น จักไม่ยกย่องสรรเสริญ ความเคารพเกื้อกูลต่อมารดา (มัตเตยยธรรม), ความเคารพเกื้อกูลต่อบิดา (เปตเตยยธรรม), ความเคารพเกื้อกูลต่อสมณะ (สามัญญธรรม), ความเคารพเกื้อกูลต่อพราหมณ์ (พรหมัญญธรรม), และกุลเชฏฐาปจายนธรรม, เหมือนอย่างที่มนุษย์ยกย่องกันอยู่ในสมัยนี้ . ไม่มีคำพูดว่า แม่ น้าชาย น้าหญิง พ่อ อา ลุง ป้า ภรรยาของอาจารย์ และคำพูดว่า เมียของครู. สัตว์โลกจักกระทำการสัมเภท (สมสู่สำส่อน) เช่นเดียวกันกับแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัข สุนัขจิ้งจอก. ความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดฆ่า เป็นไปอย่างแรงกล้า แม้ในระหว่างมารดากับบุตร บุตรกับมารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา พี่กับน้อง น้องกับพี่ ทั้งชายและหญิง เหมือนกับที่นายพราน มีความรู้สึกต่อเนื้อทั้งหลาย. ในสมัยนั้น จักมี สัตถันตรกัปป์ (การใช้ศัสตราวุธติดต่อกันไม่หยุดหย่อน) ตลอดเวลา 7 วัน. สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จักมีความสำคัญแก่กันและกัน ราวกะว่าเนื้อ ; แต่ละคนมีศัสตราวุธในมือ ปลงชีวิตซึ่งกันและกันราวกะว่า ฆ่าปลา ฆ่าเนื้อ.” (บาลี - ปา. ที. 11/70/39.)

 

การฆ่าสังหารกัน ทำให้คนเลวตายเป็นอันมาก แต่คนดีมีศีลจะยังเหลืออยู่. เมื่อคนเลวน้อยลง คนดีก็ค่อยๆ เพิ่มทวีจำนวนขึ้น (แต่ก็ใช้เวลาอันยาวนานมากเช่นกัน), มนุษย์ที่มีศีล ก็จะวิวัฒน์ตัวเอง พัฒนาจิตวิญญาณให้สูงขึ้น เป็นเหตุให้มนุษย์ค่อยๆ พัฒนาอายุสูงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งกลับมามีอายุขัยถึง 80,000 ปีอีกครั้ง. ในภพของมนุษย์ จะอาศัยร่างที่มีอายุขัยสูงสุดได้ ไม่เกินเท่านี้ หรือมากกว่าเล็กน้อย แต่ในภพของเทวดานั้น อาศัยร่างอันเป็นทิพย์ (มีร่างที่สำเร็จด้วยใจ) จึงมีอายุขัยได้ยาวนานกว่าเป็นล้านเท่า.

 

สาเหตุที่ เทวดาบางพวก ปรารถนาจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อาจจะด้วยสาเหตุที่มนุษย์ มีอายุสั้นกว่า มีร่างกาย มีสมอง มีอวัยวะเหมาะแก่การประฤติธรรม กว่าการเป็นเทวดา ซึ่งจะทำให้บรรลุธรรมเร็วกว่า. ส่วน มนุษย์อริยะชน ผู้เห็นโทษของวัฏสงสาร การเกิด-ดับ ย่อมสะสมคุณธรรม ไว้เป็นเครื่องป้องกันภัยอันตราย เช่น คุณธรรม 4 ข้อ (ผู้ประกอบด้วย กำลัง 4 ประการ) คือ การได้สะสม ‘พลังบวก' ลงไปในปัญญา (กำลังปัญญา) ในความเพียรพยายาม (กำลังความเพียร) ในการประกอบ ธุรกรรมที่มีแต่คุณประโยชน์ (กำลังการงานอันไม่มีโทษ) และ ในการเอื้อเฟื้อให้ทาน ให้ความช่วยเหลือ (กำลังการสงเคราะห์). ทำให้รู้สึกมีความมั่นคงในชีวิต เกิด พลังบวก ที่จะทำให้ภัยอันตรายต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงตัวได้ (สิ่งนั้นทำอันตรายไม่ได้).

ตถาคต กล่าวว่า ภัย 5 ประการต่อไปนี้ [16] คือสิ่งที่มนุษย์ปุถุชนทุกคนกลัว ได้แก่.

 

(1) อาชีวิตภัย คือ ภัยที่กระทบต่อชีวิต และการเลี้ยงชีวิต เช่น การถูกฆ่า สังหาร การสูญเสียสวัสดิภาพ สวัสดิการต่างๆ รวมทั้งภัยทางสังคมทุกชนิด.

(2) อสิโลกภัย คือ ภัยจากการถูกติเตียน นินทา ว่าร้ายต่างๆ.

(3) ปริสสารัชภัย คือ ภัยจากการความเกรงกลัวสะทกสะท้านในสังคม เพื่อน ผู้ร่วมงาน เช่น อาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม.

(4) มรณภัย คือ ความตาย (กลัวตาย).

(5) ทุคติภัย คือภัยที่จะได้รับ เมื่อหลังตายแล้ว เช่น กลัวว่าจะไม่ได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี เกรงจะได้เกิดเป็น สัตว์นรก เปรต.

 


[16] “ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย .”  พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 13. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 178. | บาลี - นวก. อํ. 23/439/209.

 

ในภพมนุษย์ สามารถสร้างอริยคุณ ระดับโสดาบันได้ทั้ง 3 แบบ คือ โสดาบัน ผู้เอกพีชี (เกิดอีกคราวเดียว ในภพมนุษย์ แล้วจะได้ อรหัตตผล/นิพพาน) โสดาบัน ผู้โกลังโกละ (เกิดในภพมนุษย์ หรือ ภพเทวดา ในสองหรือสามคราว แล้วจะได้ อรหัตตผล/นิพพาน) โสดาบัน ผู้สัตตักขัตตุปรมะ (เกิดในภพมนุษย์บ้าง ภพเทวดาบ้าง สลับกันไป ไม่เกิน 7 คราว แล้วจะได้ อรหัตตผล/นิพพาน). มนุษย์ปุถุชน ที่เกิดมาในภพมนุษย์นี้แล้ว ไม่รักษาศีล ไม่ทำทาน ตายไปย่อมไปเกิดในภพนรก จะได้มาเกิดในภพมนุษย์อีกนั้น โอกาสแทบไม่มีเลย.

 

มนุษย์แบ่งชนชั้นกันด้วยคุณธรรม, กษัตริย์ เป็นวรรณะประเสริฐกว่า พราหมณ์ แพทย์ และ ศูทร. พระอริยะ (ตั้งแต่ระดับโสดาบันเป็นต้นไป) มีวรรณะประเสริฐกว่า เทวดาและมนุษย์. “กษัตริย์ประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ในหมู่เทวดาและมนุษย์.”

ข้อดีของมนุษย์ เมื่อเทียบกับ เทวดาชั้นดาวดึงส์. “ ... มนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีป ประเสริฐกว่าพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ และพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป ด้วยฐานะ 3 ประการ ... คือ (1) ไม่มีทุกข์ (2) ไม่มีความหวงแหน (3) มีอายุแน่นอน ... มนุษย์ชาวชมพูทวีป ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีป และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ 3 ประการ . ... คือ (1) เป็นผู้กล้า (2) เป็นผู้มีสติ (3) เป็นผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันเยี่ยม ...”  (บาลี - สตฺตก. อํ. 23/408/225.)

นอกจากนี้ วรรณะและตระกูลของมนุษย์ วัดกันที่คุณธรรมและความมั่งคั่งทางทรัพย์สิน. มนุษย์ ตระกูล (จากสูงไปต่ำ) ได้แก่ พระเจ้าจักรพรรดิ จกฺกวตฺติ) กษัตริย์มหาศาล (ขตฺติยมหาสาลกุเล) พราหมณ์มหาศาล (พฺราหฺมณมหาสาลกุเล) คหบดีมหาศาล (คหปติมหาสาลกุเล). มนุษย์ตระกูลต่ำ ได้แก่ตระกูลจัณฑาล ตระกูลพราน ตระกูลจักสาน ตระกูลช่างทำรถ ตระกูลเทขยะ.

 

(5) เทวดา ( เทวา - Gods | divine)

 

 

เทวดา เป็นมนุษย์อีกพวกหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติของร่างกาย แตกต่างจากมนุษย์โลก. ตถาคต เป็นผู้ที่รู้ชัด ในฐานะและวิสัยของเทวดา เป็นอย่างดี [17] พระองค์แบ่งเทวดา และพรหม (เทวดาพวกหนึ่ง) ออกเป็นระดับชั้น มีฐานะสูง-ต่ำ ตามลำดับคุณธรรม และความสามารถทางจิต (ฌาน) ไว้ดังนี้.

 


[17] “ผลแห่งความประพฤติเรียบร้อย.”   พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์ ].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 246. | บาลี มู. ม. 12/517/483.

 

ก. เทวดาที่มีวรรณะต่ำสุด

เป็นเทวดาที่อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด. ได้แก่ เทวดาที่นับเนื่องในหมู่คนธรรพ์ (เทวดาที่อาศัยอยู่ในต้นไม้ที่มีกลิ่น - นางไม้) และ เทวดาที่นับเนื่องในหมู่วลาหก (เทวดาที่อาศัยอยู่ในก้อนเมฆ - ม้าเมฆ). เทวดาที่นับเนื่องในหมู่คนธรรพ์ มีผู้นำชื่อ ธตรฐ แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ตามถิ่นที่อาศัยในส่วนต่างๆ ของต้นไม้ที่มีกลิ่น เช่น ราก เปลือก ลำต้น ใบ.[18]  เทวดาที่นับเนื่องในหมู่วลาหก แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ตามถิ่นที่อาศัยในส่วนต่างๆ ของก้อนเมฆ เช่น เมฆเย็น เมฆร้อน หมอก ลม ฝน. (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/314/542.) เทวดาในชั้นนี้ นอกจากจะมีพวกคนธรรพ์และวลาหกแล้ว ยังมีสัตว์กึ่งเทวดาอาศัยอยู่ ได้แก่ นาค (มีผู้นำชื่อ วิรูปักษ์), ครุฑ (มีผู้นำชื่อ วิรุฬหก), ยักษ์ (มีผู้นำชื่อ เวสสุวัณ).

 


[18] “เทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์ .”   พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์].  E-tipitaka v3.0.6, หน้า 305. | บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/309/536.

 

ข. เทวดาเหล่ากามภพ

เทวดาในชั้น กามาวจรภูมิ ยังมีอารมณ์กามแบบมนุษย์. สัตว์ที่มาอุบัติเป็นเทวดาในชั้นนี้ เพราะ เคยทำทาน และรักษาศีล (แต่ไม่ได้ ฌาน). มนุษย์ ที่ทำทานและรักษาศีล (แต่ไม่ได้ ฌาน) ตายไป จะได้มาเกิดในภพนี้ แต่จะได้ชั้นใด ขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณของทาน และความบริสุทธิ์ของศีลที่รักษา. กามาวจรภูมิ แบ่งเป็น 6 ระดับชั้น คือ จาตุมหาราชิกา, ดาวดึงส์ (มีผู้นำชื่อ สักกะ), ยามา (มีผู้นำชื่อ สุยาม), ดุสิต (มีผู้นำชื่อ สันดุสิต), นิมมานรดี (มีผู้นำชื่อ สุนิมมิต), ปรนิมมิตวสวัตตี (มีผู้นำชื่อ วสวัตตี).

 

ยังมีเทวดาอีกพวกหนึ่ง คือ สกทาคามี แต่มีอริยคุณ สูงกว่าเทวดาเหล่าอื่น ในชั้นกามาวจรภูมิ เป็นผู้ทำทานมาก รักษาศีลระดับเคร่ง. มนุษย์ ที่ทำทานให้มาก และรักษาศีลเคร่ง (อุโบสถศีล) ตายไป จะได้มาเกิดเป็นเทวดา ในชั้นดุสิต เรียกว่า สกทาคามี. จากนั้น จะเกิดอีกเพียงครั้งเดียวในภพนี้ แล้วจะละสังโยชน์ 3 ได้ (คือ ละกามได้ไม่ทั้งหมด แต่ไม่ได้ ฌาน) ตายไป ก็จะยังเวียนมาเกิดในภพนี้อีก เพื่อปรินิพพานที่นี่.

เหตุที่ไม่ได้ไปเกิดใน ชั้นพรหม เพราะยังละกามได้ไม่หมด และไม่ได้ ฌาน. อริยบุคคลระดับโสดาบัน ก็แบบเดียวกันนี้ จะเวียนสลับไปเกิด ในภพมนุษย์และเทวดา ในชั้นกามภพนี้ เช่นเดียวกัน แต่ไม่เกิน 7 คราว (คราวที่ 7 จะไปจบลง หรือ ปรินิพพาน ที่พรหมชั้น อกนิษฐะ).

 

เทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นที่รวมเทวดาชั้นต่ำทั้งหมด เช่น เทวดาที่นับเนื่องในหมู่คนธรรพ์ เทวดาที่นับเนื่องในหมู่วลาหก รวมทั้งสัตว์กึ่งเทวดา. เทวดาในชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นที่อยู่ของเทวดา ที่มีฤทธิ์ทางใจ เรียกว่า มาร เทวดาพวกนี้มีฤทธิ์มาก สามารถเดินทางไปได้ทั่วกามภพ (ไปได้ทั้ง 6 ชั้นในกามาวจรภูมิ). บางคราว สัตว์พวกอสูร ที่มีฤทธิ์มาก มาจากชั้นภพนรก ก็ขึ้นมารุกสถานที่ บนสวรรค์นี้ได้เช่นกัน. ทำให้เกิดสงคราม ระหว่างพวกเทพกับอสูร . แม้ในศาสนาอื่น ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ เทพ-อสูร เช่นเดียวกัน. เทพนิยาย นวนิยายแนวแฟนตาซี อภินิหาร ที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ก็อาศัยโครงเรื่อง ที่มาจากเรื่องเล่าในโลกของเทวดาเช่นกัน.

 

สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับมนุษย์ คือ เมื่อเข้าไปอยู่ใน มิติเวลาของสวรรค์ นรก. ตถาคตทรงเปรียบเทียบ วันเวลาบนโลกมนุษย์ กับวันเวลาบนสวรรค์ชั้นกามภพ ไว้ดังนี้ [19]

50 ปี บนโลกมนุษย์ เท่ากับ 1 วัน (1 วัน 1 คืน) ของเทวดาชั้น จาตุมหาราชิกา เทวดาชั้นนี้ มีอายุประมาณ 500 ปีสวรรค์ หรือประมาณ 9,125,000 ปีมนุษย์. (การเทียบ วัน เดือน ปี บนสวรรค์ ใช้แบบเดียวกับโลกมนุษย์ คือ 30 วัน เท่ากับ 1 เดือน และ 12 เดือน เท่ากับ 1 ปี สวรรค์ของเทวดาชั้นกามภพทั้ง 6 ชั้น ก็คิดจำนวนปี เดือน วัน แบบเดียวกัน)

100 ปี บนโลกมนุษย์ เท่ากับ 1 วัน ของเทวดาชั้น ดาวดึงส์ เทวดาชั้นนี้ มีอายุประมาณ 1,000 ปีสวรรค์ หรือประมาณ 36,500,000 ปีมนุษย์.

200 ปี บนโลกมนุษย์ เท่ากับ 1 วัน ของเทวดาชั้น ยามา เทวดาชั้นนี้ มีอายุโดยประมาณ 2,000 ปีสวรรค์ หรือประมาณ 146,000,000 ปีมนุษย์.

400 ปี บนโลกมนุษย์ เท่ากับ 1 วัน ของเทวดาชั้น ดุสิต เทวดาชั้นนี้ มีอายุโดยประมาณ 4,000 ปีสวรรค์ หรือประมาณ 584,000,000 ปีมนุษย์.

800 ปี บนโลกมนุษย์ เท่ากับ 1 วัน ของเทวดาชั้น นิมานนรดี เทวดาชั้นนี้ มีอายุโดยประมาณ 8,000 ปีสวรรค์ หรือประมาณ 2,336,000,000 ปีมนุษย์.

1,600 ปี บนโลกมนุษย์ เท่ากับ 1 วัน ของเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัสตี เทวดาชั้นนี้ มีอายุโดยประมาณ 16,000 ปีสวรรค์ หรือประมาณ 9,344,000,000 ปีมนุษย์.

 


[19] “อานิสงส์การรักษาอุโบสถ. ” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์].  E-tipitaka v3.0.6, หน้า 302. | บาลี - เอก. อํ. 20/263/510.

 

ค. เทวดาที่อาศัยรูป (ร่าง ที่ปั้นขึ้นทางใจ - รูปภพ)

เป็นเทวดาที่เกิดใน รูปาวจรภูมิ หรือ รูปพรหม (เทวดาชั้นนี้ จะถูกเรียกว่า พรหม) ได้แก่เทวดาที่เรียกว่า พรหมกายิกา เป็นเทวดาที่อยู่ใกล้มนุษย์มากที่สุด อีกพวกหนึ่ง เป็นผู้กระทำจิตได้สมาธิ ระดับฌานที่ 1 (ปฐมฌาน) หรือเจริญเมตตา ให้ทาน ละความตระหนี่ (อย่างใดอย่างหนึ่ง). หากเป็นมนุษย์ ถ้าทำจิตได้สมาธิ ระดับฌานที่ 1 แล้วตายไป ก็จะได้เกิดเป็นเทวดาในภพนี้ มีอายุประมาณ 1 กัป มี 3 ชั้นย่อย ได้แก่ พรหมปาริสัชชา, พรหมปุโรหิตา, และ มหาพรหมา. ถ้าเป็นเทวดา ก็จะเป็นผู้กระทำจิตได้สมาธิ ระดับฌานที่ 2 (ทุติยฌาน) หรือ เจริญกรุณาให้มาก (อย่างใดอย่างหนึ่ง). หากเป็นมนุษย์ ถ้าทำจิตได้สมาธิ ระดับฌานที่ 2 แล้วตายไป ก็จะได้เกิดเป็นเทวดาในภพนี้ มีอายุ 2 กัป ได้แก่พรหมชั้น อาภา, ปริตรตาภา, อัปปมาณาภา, อาภัสสระ. ถ้าเป็นเทวดา ก็จะเป็นผู้กระทำจิตได้สมาธิ ระดับฌานที่ 3 (ตติยฌาน) หรือเจริญมุทิตาจิตให้มาก (อย่างใดอย่างหนึ่ง). หากเป็นมนุษย์ ถ้าทำจิตได้สมาธิ ระดับฌานที่ 3 แล้วตายไป ก็จะได้เกิดเป็นเทวดาในภพนี้ มีอายุ 4 กัป ได้แก่พรหมชั้น สุภา, ปริตตสุภา, อัประมาณสุภา, สุภกิณหกะ . ถ้าเป็นเทวดา ก็จะเป็นผู้กระทำจิตได้สมาธิ ระดับฌานที่ 4 (จตุตถฌาน) หรือเจริญอุเบกขาให้มาก (อย่างใดอย่างหนึ่ง). หากเป็นมนุษย์ ถ้าทำจิตได้สมาธิ ระดับฌานที่ 4 นี้ และตายไป จะได้เกิดเป็นเทวดาในภพนี้ มีอายุ 500 กัป ได้แก่พรหมชั้น เวหัปผละ.

 

เทวดาในชั้นพรหมกายิกา เมื่อตายไป จะไปเกิดเป็นพรหมชั้น สุทธาวาส เป็นอนาคามี อีกครั้ง (ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภพอีก) และ ละสังโยชน์ 5 ได้แล้ว จะเกิดอีกครั้งเดียวและ ปรินิพพานในที่นี้. เป็นเทวดาชั้นพิเศษ ที่มีอายุยาวที่สุด จนมองไม่เห็นความเสื่อม บางครั้งเรียกเทวดาพวกนี้ว่า อสัญญีสัตว์ หรือสัตว์พวกไม่มีสัญญา (มีรูปก็ไม่ใช่ ไม่มีรูปก็ไม่ใช่) เป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ คือ พระอนาคามี. เทวดาในชั้นรูปภพ แบ่งย่อยชั้นออกเป็น อวิหา, อตัปปา, สุทัสสา, สุทัสสี, และ อกนิฏฐะ.

 

ง. เทวดาที่ไม่ต้องอาศัยรูป (อรูปภพ)

เทวดาที่ไม่ต้องอาศัยรูป ได้แก่ เทวดาจำพวก อรูปพรหม เป็นผู้กระทำจิต ได้สมาธิเกินฌานที่ 4 อาศัยร่างอันละเอียดมาก จนไม่รู้สึกว่ามีรูปอาศัยอยู่ แบ่งย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ผู้เข้าถึง อากาสานัญจายตนภพ มีอายุประมาณ 10,000 กัป. ผู้เข้าถึง วิญญาณัญจายตนภพ มีอายุประมาณ 40,000 กัป. ผู้เข้าถึง อากิญจัญญายตนภพ  มีอายุประมาณ 60,000 กัป. และ ผู้เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนภพ รวมทั้ง เทวดาพวกอสัญญีสัตว์. เทวดาชั้นนี้ไม่ได้ระบุอายุไว้ ซึ่งมีอายุยาวนานที่สุด.

 

นอกจากนี้ ยังมีเทวดาเหล่าอื่นๆ อีก เช่น เทวดาเหล่ามนาปกายิกา (บาลี - สตฺตก. อํ. 23/269/136.) เทวดาที่เกี่ยวพันกับมนุษย์โดยตรง เช่น พวกเทวดา ที่เข้าถือเอาพื้นที่ (ปริคฺคณฺห) ของ มนุษย์ ก็จะได้ที่อยู่ซึ่งมนุษย์จัดสร้างให้ “ ... เทวดาเป็นอันมากนับเป็นพันๆ เข้าถือเอาพื้นที่ (ปริคฺคณฺห) ในปาฏลิคามด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ เข้าถือเอาพื้นที่ในส่วนใด จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ ผู้มีศักดิ์ใหญ่ ก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในส่วนนั้น ...”

 

จะเห็นว่า การแบ่งชั้นของมนุษย์ทำได้จำกัด อันเนื่องมาจาก การอาศัยร่างที่ต้องมีอาหารบำรุง แต่เทวดา ไม่มีร่างกายแบบมนุษย์ ทำให้พวกเทวดา มีความแตกต่างทางภายภาพมากกว่า. เทวดา ไม่ต้องกินอาหารแบบมนุษย์ ต้องการสิ่งใด ก็ใช้วิธีการสร้างมโนภาพขึ้นมา ให้เป็นวัตถุ ก็จะได้สิ่งนั้น. การสร้างมโนภาพของเทวดา เรียกว่า เนรมิต. วัตถุที่ถูกเนรมิตขึ้นมานั้น ก็ไม่ใช่วัตถุจริง แต่เป็นวัตถุในเชิงจินตภาพ และเรียกสิ่งที่เนรมิตขึ้นมาว่าเป็น วัตถุทิพย์ (divine things) เช่น อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ เป็นต้น.

 

ระหว่างมนุษย์กับเทวดา ใครประเสริฐกว่ากัน, ตถาคต กล่าวไว้ว่า “ ... เทวดาชั้นดาวดึงส์ ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีป และพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป ด้วยฐานะ 3 ประการ คือ (1) อายุทิพย์ (2) วรรณะทิพย์ (3) สุขทิพย์.”  (บาลี - สตฺตก. อํ. 23/408/225.) ในความเป็นเพศของเทวดานั้น ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สิ่งที่เพศหญิงเป็นไม่ได้ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระเจ้าจักรพรรดิ เทวดาสักกะ (หัวหน้าเทวดา) มาร (เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสตี) และ พรหม. (บาลี - อุปริ. ม. 14/172/245.)

 

สิ่งที่เป็นทิพย์ของเทวดา ถูกปรุงแต่งขึ้นมาทางใจ เช่น ความสุขในสวรรค์เปรียบเหมือน พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยแก้ว 7 ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คหบดีแก้ว และปรินายกแก้ว (บาลี - อุปริ. ม. 14/324/488.) ลักษะของนางแก้วบนสวรรค์ ที่ตถาคต บรรยายไว้ คือ “ ... พระเจ้าจักรพรรดิย่อมปรากฎนางแก้วรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ล่วงผิวพรรณของมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงผิวพรรณทิพย์ มีสัมผัสทางกายปานประหนึ่ง สัมผัสปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย นางแก้วนั้นมีตัวอุ่นในคราวหนาว มีตัวเย็นในคราวร้อน มีกลิ่นดังกลิ่นจันทน์ฟุ้งไปแต่กาย มีกลิ่นดังกลิ่นอุบลฟุ้งไปแต่ปาก นางแก้วนั้นมีปกติตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังบรรหารใช้ (ตรัสสั่ง) ประพฤติถูกพระทัย ทูลปราศรัยเป็นที่โปรดปรานต่อพระเจ้าจักรพรรดิ และไม่ประพฤติล่วงพระเจ้าจักรพรรดิแม้ทางใจ ไฉนเล่า จะมีการประพฤติล่วงทางกายได้.”

 

รอบชีวิตหนี่งของเทวดา เทียบกับอายุของมนุษย์ไม่ได้เลย แตกต่างกันมากมาย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่แตกต่างกันคือ หลังตายไปแล้ว ทั้งมนุษย์และเทวดา มักจะไปเกิดในภพนรกบ้าง กำเนิดเดรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง สลับกันไปตามพฤติการณ์ (กรรม) ของแต่ละผู้ที่สะสมไว้. โอกาสจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นยากยิ่ง (แม้ภพปัจจุบัน จะได้เป็นเทวดาก็ตาม). ถ้ามนุษย์หรือเทวดาผู้นั้น ได้บรรลุธรรมขั้นโสดาบันขึ้นไป จึงจะมีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์. มนุษย์ปุถุชน พระโสดาบัน และ พระสกทาคามี ย่อมไม่ไปเกิดในภพ สุทธาวาส, พระอริยะทั้งหลาย ก็จะไม่เกิดใน อสัญญีภพ หรือ สุทธาวาส และ ภพอบาย (นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย อสุรกาย) แต่ในภพภูมินอกจากนี้ ย่อมมีทั้งพระอริยะ และมิใช่พระอริยะไปเกิด.

 

ความยาวนาน 1 กัป ตถาคตเปรียบไว้ว่า “ ... เหมือนอย่างว่า ภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่งไม่มีช่อง ไม่มีโพรงเป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมาแล้ว ปัดภูเขานั้น 100 ปีต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป กัปนานอย่างนี้แล ... ”  (บาลี - นิทาน. สํ. 16/215/429.) และอีกพระสูตรหนึ่ง ทรงเปรียบเทียบความยาวนานของกัป ไว้อีกว่า “ ... เหมือนอย่างว่า นครที่ทำด้วยเหล็ก ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน บุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่งๆ ออกจากนครนั้นโดยล่วงไปหนึ่งร้อยปีต่อเมล็ด เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้น พึงถึงความสิ้นไป หมดไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นไป หมดไป กัปนานอย่างนี้แล ...”  (บาลี - นิทาน. สํ. 16/216/431.)

 

 

 

4 . 1 . 4
ภพ ชาติ ของนามรูป
– วิญญาณ – สังขาร

 

หลักปฏิจจสมุปบาท บอกไว้ว่า วิญญาณ จะปรากฎขึ้น ก็ต่อเมื่อมี อวิชชา สังขาร เกิดขึ้นมาก่อน, “เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ”. ธรรมชาติของวิญญาณ จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ มันต้องการ รูป เวทนา สัญญา สังขาร อย่างใดอย่างหนึ่ง (คราว ละอย่าง) เป็นที่ตั้งอาศัย เพื่อ “ชี้เบาะแส” ให้ สัตตา หรือ สัตว์ [20] เข้าไป “ยึดครอง” แล้วปรุงแต่งเป็นรูป เป็นอารมณ์ต่างๆ รวมกันเรียกว่า ขันธ์-5.

 

เมื่อกาลเวลาผ่านไป สิ่งที่ สัตตา ยึดครองอยู่นั้น (ขันธ์-5) แตกสลาย (ตาย) มันก็จะไปแสวงหาร่างใหม่ (ขันธ์-5) ต่อไป โดยผ่านการชี้เบาะแสของวิญญาณ. ทำให้สัตว์นั้น เวียนเกิด เวียนตาย เป็นวัฏจักรไปตลอดกาล. การที่วิญญาณ เข้าไปตั้งอาศัยอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร สถานที่นั้น หรือสิ่งนั้นก็คือ ภพ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิญญาณฐิติ. ตถาคตเปรียบ วิญญาณ เหมือนแสง ภพ เหมือนฉาก. การเกิดของวิญญาณกับภพ จะอาศัยกันและกันเกิด, เมื่อมีภพจึงมีวิญญาณ เมื่อมีวิญญาณจึงมีภพ. อีกตัวอย่างคือ วิญญาณ เหมือนเมล็ดพืช ภพ เหมือนผืนนา, การงอก คือ ชาติ สิ่งที่ทำให้งอก คือ น้ำ (นันทิ ราคะ). ดังนั้น วิญญาณ ภพ ชาติ จึงเป็นธัมมะธาตุ ที่ทำให้เกิดระบบชีวิต ทุกระดับในโลก.

 


[20]  ความหมายของ สัตว์ ตถาคตกล่าวว่า “ ... ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิน) ตัณหา (ความ อยาก) ใดๆ มีอยู่ในรูป … เวทนา ... สัญญา ... สังขาร เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วในรูปนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “สัตว์” (ผู้ข้องติดในขันธ์-5) ... ” ดู “ความหมายของคำว่า ‘สัตว์'.”  พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์]. E-tipitaka v3.0.6, หน้า 23. | บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/232/367.

 

 


•  พุทธวจน – ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ (วิญญาณฐิติ 7)

“อานนท์ ! วิญญาณฐิติ (ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ) 7 เหล่านี้ และ อายตนะ 2 มีอยู่.
วิญญาณฐิติ 7 เหล่าไหนเล่า ? วิญญาณฐิติ 7 คือ :-

อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย (สตฺตา) มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน มีอยู่ ได้แก่ มนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก และวินิบาตบางพวก นี้คือ วิญญาณฐิติที่ 1.

อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพ
ผู้นับเนื่องในหมู่พรหมที่บังเกิดโดยปฐมภูมิ (ปฐมานิพฺพตฺตา) นี้คือ วิญญาณฐิติที่ 2.

อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพอาภัสสระ นี้คือ วิญญาณฐิติที่ 3.

อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่ ได้แก่ พวกเทพ สุภกิณหะ นี้คือ วิญญาณฐิติที่ 4 .

อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่ง รูปสัญญา (ความหมายรู้ในรูป) โดยประการ ทั้งปวง เพราะความดับไปแห่ง ปฏิฆสัญญา (ความหมายรู้ อันไม่น่ายินดีในส่วนรูป) เพราะไม่ ใส่ใจ นานัตตสัญญา (ความหมายรู้ อันมีประการต่างๆ ในส่วนรูป) จึงเข้าถึง อากาสานัญจายตนะ มีการทำในใจว่า “อากาศไม่มีที่สุด” ดังนี้ มีอยู่ นี้คือ วิญญาณฐิติที่ 5.

อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่ง อากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้า ถึง วิญญาณัญจายตนะ มีการทำในใจว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด” ดังนี้ มีอยู่ นี้คือ วิญญาณฐิติที่ 6.

อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่ง วิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้า ถึง อากิญจัญญายตนะ มีการทำในใจว่า “อะไร ๆ ไม่มี” ดังนี้ มีอยู่ นี้คือ วิญญาณฐิติที่ 7.”

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. หน้า 11-13 . | บาลี - มหา . ที . 10/81/65 .

 

 


•  พุทธวจน – ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร)

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่ใช้เป็นพืชมี 5 อย่าง เหล่านี้. 5 อย่าง เหล่าไหนเล่า ? 5 อย่าง คือ :-

(1) พืชจากเหง้าหรือราก (มูลพีช) (2) พืชจากต้น (ขนฺธพีช) (3) พืชจากตาหรือผล (ผลพีช) (4) พืชจากยอด (อคฺคพีช) (5) พืชจากเมล็ด (พีชพีช)

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืช 5 อย่าง เหล่านี้ ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดี แต่ดิน น้ำ ไม่มี.

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่ใช้เป็นพืช 5 อย่าง เหล่านั้น จะพึงเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้แลหรือ?

หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า !

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืช 5 อย่าง เหล่านี้แหละ ที่ไม่ถูกทำลายยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดี ทั้งดิน น้ำ ก็มี ด้วย.

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่ใช้เป็นพืช 5 อย่าง เหล่านั้นจะพึงเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้มิใช่หรือ ?

อย่างนั้น พระเจ้าข้า !

“... ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณฐิติ 4 อย่าง (รูป เวทนา สัญญา สังขาร) พึงเห็นว่า
เหมือนกับ ดิน.

ภิกษุทั้งหลาย ! นันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความเพลิน) พึงเห็นว่า
เหมือนกับ นํ้า.

ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย พึงเห็นว่า
เหมือนกับ พืชสดทั้ง 5 นั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอารูป ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.

(วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอารูป ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ ... ในเวทนา สัญญา สังขาร ก็ตรัสอย่างเดียวกัน) ...”

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. หน้า 15-18. | บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/67/106.

 

 

(1) อวิชชา สังขาร วิญญาณ คือจุดเริ่มต้นของธัมมะธาตุ

 

กฎของสังขตธรรม กล่าวไว้กว้างๆ ว่า ทุกๆ ธัมมะธาตุ มีเกิดปรากฎ มีเสื่อมปรากฎ และมีความแปรปรวนตลอดเวลา. สมมุติว่า บิ๊กแบง เป็นจริง ก็หมายความว่า วัตถุธาตุทุกชนิด เริ่มก่อตัวตั้งแต่เกิดบิ๊กแบง ในเวลาอันสั้นมากๆ หลังจากนั้น ธาตุต่างๆ ก็มีการวิวัฒน์ตัวมันเอง กลายเป็น วัตถุธาตุต่างๆ ขึ้นมามากมาย และเพิ่มปริมาณ ขนาด และกินพื้นที่ ขยายออกไปไม่สิ้นสุด. ถ้าเรานำหลักปฏิจจสมุปบาท มาเริ่มที่จุดสตาร์ท พร้อมกับทฤษฎีบิ๊กแบง ก็จะได้ข้อสรุปว่า การเกิดขึ้นของ อวิชชา สังขาร วิญญาณ จะเกิดขึ้น ในเวลาใกล้เคียงกันกับ ธาตุต่างๆ หลังการระเบิดของบิ๊กแบง. ซึ่งล้วนแต่มีคุณสมบัติ เป็นวัตถุธาตุทั้งสิ้น (สมมุติตามทฤษฎีบิ๊กแบงไว้ก่อนว่า ขณะนั้น จิตธาตุยังไม่ปรากฎ).

ตถาคต กล่าวไว้ว่า เมื่อก่อน อวิชชา ไม่มี, อวิชชา มามีในภายหลัง. อวิชชา เป็นธรรมชาติที่มีอาหาร (อาหารของอวิชชา คือ นิวรณ์ 5). ข้อนี้ วิเคราะห์ได้ว่า อวิชชา มีคุณสมบัติทวิภาพ วัตถุธาตุ/จิตธาตุ. ส่วนที่มีคุณสมบัติเป็นวัตถุธาตุของ อวิชชา เกิดการวิวัฒน์ตัวเอง ไปเป็นธาตุต่างๆ ตามกฎฟิสิกส์ทุกประการ. ขั้นตอนการวิวัฒน์นี้ ก็คือเกิดการปรุงแต่ง (สังขาร) ในเวลาเกือบพร้อมๆ กัน. ธาตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นจาการปรุงแต่งนี้ ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร (เพราะคุณสมบัติการเป็นวัตถุธาตุ “มันไม่รู้เรื่องอะไร” จึงเรียกตามอาการของมันว่า อวิชชา แปลว่าความไม่รู้).

 

ธาตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งแล้ว จะถูกเรียกว่าเป็นโน่น นั่น นี่ ก็เพราะมี วิญญาณ เป็นผู้บอก. วิญญาณ เป็นจิตธาตุตัวแรก ที่คอยดักซุ่มรออยู่ ว่าจะมีอะไร ให้มันเข้าไปตั้งอาศัยได้บ้าง. วิญญาณ เปรียบเหมือนแสง เข้าไปส่อง (ตั้งอาศัย) ในธาตุที่ถูกปรุงแต่งนั้นแล้ว ในเวลาเกือบจะพร้อมๆ กัน. เราเข้าใจในเบื้องต้นไว้ก่อนว่า วิญญาณ มีอยู่พร้อมๆ กับ อวิชชา เพียงแต่ว่ามันยังไม่ปรากฎตัว ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า ขณะนั้นมันไม่มี. ผลจากการ “ชี้เบาะแส” ของวิญญาณ, สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง จึงได้ปรากฎรูป ว่าเป็นโน่น นั่น นี่, และปรากฎนามว่า คือโน่น คือนั่น คือนี่ ซึ่งเรียกว่า สังขารทั้งหลาย นั่นเอง.

 

กล่าวได้ว่า อวิชชา สังขาร วิญญาณ คือ จุดเริ่มต้นของเอกภพ และสรรพสิ่ง (ซึ่งเรียกได้หลายแบบ เช่น ธัมมะธาตุ สังขารทั้งหลาย สังขารธรรม ขันธ์-5) ซึ่งมีคุณสมบัติร่วม วัตถุธาตุ/จิตธาตุ. แต่ถ้าสรุปตามมโนทัศน์ของนักวิทยาศาสตร์, เอกภพและสรรพสิ่ง เกิดขึ้นหลังการระเบิดของบิ๊กแบง ซึ่งมีคุณสมบัติวัตถุธาตุอย่างเดียว. จะเห็นได้ว่า มโนทัศน์พุทธศาสน์ กับ มโนทัศน์วิทยาศาสตร์ เข้ากันได้ ในส่วนที่เป็นวัตถุธาตุ.

กล่าวคือ แรงพื้นฐานทั้ง 4 กับ อวิชชา เป็นธัมมะธาตุกลุ่มเดียวกัน. แรงพื้นฐานทั้ง 4 อาศัยกันและกันเกิดเป็น สสาร พลังงาน. อวิชชา (ส่วนจิตธาตุ) สังขาร วิญญาณ ก็อาศัยซึ่งกันและกันเกิด และวิวัฒน์ไปเป็น กิเลสรูปแบบต่างๆ เช่น ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา อุปายะ อุปาทาน สังโยชน์ ฯลฯ ซึ่งสัตว์ จะเข้าไปยึดเอากิเลสเหล่านั้น มาเป็นเชื้อในการสร้างภพ สร้างชาติ ให้แก่ตนเองต่อไป. สิ่งที่บอกให้รู้ถึงความแตกต่างว่า อะไรคือรูปสังขาร (วัตถุ พืช สัตว์ มนุษย์) และ อะไรคือนามสังขาร เทวดา พรหม โอปปาติกะ นรก) ก็ คือ ส่วนต่างๆ ของวิญญาณ (ได้แก่ วิญญาณธาตุ วิญญาณขันธ์ วิญญาณ- 6) นั่นเอง.

 

(2) ภพ ชาติ ของสัตว์ เป็นอยู่อย่างไร

 

ภพ (bhava - sphere) คือ สถานที่ที่ถูกปรุงแต่งขึ้น โดยความร่วมมือกันของ อวิชชา สังขาร วิญญาณ เพื่อให้สัตว์ทั้งหลาย ถือกำเนิดเป็นตัวตนขึ้น (ภพเกิด ชาติเกิด). ตถาคต กล่าวถึงการเกิดของภพ ไว้ว่า “ ... ภพ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ภพทั้งหลาย 3 อย่างเหล่านี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ภพ . ความก่อขึ้นพร้อมแห่งภพ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน ...” (บาลี - นิทาน. สํ. 16/50/88.)

 

ภพทั้งสาม เป็นเหมือนอาณาจักรใหญ่ ครอบเอกภพไว้อีกชั้นหนึ่ง (แต่ก็ยังอยู่ในมิติของเวลา) มีอาณาเขตครอบคลุม ธัมมะธาตุต่างๆ ทั้งในมิติของวัตถุธาตุ และในมิติของจิตธาตุ.

 

กามภพ – การเกิดของ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ และเทวดา. เพราะสัตว์เหล่านี้ ยังละการเสพกาม และรสอร่อย ไม่ได้ แต่มีความปรารถนา ในกามและรสอร่อย แรงกล้าต่างกัน ตามลำดับ. อายุของสัตว์ในกามภพ เริ่มตั้งแต่นับไม่ได้ ลงมาจนถึง 10 ปีมนุษย์.

 

รูปภพ – การเกิดของเทวดา ที่ปั้นรูปอาศัยด้วยใจ เป็นเทวดากลุ่มที่ละการเสพกามได้แล้ว แต่ยังปรารถนาในอารมณ์ฌาน, เรียกเทวดากลุ่มนี้ว่า พรหม. พรหม ในชั้นรูปภพ ยังแบ่งแยกย่อยได้อีก ตามความแรงกล้าของ ฌาน (ฌาน 1 – ฌาน 4 ). อายุของพรหมในชั้นรูปภพ เริ่มตั้งแต่ 500 กัป ลงมาจนถึง 1 กัป. ยกเว้น พวกพรหมที่ได้ ฌาน 4 กับมีสัญญาเบาบางมาก จนเลยข้ามเข้าไปใน อรูปภพ เช่น พรหมชั้นสุทธาวาส และพวก อสัญญีสัตตายตนะ (อสัญญีสัตว์), พรหมพวกนี้ มี อายุยาวนานมาก. หรือนับอายุไม่ได้.

 

อรูปภพ – ภพการเกิดของ พรหม ที่ไม่ต้องอาศัยรูปที่ปั้นด้วยใจ มีจิตละเอียดอ่อน เบาบาง ถึงขั้น มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่. พรหม ในชั้นอรูปภพ ยังแบ่งแยกย่อยได้อีก ตามความแรงกล้าของ ฌาน และความเบาบางของ สัญญา (ฌาน 5 – ฌาน 8). อายุของพรหมในชั้นนี้ เริ่มตั้งแต่ 60,000 กัป ลงมาจนถึง 20,000 กัป.

 

สัตว์ หรือสิ่งใดๆ ที่จะไปเกิดในภพแบบใด จะต้องมีคุณสมบัติแบบนั้น. คุณสมบัติ กามธาตุ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม (วัตถุธาตุทั้งหมด) รวมทั้งสัตว์ที่อาศัย ขันธ์-5 ทั้งหมด จะไปเกิดใน กามภพ. คุณสมบัติ ูปธาตุ คือ สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยสมาธิ (ฌาน) ประกอบเป็นชีวิต โดยอาศัย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เช่น พรหม จะไปอุบัติเกิดใน รูปภพ. คุณสมบัติ อรูปธาตุ คือ สิ่งที่ดำรงอยู่ได้ด้วยสมาธิ (ฌาน) ระดับ อากาสานัญจายตนะ ขึ้นไป โดยอาศัย สัญญา (ที่เบาบาง) สังขาร วิญญาณ ได้แก่ พรหม และอสัญญีสัตว์ จะไปเกิดใน อรูปภพ. ตถาคต กล่าวไว้ว่า “ ... วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นทราม ( กามธาตุ ) ... ธาตุชั้นกลาง ( รูปธาตุ ) ... ธาตุชั้นประณีต (อรูปธาตุ) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้ .”  (บาลี - ติก. อํ. 20/287/516.)

 

วัฏจักรการเกิดขึ้นของสัตตา ก็คือสร้างชีวิตใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ในภพภูมิต่างๆ 5 รูปแบบ [21] คือ

(1) นรก เป็นที่อาศัยของสัตว์นรกทั่วไป ซึ่งอาจมีทั้งรูปอาศัย และไม่ต้องมีรูปอาศัย

(2) กำเนิดเดรัจฉาน เป็นภาวะทางธรรมชาติ ของสัตว์เดรัจฉานทุกชนิด คือ มีจิตธาตุที่เป็นอวิชชา ได้แก่ สัตว์ต่างๆ ที่เกิดมาอยู่ร่วมกันกับมนุษย์โลก

(3) เปรตวิสัย เป็นภาวะทวิภพ ของสัตว์อีกประเภทหนึ่ง มีภพเกิดกึ่งนรก กึ่งมนุษย์. ตถาคต แบ่งเปรต ออกเป็น 21 ชนิด

(4) มนุษย์ หรือ มนุษย์โลกทั่วไป ที่ต้องอาศัยร่างกายและจิตใจ (ขันธ์-5) ในการดำรงชีวิต

(5) เทวดา เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรุงแต่งร่างได้เองทางใจ ไม่จำเป็นต้องอาศัยร่างกายแบบมนุษย์ ในการดำรงชีวิต ทำให้มีอายุขัยยาวนานมาก. ภพเทวดา มีความแตกต่างหลากหลาย ถูกแบ่งชั้นตามคุณภาพของศีล ฌาน สมาธิ. ภพเกิดของสัตว์ ในรูปแบบของเทวดาก็มีเช่นกัน อาจเรียกว่า สัตว์สวรรค์ เช่น ครุฑ ยักษ์ วลาหก กุมภัณฑ์ จัดเป็นเทวดาชั้นล่างสุด (จตุมหาราชิกา).

 


[21]  จากพระสูตรนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า นรก ซึ่งเป็นแดนที่อยู่ของสัตว์ จะเป็นสถานที่สัตว์เหล่านั้น ไม่ต้องอาศัยรูปกาย ในการดำรงชีวิต แต่ กำเนิดเดรัจฉาน จำเป็นต้องอาศัย ดั้งนั้น กำเนิดเดรัจฉาน จึงอาศัยถิ่นกำเนิดบนโลกมนุษย์. ดู “คติ ๕ และอุปมา.”  พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 31 | บาลี - มู. ม. 12/147/170.

 

การถือกำเนิดของสัตว์ในภพภูมิต่างๆ แบ่งได้หลายรูปแบบ. แบ่งตามลักษณะการเกิด 4 รูปแบบ (บาลี - มู. ม. 12/146/169.) คือ (1) อัณฑชะ (เกิดในไข่) (2) ชลาพุชะ (เกิดในครรภ์) (3) สังเสทชะ (เกิดในของสกปรก) (4) โอปปาติกะ (ผุดเกิดในทันที). สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ เรามักไม่ค่อยได้พบเห็น ได้แก่ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และ เปรตบางจำพวก. นาค และ ครุฑ ถือกำเนิดได้ทั้ง 4 รูปแบบ.

 

นอกจากนี้ การถือกำเนิดของสัตว์ต่างๆ ยังได้ร่างกาย (สัตตาวาส) ในรูปแบบต่างๆ 9 แบบ (บาลี - สตฺตก. อํ. 23/413/228.) จากหยาบไปละเอียด คือ (1) แบบที่มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน (พวกกายหยาบ) ได้แก่ มนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก (เช่น คนธรรพ์) วินิบาตบางพวก (เช่น สัตว์เดรัจฉานทุกประเภท เปรตบางพวก สัตว์นรกบางพวก). (2) แบบที่มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน (พวกกายละเอียด ปรุงแต่งกายด้วยสัญญา) ได้แก่ เทวดาชั้นพรหม ที่ได้ฌาน 1. (3) แบบที่มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน ได้แก่ เทวดาพวก อาภัสสระ. (4) แบบที่มีกายอย่างเดียวกัน และสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่ เทวดาพวก สุภกิณหะ. (5) แบบที่ไม่มีสัญญา ไม่มีเวทนา ได้แก่ เทวดาพวก อสัญญี. (6) พวกอรูปพรหมชั้น อากาสานัญจายตนะ, พวกนี้ ทำสมาธิฌานที่ 5 ได้ จนไม่ต้องมีรูปกาย ไม่มีสัญญาใดๆ (เพราะดับความรู้สึกในรูปร่างกาย ปฏิฆะ และความรู้สึกทั้งปวง) มีการทำในใจว่า อากาศไม่มีที่สุด. (7) พวกอรูปพรหมชั้น วิญญานัญจายตนะ, พวกนี้ ทำสมาธิฌานที่ 6 ได้ จนเลยชั้นอากาสานัญจายตนะ มีการทำในใจว่า วิญญาณไม่มีที่สุด. (8) พวกอรูปพรหมชั้น อากิญจัญญายตนะ, พวกนี้ ทำสมาธิฌานที่ 7 ได้ จนเลยชั้นวิญญาณัญจายตนะ มีการทำในใจว่า อะไรๆ ก็ไม่มี. (9) พวกอรูปพรหมชั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ, พวกนี้ ทำสมาธิฌานที่ 8 ได้ จนเลยชั้นอากิญจัญญายตนะ มีการทำในใจว่า สัญญามีก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่.

 

 

ภาพที่ 4.01 ภพภูมิวิวัฒน์ ของสัตว์ทั้งหลาย

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

ข้อสรุปบางประการ เกี่ยวกับ นามรูป – วิญญาณ – สังขาร

 

(1) นามรูป – วิญญาณ – สังขาร เป็นลักษณะ – สมบัติร่วมกัน ของสิ่งมีชีวิต 3 จำพวก คือ สัตว์ มนุษย์ และ เทวดา. พืช ไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะพืชมีแต่นามรูปเท่านั้น ไม่มีวิญญาณ แม้ว่าพืชบางชนิด ที่มีกลิ่นที่ราก เป็นที่อาศัยของเทวดาคนธรรพ์ ( รุขเทวดา ) ก็ตาม.

 

(2) มิติที่ 4 ของสัตว์ทั้งหลาย (ปริมาตร มิติที่ 3 รวมกับ มิติเวลาของสัตว์แต่ละผู้) ในแต่ละ ช่วงอายุ 1 คาบ จะไม่เท่ากัน. เทวดา มีนามรูป – วิญญาณ – สังขาร ที่ไม่มีมวล ทำให้ปริมาตรของมิติที่ 3 มีค่าเป็น 0. แต่เนื่องจากเทวดา มีอายุยาวนาน และท่องเที่ยวไปได้ไกลไม่จำกัด ทำให้ปริมาตรของ มิติที่ 4 เพิ่มขึ้นมาได้ อาจมากกว่า มิติที่ 4 ของมนุษย์.

สัตว์นรก มีคุณสมบัติทางกายภาพเช่นเดียวกับ เทวดา แต่มีอายุยืนยาวกว่าเทวดาหลายเท่า (อายุนรก นานกว่า อายุสวรรค์) แต่สัตว์นรกจะถูกตรึง (จองจำ) ให้อยู่ในสถานที่เดียว ทำให้ปริมาตรของมิติที่ 4 ของสัตว์นรก มีจำกัดและแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย. ส่วนมนุษย์ แต่ละผู้ ย่อมมีปริมาตรของมิติที่ 4 แตกต่างกัน จะไม่มีมนุษย์คู่ใด ที่มีปริมาตรของมิติที่ 4 เท่ากันได้เลย.

 

(3) มนุษย์และเทวดา ที่ประสงค์จะดำรงสถานะ นามรูป – วิญญาณ – สังขาร อันเดิม จะต้องเลือกวิถีปฏิบัติ (สิกขาบท) เพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น คือ สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา. มัชฌิมาปฏิปทา ถ้ากล่าวอย่างย่อ แบ่งเป็นสอง (ธรรมอันเป็นส่วนแห่งวิชชา) คือ สมถะ และ วิปัสสนา. เจริญสมถะ ทำให้ละ ราคะได้, เจริญวิปัสสนา ทำให้ละ อวิชชาได้. (บาลี - ทุก. อํ. 20/77-78/275.) มัชฌิมาปฏิปทา ถ้ากล่าวอย่างกลาง (อันเป็นที่ประชุมลงแห่งสิกขาบททั้งปวง) แบ่งเป็นสาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา (อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา). (บาลี - ติก. อํ. 20/297/526 .) มัชฌิมาปฏิปทา ถ้ากล่าวอย่างสมบูรณ์ มี 8 ข้อ (อริยมรรคมีองค์แปด).

ก่อนอื่นทำความเข้าใจก่อนว่า ความเห็น 8 ข้อ ที่ตถาคตยกขึ้นมา คือ ความเห็น ความดำริ การพูด การงาน การเลี้ยงชีพ ความเพียร ความระลึก ความตั้งใจมั่น. ก่อนที่พระองค์ จะชี้ให้เห็นว่า ใน 8 ข้อนั้น เป็นไปได้ทั้งสองทาง คือ ไม่ผิด (มิจฉา) ก็ถูก (สัมมา). ความเห็นในทางที่ชอบ หรือ สัมมาทิฏฐิ นั้น, เห็นอะไร ชอบอะไร จึงจะเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ? คำตอบคือ เห็น – ชอบ ในอริยสัจ- 4. (บาลี - มหา. ที. 10/348/299.) ถ้าเห็น – ชอบ เป็นอย่างอื่น จัดว่าเป็น มิจฉาทิฏฐิ ทั้งสิ้น.

[ทำให้คิดว่า หากใช้มโนทัศน์ของพระตถาคต, วิทยาการในโลกนี้ และรวมทั้งวิถีปฏิบัติของสังคมมนุษย์ทั้งหมด ถ้าออกนอกเขตความจริง 4 ข้อ คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และ ความรู้ในหนทาง อันเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เข้าข่าย มิจฉาทิฏฐิ ทั้งสิ้น.]

 

มีข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ที่เป็นมิจฉาทิฎฐิ และเป็นปฏิปักษ์ต่อ สัมมาทิฏฐิ ทั้ง 8 ข้อ ของอริยมรรค หรือ มัชฌิมาปฏิปทา, ตถาคต เรียกว่า อนฺตา – ทาง 2 ทาง ที่บรรพชิต ไม่ควรข้องแวะ คือ กามขัลลิกานุโยค (การใคร่และพัวพันในกามทั้งหลาย) กับ อัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตนให้ลำบาก). (บาลี - มหาวาร. สํ. 19/528/1664.)

เมื่อพูดถึง อัตตกิลมถานุโยค ทำให้มองเห็นภาพพวกฤาษีในยุคพุทธกาล นั่งทรมานตน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น นั่งบนตะปูแหลม ยืนขาเดียว กินอุจจาระ เพราะเข้าใจผิดว่า นั่นคือทางปฏิบัติที่จะ ทำให้ตนได้บรรลุธรรมหลุดพ้น. ทำให้เข้าใจว่า ยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี คงจะไม่มีพฤติการณ์ อัตตกิลมถานุโยคอีกแล้ว, เป็นความเข้าใจที่ตื้นเขิน. ไม่ว่าสัตว์ใดก็ตาม ที่ยังดำรงสถานะ นามรูป – วิญญาณ – สังขาร, ถ้ายังมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ ย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ กาม กับ อัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น.

กล่าวได้ว่า ถ้ามีกาม ก็มีอัตตาผสมอยู่ ถ้าละกามได้เป็นเหตุ ก็ละอัตตาได้เป็นผล. [ข้อนี้ มีข้อยกเว้นกรณีเดียวคือ ผู้ที่ยังมีอัตตาอันละเอียด เช่น รูปพรหม ยังมีอัตตาอยู่ แต่ละเอียดมาก ซึ่งไม่ใช่กรณี อัตตกิลมถานุโยค]. ในปัจจุบัน อัตตกิลมถานุโยค ได้เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้นเอง ไม่ได้หายไปที่ใด.

ในทางปฏิบัติ อันตา ทั้งสองทาง ไม่ได้อยู่ห่างไกลกันเลย. ผู้มีกามสุขัลลิกานุโยค ย่อมต้องมีอัตตกิลมถานุโยค เพื่อการรักษากามสุขัลลิกานุโยค ดุจเหรียญสองด้าน ที่อาศัยกันและกันดำรงอยู่. ถ้ามองในมโนทัศน์สัมพัทธภาพ, กาม และ อัตตา ต่างก็มีคุณสมบัติ อัสสาทะ (รสอร่อย) เป็นพื้นฐาน แต่ให้ผลคนละทิศทาง คือ กาม ได้รสอร่อยในทางบวก ส่วน อัตตา ได้รสอร่อยในทางลบ. อัสสาทะนั้น เปรียบเสมือน แรง ชนิดหนึ่ง ที่ลงไปกระทำให้สัตว์ทั้งหลาย ต้องตกอยู่ภายใต้ กาม และ อัตตา. ดังนั้น ถ้าบุคคล ละกามสุขัลลิกานุโยค กาม อัตตา อัสสาทะ ย่อมลดลง.

 

(4) โสดาบันผู้เอกพีชี สกทาคามี อนาคามี เป็นพระอริยบุคคลเหมือนกัน แต่ต่างกันอย่างไร

 

โสดาบันผู้เอกพีชี สกทาคามี และ อนาคามี มีภพเกิดแตกต่างกัน และมีอริยคุณต่างกันเล็กน้อย แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความหลุดพ้น. ผู้เป็นโสดาบันทุกประเภท คือ ผู้ที่เกิดในภพมนุษย์.

 

โสดาบัน ผู้เอกพีชี  คือ ผู้ที่รักษาศีลเคร่งครัด และให้ทานอย่างสม่ำเสมอ เป็นผู้มีความเพียรพยายามใน สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา (อินทรีย์ 5) ในระดับหนึ่ง ละสังโยชน์ได้ 3 ข้อ เมื่อมาเกิดในภพมนุษย์แล้ว ตายไป ก็จะไปเกิดเป็นมนุษย์อีกคราวเดียว, จากนั้น เพียรพยายามกระทำกิจเช่นนั้นอีกครั้ง ก็จะได้บรรลุอรหัตตผล. หลังได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ถ้ายังไม่ตาย ก็จะยังรักษาร่างแบบมนุษย์ (รูปขันธ์ ที่ปราศจาก เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย.

 

สกทาคามี  คือ ผู้ที่เกิดในภพมนุษย์บ้าง ภาพเทวดาบ้าง. สกทาคามี รักษาศีลสูงกว่าศีล 5 และให้ทานอย่างสม่ำเสมอ เป็นผู้มีอินทรีย์ 5 เหนือกว่า โสดาบันผู้เอกพีชี แต่ก็ยังละสังโยชน์ได้แค่ 3 ข้อ (เพราะความที่ ราคะ โทสะ โมหะ ยังไม่หมดไป แต่เบาบาง) กับทั้งได้สมาธิอย่างอ่อน จึงได้เกิดในภพเทวดาชั้น กามภพ (ดุสิต) อีกคราวเดียว, แล้วเพียรพยายาม กระทำกิจเช่นนั้นอีกครั้ง ก็จะได้บรรลุอรหัตตผล . สกทาคามี มีชีวิตบนสวรรค์ชั้นดุสิต และปรินิพพาน (ตาย) ที่ภพนี้.

 

อนาคามี  คือผู้ที่เกิดในภพมนุษย์ก็มี ในภพเทวดาก็มี. อนาคามี เป็นผู้ที่รักษาศีลได้สมบูรณ์ (ทำได้เต็มที่ในส่วนศีล) ทำสมาธิได้ถึง ฌาน 1 ขึ้นไป (ทำเต็มที่ในส่วนสมาธิ) แต่ยังมีปัญญาไม่รอบ ถ้วน (ทำได้พอประมาณในส่วนปัญญา) กับทั้งละสังโยชน์ได้ 5 ข้อ จึงได้เกิดในภพเทวดาชั้น รูปพรหม (พรหมกายิกา) อีกคราวเดียว, แล้วเพียรพยายาม กระทำกิจเช่นนั้นอีกครั้ง ก็จะได้บรรลุอรหัตตผล.

อนาคามี มีชีวิตอันยาวนาน บนสวรรค์ชั้นสุทธาวาส, เพราะเหตุที่มีอายุยาวมาก ( 1 กัป, 2 กัป, 4 กัป, 500 กัป) จึงมีปรินิพพาน (ตาย) ได้ถึง 5 ช่วงอายุ คือ ตายในระหว่างอายุไม่ทันถึงครึ่ง (เช่น อายุจริง 2 กัป แต่ปรินิพพานก่อนจะสิ้น 1 กัป), ตายเมื่ออายุเลยครึ่งไปแล้ว, ตายได้โดยง่าย โดยไม่ต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง, ตายยาก โดยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง. ส่วนพระอนาคามี ที่ไปเกิดในพรหมชั้น อกนิษฐะภพ มีอายุยาวมากเกือบเป็นอมตะ จะใช้ความเพียรเรี่ยวแรงอย่างไร ก็ไม่ตายได้ง่ายๆ (แต่ในที่สุดก็ต้องปรินิพพาน).

การบรรลุอรหัตตผล พระศาสดา เรียกว่า “กระทำที่สุดแห่งทุกข์” ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายปลายทางเดียวกัน ของพระอริยบุคคลทุกระดับ และหลังจากได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว เมื่อตายไป (ปรินิพพาน) ก็เป็นอันจบกิจของการเกิด ไม่ต้องมีการเกิดอีกต่อไป สิ้นทุกข์ จบอัตตา. นี่คือ ที่สุดในการเป็น สัตตธัมมะธาตุ.

 

(5) การบรรลุธรรม ของพระอริยบุคคล “หลังทำกาละ” (ตาย) นักวิทยาศาสตร์ คิดอย่างไร กับปรากฎการณ์ ชีวิตกับความตาย.

 

มนุษย์บางคนระลึกชาติได้ บางคนตายแล้วฟื้น. ดูเหมือนว่า นี่เป็นปรากฎการณ์อันลี้ลับ น่าอัศจรรย์, นั่นเป็นเพราะว่า มนุษย์ ใช้มโนทัศน์เชิงเดี่ยว มองปรากฎการณ์ทุกอย่าง ในตำแหน่งและเวลาปัจจุบัน. ปรากฎการณ์ในอดีต คนเรามักจดจำได้เสมอ เพราะมันผ่านไปแล้ว แต่ตายแล้วฟื้น เหมือนกับการลากเอาปรากฎการณ์ในอนาคต ถอยหลังกลับมา. เหตุการณ์หลังการตายของแต่ละคน (ซึ่งยังไม่ตาย) ที่แท้ ก็คืออนาคตของมนุษย์ทุกคน ที่ยังมาไม่ถึง จึงไม่อาจคาดเดาไม่ได้ว่า เมื่อถึงเวลาตาย เราจะรู้สึกอย่างไร. ชีวิตกับความตายมีอะไรเป็นเส้นแบ่ง.

สารสื่อประสาท ระเบิดพลุ่งในสมอง ในปี ค.ศ. 2015 นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน จากมหาวิทยาลัย มิชิแกน [22] ได้ทำการพิสูจน์ว่า เพราะเหตุใด ในช่วงเวลาวิกฤต สารสื่อประสาท จึงเกิดการระเบิดพลุ่งในสมอง. พวกเขาศึกษาสมองและหัวใจ ของหนู ในเวลาที่ขาดออกซิเจน, พบว่า สมองตอบสนองต่อสถานการณ์คับขัน ด้วยการปล่อยสารสื่อประสาท ในปริมาณมากออกมาหลายชนิด เช่น โดปามีน และ นอร์อะดรีนาลิน โดยมีการปล่อยอย่างมีแบบแผน. สารสื่อประสาทเหล่านี้ ทำให้ประสบการณ์ เฉียดตายนั้น รู้สึกรื่นรมย์ เป็นสุข เห็นรายละเอียดต่างๆ ชัดเจน และเกิดภาพหลอนที่สวยงาม. ยิ่งกว่า นั้น สารสื่อประสาท ยังบังคับให้หัวใจหยุดเต้น หลังออกซิเจนขาดแคลนไม่กี่นาที.

 


[22]  SCIENCE ILLUSTRATED. ฉบับที่ 64. October 2016, หน้า 17.

 

 

ผลการศึกษาห้วงนาทีหลังการตาย พบว่า ในเวลา 1 นาที เกิดความสนใจพลุ่งพล่าน บังเกิดจิตแจ่มชัดขึ้น เพราะระดับนอร์อะดรีนาลินจากสมองกลีบหน้า เพิ่มขึ้น 30 เท่า. อารมณ์รู้สึกเกิดการรวมศูนย์ ก่อตัวขึ้น, ระดับของสารสื่อประสาท โดปามีนในสมองกลีบหน้า และศูนย์การมองเห็น เพิ่มขึ้น 7 เท่า. จังหวะการเต้นของหัวใจต่ำลง ในขณะที่ระดับของ สารสื่อประสาทกาบา (GABA) ในสมองกลีบหน้า และศูนย์การมองเห็น เพิ่มขึ้น 20 เท่า.

เข้าสู่นาทีที่ 2 เกิดภาพหลอน. จิตถูกกระตุ้น โดยสารสื่อประสาท ซีโรโทนิน, ระดับของซีโรโทนิน ในศูนย์การมองเห็น เพิ่มขึ้น 2 เท่า, ซีโรโทนินและกาบา บังคับให้หัวใจหยุดเต้น. เข้าสู่นาทีที่ 4 ณ นาทีนี้ ไม่มีกิจกรรมของสมองแล้ว หัวใจก็จะหยุดเต้นไปด้วย แต่ระดับของสารสื่อประสาทเพิ่มสูงสุด จากปกติ 40 ถึง 400 เท่า.

นั่นคือข้อพิสูจน์ว่า ประสบการณ์ใกล้ตายนั้น หรือประสบการณ์เฉียดตายนั้น เกิดขึ้นจากประสาทสัมผัสที่เข้มข้น และทรงพลัง. มนุษย์รับรู้ความตายได้เข้มข้น ในเวลาระหว่าง “เส้นแบ่ง”. ประสบการณ์เฉียดตายนั้น แจ่มชัดและรุนแรงมากกว่า ความจำทั่วไป. เพื่อจะเรียนรู้ปรากฎการณ์นี้ สตีเวน ลอร์เรย์ส แพทย์จากมหาวิทยาลัยลีช ในเบลเยี่ยม ได้สัมภาษณ์ผู้ป่วย 21 ราย ที่เคยตายทางการแพทย์มาแล้ว ด้วยเรื่อง ความทรงจำขณะตายของพวกเขา.

 

ผู้ป่วยเล่าถึงประสบการณ์เฉียดตาย ที่ตนเคยผ่านมาแล้วว่า เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และภาพที่แจ่มชัด, ประสการณ์เฉียดตายนั้น มีพลัง และเข้มข้นกว่าความทรงจำปกติ. ในการศึกษาครั้งนี้ สตีเวน ลอร์เรย์ส ได้แสงดให้เห็นว่า ผู้ป่วยเหล่านั้น ไม่ได้จินตนาการขึ้นมาเอง เพราะพวกเขาไม่ได้รู้สึกว่า ความทรงจำเก่าๆ นั้น เข้มข้นกว่าของคนอื่น. เขาสรุปว่า ประบการณ์เฉียดตายนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยพบจริง แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง, มันเป็นภาพหลอนที่เป็นจริงอย่างยิ่ง ไม่เหมือนภาพหลอนอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถแยกแยะจากประสบการณ์จริงได้เลย.

 

เหตุการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษา เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ มนุษย์ที่เป็นพระอริยบุคคล, เมื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว บังเกิดการรวมกันของพลังทางจิตอย่างเข้มข้น ปล่อยวางอาสวะกิเลสที่เคยติดยึดลงได้ อย่างน่าอัศจรรย์. เช่น กรณีบังเกิดแก่ พระภิกษุโมลิยผัคคุนะ เมื่อฟังคำของตถาคตแล้ว หลังทำกาละ (ตาย) ผิวพรรณผ่องใส เพราะได้บรรลุธรรม โดยละสังโยชน์ได้สำเร็จในระหว่างเส้นแบ่งความเป็นความตายนั้น.

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

4.2
วิมุตติ
– นิพพาน (integrity liberation | Nibana)

 

วิมุตติ – นิพพาน เป็นลักษณ–สมบัติของธัมมะธาตุ เพียงหนึ่งเดียว ของอสังขตาธาตุ ที่มีความพิเศษสุดยิ่งยวด. มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น สุญญตา โลกุตตระ นิพพานธาตุ อสังขตาธาตุ นิโรธ นิรุฌันติ อรหัตตา การดับสนิทไม่มีเศษเหลือ ที่สุดแห่งทุกข์ เป็นต้น. ภาวะ นิพพาน มีอยู่และเป็นจริง แต่คนอาจรู้ อาจเห็น อาจเข้าถึง และเข้าใจได้ยาก เพราะไม่สามารถนำกฎเกณฑ์วิทยาศาสตร์ มาอธิบายได้เลย. ผู้ที่รู้นิพพานดีที่สุด คือ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ซึ่งเป็นผู้บัญญัตินิพพานขึ้นมา แล้วอธิบายด้วยภาษาคนพื้นเมือง (ภาษาบาลี) ในขณะนั้น, ให้เข้าใจ เข้าถึง ภาวะอันพิเศษสุดนั้น.

 

4.2.1
ความหมาย นิพพาน

 

ต้นเหตุของความทุกข์ คือ การเกิด เพราะถ้ามีเกิด ก็ต้องมีแก่ มีตาย. ไม่มีวิธีอื่น ที่จะทำให้สัตว์ทุกผู้ที่เกิดมา ไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป นั่นคือ การตัด “วงจรอุบัติ” ของอวิชชา สังขาร วิญญาณ (ความสิ้นไปแห่งอาสวะ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของสายพานการก่อเกิดชีวิต. พุทธศาสนา เป็นเพียงศาสนาเดียว ที่มองระบบชีวิตของสัตว์ทุกประเภท ทั่วเอกภพ ว่าตกอยู่ภายใต้วัฏจักรเกิด แก่ ตาย ยาวนานเป็นนิรันดร์.

มีเพียง ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ เท่านั้น ที่ค้นพบวิธี ตัดวงจรของวัฏจักรชีวิตอันโหดร้าย ของสัตว์เหล่านั้น ด้วยการปฏิบัติ ตามคำของพระองค์. ไม่ใช่ด้วยวิธีใช้อำนาจดลบันดาล ตามแบบศาสดาของศาสนาอื่น. สิ่งที่ได้จากการปฏิบัติ ตามคำของพระองค์ คือ “คุณวิเศษ” แบบเดียวกับที่พระองค์ได้รับ. พระองค์กล่าวว่า นิพพาน คือ ธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ, “ภิกษุทั้งหลาย คำว่า ‘ธรรมเป็นที่กำจัดราคะ (ราควินโย) เป็นที่กำจัดโทสะ เป็นที่กำจัดโมหะ' นี้ เป็นคำที่ใช้เรียกแทนชื่อของ นิพพานธาตุ ซึ่งเรียกว่า เป็นธรรมที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.” (บาลี - มหาวาร. สํ. 19/10/31.) พระพุทธเจ้า เกิดมาเพื่อบอก คุณวิเศษนี้ แก่ผู้ที่สมควรบอกได้ (เวไนยสัตว์). หากไม่มีพระพุทธเจ้า มนุษย์ก็มองไม่เห็น นิพพาน และมองนิพพาน ว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้น, หากนิพพานไม่มีจริง ก็จะไม่มีพระพุทธเจ้ามาเกิด.

 

 

“สิ่งใด ที่เป็น นาม, เมื่อกำหนดความหมาย ให้แก่สิ่งนั้น
สิ่งนั้น จึงมีอยู่.

สิ่งใด ที่เป็น รูป, เมื่อค้นพบ ตำแหน่งพิกัด ขนาด มวล ของสิ่งนั้น สิ่งนั้น จึงปรากฎ”

 

 

(1) วิมุตติ – นิพพาน คืออะไร

 

สังขตาธาตุ อันเป็นธัมมะธาตุส่วนใหญ่ อุบัติขึ้นมาภายใต้ กฎธรรมชาติพื้นฐาน 3 ประการ ธรรมนิยาม- 3 (ไตรลักษณ์) สังขตลักษณะ และ อิทัปปัจจยตา - ปฏิจจสมุปบาท. ตถาคต ให้การรับรองยืนยัน การมีอยู่ ของกฎธรรมชาติพื้นฐานดังกล่าวว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ตามธรรมชาติ,

 

แม้ตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม คือ ธัมมะธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้วเช่นนั้น เป็นธรรมดา (ธมฺมฏฺฐิตฺตา) เป็นกฎตายตัวเป็นธรรมดา (ธมฺมนิยามตา) ธัมมะธาตุนั้น มันก็เป็นอย่างนั้นเอง (ตถตา) ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น (อวิตฺถตา) ไม่เป็นไปโดยประการอื่น (อนญฺญถตา) และเป็นสิ่งที่ เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น (อิทปฺปจฺจยตา). [23]

 


[23] “ปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ. ” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 5. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 162-163. | บาลี - นิทาน. สํ. 16/30/61.

 

แต่คุณวิเศษที่ ตถาคตทรงค้นพบนั้น กลับเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง. กล่าวคือ

 

(1) นิพพาน มีคุณสมบัติ เป็น อสังขตลักษณะ คือ ไม่ปรากฎการเกิด (น อุปฺปาโท ปญฺ ญายติ) ไม่ปรากฎการเสื่อม (น วโย ปญฺญายติ ) เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่แปรปรวน หรือไม่ปรากฎภาวะอย่างอื่น (น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).

 

(2) เมื่อนิพพานไม่ปรากฎการเกิด ไม่ปรากฎการเสื่อม, จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า นิพพาน เป็นความเที่ยงแท้ (นิจจตา) หรือ เป็นความไม่เที่ยง (อนิจจตา), เป็นทุกข์ (ทุกขตา) หรือ เป็นสุข (สุขัง ), เป็นตัวตน (อัตตา) หรือ ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตตา), เป็นสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ (อัตถิตา) หรือ เป็นสิ่งทั้งปวงที่ไม่มีอยู่ (นัตถิตา).

 

(3) สังขตาธาตุ อันเป็นธัมมะธาตุที่มีอยู่แล้ว ตามธรรมชาติ แม้ตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม. แต่นิพพาน ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น หากไม่มีตถาคตเกิดขึ้น นิพพานก็ไม่บังเกิดขึ้น. กล่าวได้ว่า กฎธรรมชาติพื้นฐาน สร้างสังขตาธาตุขึ้นมาในเอกภพ แต่ตถาคต สร้างนิพพาน ขึ้นมาในปัจจุบัน.

 

(4) เมื่อสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ และ ธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน, รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสิ่งไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น คือ นั่นไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม) นั่นไม่ใช่เป็นเรา (เนโสหมสฺมิ) นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา). นิพพาน คือลำดับสุดท้ายของการหลุดพ้นจาก อัตตา และ อนัตตา.

 

(5) มีวิมุตติ จึงเห็นนิพพาน รู้นิพพาน เพราะ มีวิมุตติ. ผู้ได้นิพพาน ย่อมเป็นผู้รู้แจ้งในวิมุตติทั้งหลาย คือ สัทธาวิมุตติ สัมมาวิมุตติ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อนาสววิมุตติ (ผู้ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์). เหตุนี้ จึงเรียกสถานที่ ผู้ที่ สิ่งที่ เข้าถึงนิพพานแล้วว่า “วิมุตติ – นิพพาน”.

 

 

กฎธรรมชาติ สร้าง สังขตาธาตุ ขึ้นมาในเอกภพ
แต่ ตถาคต สร้าง นิพพาน ขึ้นมาในปัจจุบัน.

ไม่ปรากฎการเกิดนั้น หมายถึง ไม่มีการเกิดตั้งแต่แรก จึงไม่มีการเสื่อม และไม่มีการตาย (นิรุชฌติ).

ถ้ามีการเกิดมาแล้วในอดีต ก็จะทำให้การเกิดนั้น สิ้นสุดลงในปัจจุบัน มีการตายเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อว่าจะไม่ต้องมีการเกิดในอนาคต (นิโรธ).

 

(2) สิ่งสิ่งหนึ่ง ซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง สิ่งสิ่งนั้นมีอยู่ สิ่งนั้นมีแน่ๆ สิ่งนั้นหาได้ในกายนี้.

 

ตถาคต ได้อธิบายภาวะหรือ ‘สิ่ง' ที่เป็นคุณวิเศษนี้ ไว้ในหลายพระสูตร คือ

 

“ ... ‘สิ่ง' สิ่งหนึ่ง ซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฎการณ์ ไม่มีที่สุด แต่มีทางปฏิบัติเข้ามาถึงได้โดยรอบนั้น มีอยู่. ใน ‘สิ่ง' นั้นนั่นแหละ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่อาจหยั่งลงได้. ใน ‘สิ่ง' นั้นนั่นแหละ ความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่ ความงาม ความไม่งาม ไม่อาจหยั่งลงได้. ใน ‘สิ่ง' นั้นนั่นแหละ นามรูป ย่อมดับสนิท ไม่มีเศษเหลือ . นามรูปดับสนิท ใน ‘สิ่งนี้' เพราะการดับสนิทของวิญญาณ ดังนี้.” [24]

 

“ภิกษุทั้งหลาย ! ‘สิ่ง' สิ่งนั้นมีอยู่ เป็นสิ่งซึ่งในนั้นไม่มีดิน ไม่มีนํ้า ไม่มีไฟ ไม่มีลม ไม่ใช่อา กาสา นัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่ดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ทั้งสองอย่าง ... ‘สิ่ง' สิ่งนั้น เราไม่กล่าวว่ามีการมา ไม่กล่าวว่ามีการไป ไม่กล่าวว่ามีการหยุด ไม่กล่าวว่ามีการจุติ ไม่กล่าวว่ามีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นมิได้ตั้งอยู่ สิ่งนั้นมิได้เป็นไป และสิ่งนั้นมิใช่อารมณ์ นั่นแหละคือ ที่สุดแห่งทุกข์ละ.” [25]

 

“ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งซึ่งมิได้เกิด (อชาตํ) มิได้เป็น (อภูตํ) มิได้ถูกอะไรทำ (อกตํ) มิได้ถูกอะไรปรุง (อสงฺขตํ) นั้นมีอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าหากว่า สิ่งที่มิได้เกิด มิได้เป็น มิได้ถูกอะไรทำ มิได้ถูกอะไรปรุง จักไม่มีอยู่แล้วไซร้ การรอดออกไปได้สำหรับสิ่งที่เกิด ที่เป็น ที่ถูกอะไรทำ ที่ถูกอะไรปรุง ก็จักไม่ปรากฎ. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่มีสิ่ง ซึ่งมิได้เกิด มิได้เป็น มิได้ถูกอะไรทำ มิได้ถูกอะไรปรุง นั่นเอง การรอดออกไปได้สำหรับสิ่งที่เกิด ที่เป็น ที่ถูกอะไรทำ ที่ถูกอะไรปรุง จึงได้ปรากฎอยู่.” [26]

 

“ ... ที่สุดโลก แห่งใด อันสัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ เราไม่กล่าวว่า ใครๆ อาจรู้ อาจเห็น อาจถึง ที่สุดแห่งโลกนั้น ด้วยการไป. ... ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ที่ยังประกอบ ด้วยสัญญาและใจนี่เอง เราได้บัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทไม่เหลือของโลก และทางดำเนินให้ถึงความดับสนิทไม่เหลือของโลกไว้ ดังนี้แล.” [27]

 


[24] “ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่อาจหยั่งลงได้ในที่ไหน. ” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 9. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 302. | บาลี - สี. ที. 9/277/343. และ สี. ที. 9/289/348.


[25] “สิ่งๆ นั้น มีอยู่. ” พุทธวจนหมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 473. | บาลี - อุ. ขุ. 25/206/148.


[26] “สิ่งนั้น มีแน่ๆ. ” พุทธวจนหมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 473-474. | บาลี - อุ. ขุ. 25/207/160 และ อิติวุ ขุ. 25/257/221.


[27] “สิ่งนั้น หาได้ในกายนี้. ” พุทธวจนหมวดธรรม เล่มที่ 11. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 472. | บาลี - จตุกฺก. อํ. 21/62/45.

 

 

 

‘สิ่ง' สิ่งหนึ่ง. ‘สิ่ง' สิ่งนั้น. และ ‘ที่สุดโลก'  คือ ปรากฎการณ์ของ สถานที่  ผู้ที่  หรือ สิ่งที่ ที่ได้คุณวิเศษ วิมุตติ – นิพพาน มีลักษณะและคุณสมบัติ พอสรุปได้ดังนี้.

 

(2.1) เป็นสิ่งที่ ไม่ปรากฎการเกิด ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ จึงไม่ปรากฎการเสื่อม ตามกฎของ อสังขตลักษณะ ของอสังขตธรรม. ที่ว่าไม่ปรากฎการเกิดนั้น หมายถึง ไม่มีการเกิดตั้งแต่แรก จึงไม่มีการเสื่อม และไม่มีตาย (นิรุชฌติ). ถ้าหากมีการเกิดมาแล้วในอดีต ก็จะทำให้การเกิดนั้น สิ้นสุดลง ในปัจจุบัน มีการตายเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อว่าจะไม่ต้องมีการเกิดในอนาคต (นิโรธ).

 

(2.2) เป็นอมตะ คือ ไม่มีที่สุด ไม่มีขอบเขตด้านพื้นที่ เช่นเดียวกับความกว้างใหญ่ของเอกภพ นั่นคือ ไม่มีมิติระยะทาง มิติขนาด มิติพื้นที่ ไม่มีขอบเขตด้านเวลา คือ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีแต่ปัจจุบัน.

 

(2.3) เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฎการณ์ ไม่มีที่สุด ผู้ใดก็สามารถรู้ได้ เห็นได้ เข้าถึงได้ โดยรอบ ด้วยการ ‘ปฏิบัติ' ตามลำดับขั้นตอน. การเข้าถึงนิพพานนั้น ต้องกระทำด้วยตนเอง ต้องรู้ด้วยตนเอง เห็นด้วยตนเอง ไม่ต้องมีสื่อกลาง ไม่ต้องใช้ยานพาหนะใดๆ ไม่สามารถอ้อนวอนร้องขอเอาได้ ไม่ใช่มีสิ่งใดดลบันดาลให้ ด้วยอำนาจใดๆ.

การปฏิบัติ ที่ว่านี้คือ การละวาง ขันธ์-5 ตามหลักอริยมรรค มีองค์ 8 ประการ. ไม่ว่าผู้ใด ที่ปฏิบัติตามหลักอริยมรรค ผู้นั้นย่อมได้คุณวิเศษ อันเป็นอิสรเสรี เหมือนกันทุกผู้. ความอิสรเสรี จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ อาสวะทั้งหลาย ได้ถูกทำลายลง จนไม่มีเศษเหลือ. “ ... จิตย่อมจางคลายกำหนัด ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย ในวิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ; เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่ (ตามสภาพของจิต) ; เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี ; เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง ; เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง ย่อมปรินิพพาน (ดับรอบ) เฉพาะตน ...”  (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/57-93.) ดังนั้น นิพพาน เป็นที่สุดแห่งทุกข์ คือ ภาวะที่เป็นสุขอย่างยิ่ง.

 

(2.4) เป็นผู้มีคุณภาพจิต ได้สมาธิในฌาน ตั้งแต่ฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ฌาน 4 หรือ ได้ทั้งหมดถึง ฌานทั้ง 4, ไม่เลยไป หรือสูงกว่าฌานที่ 4. สมาธิในฌาน เป็นสิ่งที่ไม่มีอารมณ์ ไม่มีสีสันความงาม รสอร่อย แบบกามคุณ. ไม่มีอวิชชา สังขาร วิญญาณ หลงเหลืออยู่ในนั้นเลย. “ ... นามและรูป ย่อมดับไม่เหลือในที่ใด, ปัญญาและสติกับนามรูปนั้น ก็ย่อมดับไปในที่นั้น เพราะความดับไปแห่งวิญญาณ.”  (บาลี - สุตฺต. ขุ. 25/530/425., จูฬนิ. ขุ. 30/20/80., จูฬนิ. ขุ. 30/21/85.) จากพระสูตรนี้, ภาวะนิพพาน อยู่เหนือ ปัญญา สติ และ นามรูป. เมื่อปราศจากวิญญาณแล้ว จึงมี วิมุตติญานทัสสนะ มาแทนที่.

 

(2.5) นิพพาน ไม่ใช่สิ่งสมมุติ. เพราะสิ่งสมมุติ จะมีเกิด มีเป็น มีการสร้าง การปรุงแต่ง ขันธ์-5. เมื่อมี สิ่งที่ไม่มีเกิด (อชาตํ) ไม่มีเป็น (อภูตํ) ไม่ได้ถูกสิ่งใดสร้าง (อกตํ) ไม่ได้ถูกสิ่งใดปรุงแต่ง (อสงฺขตํ) จึงปรากฎวิถี หรือ “ทางรอด” ที่จะไปเสียให้พ้นๆ จากสิ่งสมมุติเหล่านั้น ซึ่งก็คือ อริยสัจ-4 ที่ตถาคตทรงค้นพบ. สรุปว่า ถ้าไม่เห็นสิ่งสมมุติ, สิ่งจริงแท้ ก็จะไม่ปรากฎขึ้นมา.

 

 

4.2.2
ผู้ได้วิมุตติ
– นิพพาน

 

(1) นิพพานที่เห็นได้เอง คืออะไร?

 

นิพพานที่เห็นได้เอง เป็นภาวะของบุคคล ผู้ซึ่งกำจัดกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ความพอใจ (ฉันทะ) ความกำหนัด (ราคะ) ความเพลิน (นันทิ) ความอยาก (ตัณหา) ได้หมดสิ้น ในกาลปัจจุบัน, คือ “ดับเย็น” แล้ว เพราะเห็นความไม่เที่ยง (อนิจจตา) เห็นความเป็นทุกข์ (ทุกขตา) เห็นความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตตา) ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. บุคคลผู้นั้น ‘รู้ เห็น ด้วยตนเอง' ว่า ราคะ โทสะ โมหะ เหล่านั้น สิ้นแล้ว เข้าถึง นิพพาน, ดังพุทธวจน “ ... นิพพานที่เห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ‘ท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ใจ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน' ... ” (บาลี - ติก. อํ. 20/202/495.)

 

วิมุตติ แปลว่า ผู้รู้แจ้ง. เหตุที่ทำให้ได้มาซึ่ง วิมุตติ เกิดจาก ‘สิ่งหนึ่ง' ซึ่งรู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่สัตว์เข้าไปยึดครองเป็นเจ้าของนั้น เป็นธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งด้วย อวิชชา สังขาร อีกต่อหนึ่ง. สิ่งหนึ่ง ยังรู้ต่ออีกว่า อวิชชา (ส่วนที่เป็นจิตธาตุ) อยู่ได้ด้วยการบริโภคอาหาร คือ นิวรณ์ 5, สิ่งหนึ่ง จึงไม่ให้อาหารมัน ด้วยการดับสลาย นิวรณ์ 5, ทำให้อวิชชา สังขาร ค่อยๆ ตายลงไปตามลำดับ.

เมื่อ ขันธ์-5 ไม่มีอะไรมาปรุงแต่ง, อวิชชา สังขาร (ส่วนที่เป็นวัตถุธาตุ) วิญญาณ ก็ถูกกันออกไปจาก ระบบขันธ์-5. รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กลายเป็นธัมมะธาตุ ที่ถูกแยกออกจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน ทำให้ระบบขันธ์-5 ล่มสลาย. สัตว์ที่เคยยึดครองขันธ์ ซึ่งในอดีต สมบูรณ์ด้วย รสอร่อย เช่น ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ก็รู้สึกเบื่อหน่ายในสภาวะเดิม เพราะรู้แจ้งชัดใน เหตุที่เกิด (สมุทัย) รู้แจ้งชัดใน การสิ้นสุด (อัตถังคมะ) รู้แจ้งชัดใน รสอร่อย (อัสสาทะ) รู้แจ้งชัดใน โทษอันต่ำทราม ของรสอร่อยเหล่านั้น (อาทีนวะ) และรู้แจ้งชัดใน อุบายอันเป็นเครื่องนำออกจาก ที่ตั้งของวิญญาณ (นิสสรณะ).

 

ขณะนี้ สิ่งหนึ่ง ได้กลายเป็น ‘ธาตุรู้ใหม่' แทนวิญญาณ ไปเรียบร้อยแล้ว, จึงได้แสดงตัวให้สัตว์นั้นรู้ว่า ได้เข้ามาทำหน้าที่แทน. สิ่งหนึ่ง นั้นจึงถูกเรียกว่า ‘วิมุตติ.' วิมุตติ แปลว่า วิชชา หรือ ผู้รู้แจ้ง. เมื่อสัตว์นั้น ได้สภาวะใหม่ที่ “ดับเย็น” จึงเปลี่ยนจากสถานะ ‘สัตว์' มาเป็น ‘วิมุตติญาณทัสสนะ.' วิมุตติญาณทัสสนะ คือ ผู้รู้ ที่รู้สภาวะดับเย็นที่มีในตน ซึ่งก็คือ นิพพาน นั่นเอง. คำว่า วิมุตติ – นิพพาน จึงหมายถึง ‘ผู้รู้แจ้ง เป็นผู้เห็นนิพพาน ด้วยตนเอง'.

 

นิพพานที่เห็นได้เอง อีกนัยยะหนึ่ง คือ สันทิฏฐิกนิพพาน เป็นภาวะของบุคคล ผู้ซึ่งไม่มีกาม ไม่มีอกุศลธรรม ทำจิตสมาธิได้ถึง ฌาน 1, ฌาน 2, ฌาน 3, ฌาน 4, พวกหนึ่ง และอีกพวกหนึ่ง ที่ทำสมาธิได้อากาสานัญจายตนะ, วิญญานัญจายตนะ, อากิญจัญญาตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ และ สัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งจะได้นิพพานในภพนั้น. (บาลี - นวก. อํ. 23/475/251.) [ได้แก่ เทวดาผู้ได้อริยคุณชั้น อนาคามี ได้บรรลุนิพพาน ในภพสุดท้ายที่ตนเกิด].

 

(2) ผู้ทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ 7 จำพวก

 

พระอริยะผู้ได้อรหัตผล เป็นพระอริยะบุคคลระดับสูงสุด. ผู้ได้วิมุตติ หมายถึง ผู้ทำวิชชาและวิมุตติ ให้บริบูรณ์ แบ่งได้ 7 จำพวก คือ อุภโตภาควิมุตติ ปัญญาวิมุตติ กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุตติ ธรรมานุสารี หรือสัทธานุสารี (บาลี - อฏฺฐก. อํ. 23/301/149.) ในบรรดาผู้ได้วิมุตติเหล่านั้น ย่อมได้คุณสมบัติอรหัตผล เหมือนกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างจาก พระศาสดา อยู่นั่นเอง.

 

 

 

เหตุที่พระองค์ ได้นามว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธะ” ก็เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจสี่. “ ... เพราะได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่างเหล่านี้ (ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์) ตถาคต จึงมีนามอันบัณฑิตกล่าวว่า ‘อรหันตสัมมาสัมพุทธะ'.” (บาลี - มหาวาร. สํ. 19/543/1703. )

 

(3) อริยสาวกผู้ที่จะได้วิมุตติ ถูกเรียกในชื่อต่างๆ [28]

 

ในบรรดาสาวก ที่กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ คือ การรู้ทั่วถึงใน ‘ธรรมอันเป็นเหตุ' คือ สมุทัย
(อิทัปปัจจยตา - ปฏิจจสมุปบาท), การรู้ทั่วถึงใน ‘เหตุแห่งธรรม' คือ ทุกข์, การรู้ทั่วถึง ‘ความดับไม่เหลือแห่งธรรม' คือ นิโรธ, และการรู้ทั่วถึงใน ‘ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งธรรม' (มรรค 8). เพราะการสร้างเหตุเหล่านี้ ไม่ว่ากาลใดๆ (อกาลิโก) ตถาคต ให้เรียกผู้นั้นในชื่อต่างๆ (ชื่อที่ใช้เรียกแทน พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์) ต่อไปนี้.

 

– ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยทิฏฐิ
– ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยทัสสนะ
– ผู้มาถึงพระสัทธรรมนี้แล้ว
– ผู้ได้เห็นอยู่ซึ่งพระสัทธรรมนี้
– ผู้ประกอบแล้วด้วยญาณอันเป็นเสขะ
– ผู้ประกอบแล้วด้วยวิชชาอันเป็นเสขะ
– ผู้ถึงซึ่งกระแสแห่งธรรมแล้ว
– ผู้ประเสริฐมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลส
– ผู้ยืนอยู่จรดประตูแห่งอมตะ

 


[28] “พระโสดาบัน คือ ผู้เห็นชัดรายละเอียด แต่ละสายของปฏิจจสมุปบาท ตลอดทั้งสายโดยนัยแห่งอริยสัจสี่ (นัยที่หนึ่ง) ” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 2. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 48. | บาลี - นิทาน. สํ. 16/50/88.

 

(4) อะไรทำให้เกิดความแตกต่างกัน ระหว่างผู้ได้วิมุตติ

 

มนุษย์ผู้อยู่ภายใต้ กฎของการปรุงแต่ง ย่อมเป็นผู้ไหลไปตามกระแสของโลกียะ หรือ เกิด แก่ ตาย ไปตามกฎปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมดา. แต่หากมนุษย์ผู้นั้น ต้องการหลุดพ้นจากกระแสโลกียะ หรือตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทให้ได้ จะต้องประพฤติปฏิบัติ ตาม หลักอริยมรรค มีองค์ 8 ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติ ในทิศทาง “ทวนกระแส.” นั่นคือ ผู้ได้วิมุตติ เป็นผู้อยู่ในปัจจุบัน และไม่มีกาลเวลา (ทวนกระแสเวลา), ผู้ได้วิมุตติ ย่อมดับรสอร่อยใน ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา อุปาทาน (ทวนกระแสความรู้สึก), วิมุตติ – นิพพาน เป็นธัมมะธาตุที่ ไม่ได้ถูกอะไรปรุงแต่ง ไม่มีการมา ไม่มีการไป ไม่มีการหยุด ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ไม่ได้ตั้งอยู่ ไม่ได้เป็นไป ไม่ใช่อารมณ์ ไม่มีนามรูป ไม่มีมิติ เป็นอมตะธาตุ อมตะธรรม (ทวนกระแสการนิยาม). แต่กระนั้นก็ตาม ในบรรดาผู้ได้วิมุตติ ก็ยังได้ธรรมนั้น ไม่เท่ากัน.

 

(4.1) ผู้ได้วิมุตติระดับอรหันตสัมมาสัมพุทธะ มีความแตกต่างกับ ผู้ได้ปัญญาวิมุตติ ตรงที่ “ตถาคตเป็นมัคคัญญู (รู้มรรค) เป็นมัคควิทู (รู้แจ้งมรรค) เป็นมัคคโกวิโท (ฉลาดในมรรค)” แต่ผู้ได้วิมุตติทุกผู้นอกนั้นเป็น “สาวกทั้งหลายในกาลนี้ เป็น มัคคานุคา (ผู้เดินตามมรรค) เป็นผู้ตามมาในภายหลัง”.

 

 


• พุทธวจน – ความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง
ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ

ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ หลุดพ้นแล้วจากรูป เพราะความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ และความไม่ยึดมั่น จึงได้นามว่า “สัมมาสัมพุทธะ.”

ภิกษุทั้งหลาย! แม้ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ ก็หลุดพ้นแล้วจากรูป เพราะความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ และความไม่ยึดมั่น จึงได้นามว่า “ปัญญาวิมุตติ.”

(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ได้ตรัสไว้ มีข้อความแสดงหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับ ในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว).

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยกันทั้งสองพวกแล้ว, อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกัน อะไรเป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน อะไรเป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่าง ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับ ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น, ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครรู้ ให้มีคนรู้, ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครกล่าว ให้เป็นมรรคที่กล่าวกันแล้ว, ตถาคตเป็นมัคคัญญู (รู้มรรค) เป็นมัคควิทู (รู้แจ้งมรรค) เป็นมัคคโกวิโท (ฉลาดในมรรค).

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสาวกทั้งหลายในกาลนี้ เป็น มัคคานุคา (ผู้เดินตามมรรค) เป็นผู้ตามมาในภายหลัง.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน เป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่าง ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับภิกษุผู้ปัญญาวิมุตติ.

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 1. หน้า 30. | บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/81/125.

 

 

(4.2) ปรากฎการณ์ ที่เกิดขึ้นได้ยาก คือ การปรากฎขึ้นของ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ผู้เป็น “บุคคลเอก” เป็นสรรพัญญู รู้แจ้งแทงตลอดในสรรพสิ่ง. จะไม่มี อรหันตสัมมาสัมพุทธะ เกิดขึ้นพร้อมกันสององค์ ในคราวเดียวกัน. การปรากฎขึ้นของพระองค์ เหมือนการปรากฎของแสงสว่าง ของดวงดาว. “ภิกษุ ท. ! ความปรากฎแห่งบุคคลเอก ย่อมเป็นความปรากฎแห่งดวงตาอันใหญ่หลวง เป็นความปรากฎแห่งความสว่างอันใหญ่หลวง เป็นความปรากฎแห่งความสุกใสอันใหญ่หลวง เป็นความปรากฎแห่ง อนุตตริยธรรม 6 เป็นการทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทา 4 เป็นการแทงตลอด อเนกธาตุ เป็นการแทงตลอด นานาธาตุ เป็นการทำให้แจ้งซึ่งธรรม มีวิชชาและวิมุตติเป็นผล เป็นการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล เป็นการทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล เป็นการทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล เป็นการทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล. ใครกันเล่าเป็นบุคคลเอก? ตถาคตผู้เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง นี้แล เป็นบุคคลเอก.” [29]

 


[29] “การปรากฎของพระองค์ คือการปรากฎแห่งดวงตาอันใหญ่หลวงของโลก 1.” พุทธประวัติจากพระโอษฐ์. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 237. | บาลี - เอก. อํ. 20/30/14.

 

4.2.3
ทางลาดขึ้นไปสู่ วิมุตติ
– นิพพาน ของอริยบุคคล

 

ผู้ที่จะได้ วิมุตติ – นิพพาน มีเพียงบุคคล 8 จำพวกเท่านั้น คือ

(1) พระโสดาบัน
(2) พระผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง โสดาปัตติผล
(3) พระสกทาคามี
(4) พระผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล
(5) พระอนาคามี
(6) พระผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง อนาคามิผล
(7) พระอรหันต์
(8) พระผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นอรหันต์

(บาลี - อฏฐก. อํ. 23/301/149.)

 

(1) คุณสมบัติพระโสดาบัน บันไดขั้นแรกสู่ วิมุตติ – นิพพาน.

 

การปฏิบัติเพื่อให้ได้อริยคุณระดับโสดาบัน เป็นสิ่งที่ทำได้ทั้งในมนุษย์โลกและเทวดา. ศาสดาในศาสนาอื่น ระบุเรื่องมนุษย์สวรรค์ในชื่อของ เทพต่างๆ มากมาย. แต่ในพุทธศาสนา ตถาคต เป็นผู้วางกฎระเบียบปฏิบัติเหล่านี้ ไว้อย่างชัดเจน เพื่อรับรองมนุษย์ และเทวดา ที่ปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ว่า จะได้รับ อริยคุณโสดาบันอย่างเท่าเทียม.

 

คุณสมบัติพื้นฐาน ซึ่งเรียกว่า “ธรรม 4 ประการ ที่พระโสดาบันจะต้องมี” ได้แก่ [30]

 

(1.1)  มีศรัทธามั่นคงต่อตถาคต ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ถึงพร้อม ด้วยวิชชา รู้โลกแจ่มแจ้ง ฝึกคนที่สมควรฝึก เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ รู้จำแนกธรรมทั่วถึงทุกผู้ทุกนาม.

 

(1.2)  มีศรัทธามั่นคง ต่อพระธรรมของตถาคตที่ประกาศแล้ว. “... สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าด้วยเฉพาะสุญญตา. เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตที่จะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.” (บาลี - ทุก. อํ. 20/92/292.)

 


[30] “พระโสดาบันเป็นใคร (นัยที่หนึ่ง). ” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 2. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 4-6. | บาลี - มหาวาร. สํ. 19/429/1414.

 

ครั้งหนึ่ง, พระองค์ ยังกล่าวกับเจ้าลิจฉวี ว่าการปรากฎขึ้นของรัตนะ 5 ประการนั้น หาได้ยากในโลก. ความข้อนี้ เป็นสิ่งยืนยันว่า การมีศรัทธาอันมั่นคง ต่อพระธรรมของตถาคตนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก. “ ... (1) ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ (2) บุคคลผู้แสดงธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว (3) บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว (4) บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (5) กตัญญูกตเวทีบุคคล ... ความปรากฎขึ้นแห่งรัตนะ 5 ประการนี้แล หาได้ยากในโลก.” (บาลี - ปญฺจก. อํ. 22 / 266 / 195.)

 

(1.3)  มีศรัทธามั่นคงต่อพระสงฆ์สาวก ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติรู้ธรรมเพื่อออกจากทุกข์.

 

(1.4)  มีศีลรักษาสม่ำเสมอ พ้นจากเดรัจฉานวิชา ไม่เป็นไปเพื่อมิจฉาทิฐิ แต่เป็นเป็นไปเพื่อสมาธิ คือ ศีล 5 เป็นอย่างน้อย (บาลี - มหาวาร. สํ. 19/443/1459.) และ มีใจปราศจากความตระหนี่ (บาลี - มหาวาร. สํ. 19/440/1451.)

 

และคุณสมบัติข้ออื่น ที่เป็นส่วนสนับสนุน คือ

(1.5)  เป็นผู้มีวิถีหรือกระแส อริยอัฏฐังคิกมรรค (มรรค มีองค์ 8 ประการ) ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/28/469.)

 

(1.6) กระทำต่อ ขันธ์-5 (รูป เวทนา สัญญา สังขา วิญญาณ) และ อินทรีย์-6 (จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์) คือ รู้จักรสอร่อย รู้จักโทษ รู้จักวิธีทำลาย , เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตนของ ขันธ์-5 อินทรีย์-6 (บาลี - ขนฺธ. สํ. 17/196/296., มหาวาร. สํ. 19/271/902.)

 

(1.7) เป็นผู้ละธรรม 6 อย่างได้ (สังโยชน์ เครื่องร้อยรัด) คือ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นผิด ว่าขันธ์-5 เป็นตัวตน) วิจิกิจฉา (ความลังเลในปฏิปทาทางดับทุกข์) สีลัพพตปรามาส (การถือเอาศีลและพรตผิดความมุ่งหมายที่แท้จริง) อปายคมนิยราคะ (ราคะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย) อปายคมนิยโทสะ (โทสะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย) อปายคมนิยโมหะ (โมหะที่ควรแก่การถึงซึ่งอบาย). “ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุไม่ละธรรม ๖ อย่าง เหล่านี้แล เป็นผู้ไม่ควรกระทำให้แจ้งซึ่ง ทิฏฐิสัมปทา.” (บาลี - ฉกฺก. อํ. 22/488/360.)

 

(1.8) เป็นผู้มีคุณสมบัติแห่ง โสตาปัตติยังคะ คือ การคบสัตบุรุษ (สปฺปริสสํ เสว), การฟังพระสัทธรรม (สทฺธมฺมสฺสวน), การทำไว้ในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ), การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ). (บาลี มหาวาร. สํ. 19/434/1427., มหาวาร. สํ. 19/516/1634.)

 

•  พุทธวจน – สังโยชน์ 10

ภิกษุทั้งหลาย ! สังโยชน์ 10 ประการเหล่านี้ มีอยู่. สิบประการอย่างไรเล่า? สิบประการ คือ :- โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ.

โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ เป็นอย่างไรเล่า? 5 ประการ คือ :- สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท. เหล่านี้ คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ.

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ เป็นอย่างไรเล่า? 5 ประการ คือ :- รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา. เหล่านี้ คือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล สังโยชน์ 10 ประการ.

ที่มา : พุทธวจน-หมวดธรม เล่มที่ 2. หน้า 127. | บาลี - ทสก. อํ. 24/18/13., ทสก. อํ. 24/19/13.

 

 

(2) ความเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้แล้ว เป็นแล้ว จะไม่แปรปรวน ในภายหลัง ดุจเสาหิน ที่ปักลงไปในดินครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งโผล่พื้นดิน, ย่อมทำให้พระโสดาบัน มีความเชื่อมมั่น ไม่มีอาการหวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์.

พระโสดาบัน เมื่อได้แล้วจะได้รับผลอย่างนี้. (บาลี - ฉกฺก. อํ. 22/490/368., ฉกฺก. อํ. 22/489/363., ฉกฺก. อํ. 22/489/363-365., ฉกฺก. อํ. 22/490/ 365., ขนฺธ. อํ. 17/196/296.)

 

(2.1) จะไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา มุ่งมั่นในการศึกษา เรียนรู้ จนชัดแจ้ง เป็นจริงใน การเกิดขึ้น (สมุทัย) การตั้งอยู่ไม่ได้ (อัตถังคมะ) รสอร่อย (อัสสาทะ) โทษอันต่ำทราม (อาทีนวะ) และอุบายต่างๆ เพื่อการสลัดออก (นิสสรณะ) จากการยึดมั่น (อุปาทาน) ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นเหตุให้ทุกข์ดับไป ทุกขั้นตอน แห่งการกระทำที่ทำแล้ว. พระโสดาบัน ย่อมไม่ไปเกิดในอบายภูมิ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย อีกต่อไป). [31] (บาลี - มหาวาร. สํ. 19/271/902.)

 


[31]  การรู้ชัดแจ้งเป็นจริงในข้อนี้ ก็ยังไม่หลุดพ้นทั้งหมด ยังจะต้องไปเกิดในรอบถัดไป เพื่อทำให้ถึงที่สุด. แต่ถ้าเป็นผู้หลุดพ้น เพราะความไม่ยึดมั่นในภพใด ภพนั้น ก็ได้เป็นพระอรหันต์. การหลุดพ้นจากการรู้ชัดแจ้งใน อุปาทานขันธ์-5 ก็เช่นเดียว กับกรณี อินทรีย์ 6.

 

(2.2) เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน (ไม่เสื่อมในสัทธรรม) เกิดอีกเพียงไม่เกิน 7 ชาติ ก็จะตรัสรู้ธรรมได้ ในกาลอนาคต.

 

(2.3) เป็นผู้เห็นธรรมอันเป็นเหตุ และเห็นธรรมที่มาแต่เหตุ คือ อทัปปัจจยตา - ปฏิจสมุปบาท และ เป็นผู้ไม่ใช่ ไม่เป็น เหมือนคนทั่วไป หรือคนพวกอื่น (อสาธารณญาณ). ความเป็นโสดาบัน ย่อมก้าวพ้นสังขารว่า เป็นของเที่ยง (นิจจัง) เป็นสุข (สุขัง) เป็นตัวตน (อัตตานัง).

 

(2.4) ไม่ทำอนันตริยกรรม ต่อบิดา มารดา พระอรหันต์ ไม่คิดประทุษร้ายตถาคต ไม่ทำให้สงฆ์แตกกัน และไม่ถือศาสดาอื่นเป็นศาสดาของตน.

 

(2.5) เชื่อในกรรม กล่าวคือ ไม่เชื่อในมงคลเหลวใหล, ไม่เชื่อในอำนาจดลบันดาล, ไม่ทำโกตุหลมงคล คือ มงคลภายนอก ของสมณพราหมณ์เหล่าอื่น, ไม่แสวง อนาคมนียวัตถุ เช่น วัตถุ พิธีกรรม ทิฐิ ที่ไม่ควรเข้าหา เข้าใกล้, ไม่แสวงหาศรัทธานอกศาสนา (ทักขิเณยยบุคคลนอกศาสนา).

 

ผู้ใดได้อริยคุณขั้นโสดาบันแล้ว นับว่าเป็นความสำคัญ เป็นความสำเร็จอันยิ่งของมนุษยชาติ. ตถาคต รับรองไว้อย่างแข็งขันว่า “อริยสาวกผู้เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า. ”  ผู้ได้ชื่อว่าโสดาบันย่อมไม่หวั่นสะเทือน ไปกับสิ่งใด หรือใคร ที่จะให้ ล้มเลิกเปลี่ยนศรัทธา ออกไปจากอริยสัจสี่นั้น เป็นไปไม่ได้เลย. “ ... เปรียบเหมือนเสาหินยาว 16 ศอก ฝังอยู่ในดิน 8 ศอก โผล่ขึ้นพ้นดิน 8 ศอก แม้จะมีลมพายุฝนอย่างแรงกล้า มาจากทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ก็ตาม ไม่พึงทำเสาหินนั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือน หรือสั่นระรัวไปได้เลย ...” (อริยสัจจากพระโอษฐ์ 1. หน้า 36. | บาลี - มู. ม. 12/333-335 / 327-328.)

 

(3) อริยคุณ ซึ่งเป็นคุณอันวิเศษ สำหรับผู้ที่จะได้ วิมุตติ – นิพพาน มีลำดับสูงต่ำ ลดหลั่นกัน.

 

การปฏิบัติ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ทำให้รู้ชัดแจ้ง ในเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ แต่ยังไม่ชัดแจ้งใน อนาสววิมุตติ คือ ทำได้เพียงบางส่วน ก็สำเร็จได้บางส่วน ทำได้บริบูรณ์ ก็สำเร็จได้บริบูรณ์. ความบกพร่องในสิกขาบท อันเล็กน้อย (อภิสมาจาร) อาจเกิดขึ้นได้แก่ผู้นั้น แต่ต้องละสังโยชน์ 1-5 ได้ครบถ้วน จึงจะได้ปรินิพพานในภพนั้น ซึ่งมีหลากหลายแบบ คือ. [32]

 


[32]  “ความลดหลั่นแห่งพระอริยบุคคล ผู้ปฏิบัติอย่างเดียวกัน.” พุทธวจน-หมวดธรรม เล่มที่ 2. [ซอฟต์แวร์].  E-Tipitaka v3.0.6, หน้า 145-148. | บาลี - ติก. อํ. 20/301/528., นวก. อํ. 23/391/216.

 

– ปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงกึ่ง (อันตราปรินิพพายี).

– ปรินิพพานในระหว่างอายุพ้นกึ่ง (อุปหัจจปรินิพพายี).

– ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียร (อสังขารปรินิพพายี).

– ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียร (สสังขารปรินิพพายี).

– เป็นผู้มีกระแสขึ้นไปถึง อกนิฏฐภพ (พรหม) เป็นพระอนาคามี (อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี).

– ถ้าละสังโยชน์ได้แค่ 1-3 และราคะ โทสะ โมหะ เบาบางระดับหนึ่ง ตายไปก็จะได้ไปเกิดเป็น สกทาคามี ในภพภูมิเทวดา อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะได้นิพพาน.

– ถ้าละสังโยชน์ 1-3 แต่ตายไปเสียก่อน ก็จะได้ไปเกิดเป็น โสดาบัน ชั้นเอกพีชี ในภพมนุษย์ อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะได้นิพพานในคราวนั้น. หรือเกิดเป็น โสดาบันชั้นโกลังโกละ อีกไม่เกิน 3 ครั้ง ก็จะได้นิพพาน. หรือ เกิดเป็นโสดาบันชั้นสัตตักขัตตุปรมะ ในภพมนุษย์บ้าง เทวดาบ้างสลับกันไป ไม่เกิน 7 ครั้ง ก็จะได้นิพพาน.

 

(4) ความเป็นโสดาบัน ประเสริฐกว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ.

 

ข้อนี้ ตถาคต ให้เหตุผลว่า เพราะเหตุที่พระเจ้าจักรพรรดิ “ ... แต่กระนั้นท้าวเธอก็ยัง รอดพ้นไปไม่ได้ จากนรก จากกำเนิดเดรัจฉาน จากวิสัยแห่งเปรต และจากอบาย ทุคติ วินิบาต.”  แต่พระโสดาบัน รอดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น เพราะเหตุมี ‘ธรรม 4 ประการ ที่พระโสดาบันจะต้องมี' (บาลี - มหาวาร. สํ. 19/428/1411.)

ความประเสริฐข้อนี้ ตถาคต ถึงกับเปรียบเทียบว่า “ระหว่างการได้ทวีปทั้งสี่ (ของพระเจ้าจักรพรรดิ) กับการได้ธรรม ๔ ประการ (ของพระโสดาบัน) นั้น, การได้ทวีปทั้งสี่ มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่สิบหก ของการได้ธรรม ๔ ประการนี้ เลย.”

แม้พระเจ้าจักรพรรดิ ได้ครองความเป็นใหญ่ยิ่งแห่งทวีปทั้งสี่ แต่ในอนาคต ก็ต้องตายอยู่ดี, ตายแล้ว อาจได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นสหายอยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถูกแวดล้อมอยู่ด้วยหมู่นางอัปษรในสวนนันทวัน. ท้าวเธอเป็นผู้เอิบอิ่ม เพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งห้า อันเป็นของทิพย์ อย่างนี้ก็ตาม. แต่กระนั้นท้าวเธอก็ยัง รอดพ้นไปไม่ได้ จากนรก จากกำเนิดเดรัจฉาน จากวิสัยแห่งเปรต และจากอบาย ทุคติ วินิบาต.

 

 
[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

ข้อสรุปบางประการ เกี่ยวกับ วิมุตติ – นิพพาน

 

(1) ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา สามารถรับรู้ วัฏจักรการปรุงแต่ง การแปรปรวนของวัตถุธาตุ และการเกิดตายของสิ่งมีชีวิต ได้จำกัด. เราไม่สามารถมองเห็นการเกิด การปรุงแต่ง และการแปรปรวน ของดวงเคราะห์ ดาวฤกษ์ ได้เลย แม้เพียงวัฏจักรรอบเดียว. แต่ วิมุตติ – นิพพาน เราสามารถรับรู้ มองเห็น และเข้าถึงได้ในหนึ่งรอบการเกิด หรือสามรอบการเกิด หรือไม่เกินรอบการเกิดรอบที่เจ็ด ถ้าเราสร้างอริยคุณตั้งแต่โสดาบัน ได้เป็นอย่างต่ำ.

 

(2) อนัตตา เป็นคุณสมบัติเพื่อบอกว่า สิ่งนั้น เกิดขึ้นหรือมีอยู่แล้วในอดีต แต่ปัจจุบันไม่มีตัวตนแล้ว และในอนาคต จะยังคงมีอยู่หรือไม่มี ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ซึ่งไม่เที่ยงแท้ (อนิจจัง). ดังนั้น สิ่งที่ไม่เคยปรากฎมีมาก่อน จะไม่เรียกสิ่งนั้นว่า อนัตตา. นิพพาน ไม่ใช่ อัตตา และ ไม่ใช่ อนัตตา, เพราะ อนัตตา อนิจจัง ทุกขัง ใช้กับสิ่งสมมุติ. แต่ นิพพาน เป็นธัมมะธาตุ เพียงชนิดเดียว ที่ไม่ใช่สิ่งสมมุติ.

 

(3) ความว่างในนิพพาน (สุญญตา | emptiness) กับ ความว่างในเอกภพ หรือ อวกาศ (space) แตกต่างกัน. และในวัตถุธาตุทุกชนิด ก็มีความว่าง (space) แทรกอยู่ภายในเช่นเดียวกัน, แต่จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและองค์ประกอบ ของธาตุเหล่านั้น. ความว่างดังกล่าว เป็นความว่างที่ธรรมชาติ สร้างขึ้นเพื่อรักษาสมดุล ในการดำรงอยู่ และการเปลี่ยนสถานะ. การเปลี่ยนสถานะของสสาร ย่อมต้องอาศัยที่ว่างเสมอ. การที่สสารในเอกภพ ไม่หยุดนิ่ง เพราะมีเวลาเป็นที่ว่าง หรือกล่าวว่า เวลาทำให้สสาร ไม่หยุดนิ่งนั่นเอง. ส่วนความว่างของนิพพาน คือ ว่างจากอัตตา. เป็นความว่างที่ไม่ขึ้นอยู่กับ อดีต ปัจจุบัน อนาคต. อัตตา เป็นปรากฎการณ์หนึ่ง ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่จะไม่จริงในอดีต และไม่จริงในอนาคต. การยึดมั่นสิ่งใดๆ ในปัจจุบัน (สุขขัง นิจจัง) จึงเป็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นความเท็จทั้งสิ้น.

 

(4) นิพพาน เป็นสิ่งลึกซึ้ง ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสนิพพานมาก่อน เปรียบเหมือน คนตาบอด ที่ไม่เคยเห็นช้าง (นิพพาน). ตถาคต ทรงอธิบายลักษณะและคุณสมบัติของ นิพพาน โดยอาศัยพื้นฐาน ประสบการณ์เดิมของผู้นั้น ด้วยวิธีการเปรียบเทียบ สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือสิ่งที่คนตาบอดรับรู้ เข้าใจ แล้วบอกว่า สิ่งนั้น ไม่ใช่ นิพพาน. หลังจากนั้น พระองค์จึงให้คำนิยาม นิพพาน ในอีกความหมายหนึ่ง โดยสรุปว่า นิพพาน เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏการเกิด ไม่ปรากฏการเสื่อม และไม่แปรปรวนไปเป็นอย่างอื่น.

 

 

ธรรมชาติ” เป็นความซื่อตรง เป็นลำดับ ไม่ใช่ สิ่งซับซ้อน. ธรรมชาติ เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไปตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง.


“ความซับซ้อน” เกิดขึ้นเพราะมนุษย์ พยายามควบคุมธรรมชาติ ทำธรรมชาติให้ผิดไปจากที่ควรเป็น และพยายามละเมิดกฎธรรมชาติ.

 

 

[อ่านต่อ] บทที่ 5 ฟิสิกส์แห่งจิตวิญญาณ

 


[กลับไป สารบัญ]   [ปก สัตตะธัมมะธาตุ]   [ประมวลคำศัพท์]   [TOP]

 

บทนำ – สัตตะธัมมะธาตุ : องค์รวมชีวิต ภายใต้ทฤษฎีเดียวกัน

บทที่ 1 วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์ : นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์

1.1 พันธกิจของ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์
1.2 สิ่งที่พุทธศาสน์ ค้นพบ อาจเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ กำลังค้นหา
1.3 ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
แต่ความจริงที่พระตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล

บทที่ 2 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มวลสาร พลังงาน 

2.1 มวล – อนุภาค
2.2 แรง – คลื่น
2.3 อุณหภูมิ – พลังงาน

บทที่ 3 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : มิติ กาลอวกาศ

3.1 มิติ กาลอวกาศ – รูปทรง
3.2 วัฎจักร – อนันต์

บทที่ 4 ลักษณะและคุณสมบัติมูลฐานของธัมมะธาตุ : จิตธาตุ

4.1 นามรูป – วิญญาณ – สังขาร
4.2 วิมุตติ – นิพพาน

บทที่ 5 ฟิสิกส์แห่งจิตวิญญาณ

5.1 กายภาพของจิตวิญญาณ
5.2 กระบวนการปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย
5.3 การหลุดพ้น การบรรลุธรรม

บทที่ 6 กฎมูลฐานของธรรมชาติ

6.1 ความจริงสัมบูรณ์ ของ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
6.2 กฎของเวลา
6.3 กฎแห่งนิรันดร์
6.4 กฎสมดุล
6.5 สัมพัทธภาพ (Relativity)
6.6 กฎการอนุรักษ์ (Conservation law)
6.7 มาตรวัด กรอบอ้างอิง

บทที่ 7 ปรากฏการณ์สัมบูรณ์ของสรรพสิ่ง

7.1 ปรากฏการณ์ร่วม วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์
7.2 สัมพัทธภาพของ วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์

บทสรุป – สัตตะธัมมะธาตุ : ทฤษฎีเดียว อธิบายทุกสรรพสิ่ง

ประมวลศัพท์และคำสำคัญ

บทความ (สรุปจากหนังสือทั้งเล่ม)

 

 

 

  thinking focus new idea today
คำคม คำคิด แง่คิด ชีวิตดี
igood media
หน้าแรก - ชุมชน คนคิดดีวรรณกรรม - วิชาการ - บทความ เรื่องสั้น ร้อยกรอง เพลงภาพยนตร์ - บทภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตัวอย่าง วิดีโอ มิวสิควิดีโอ
นิเทศศาสตร์ - วิชาเรียน บรรยาย ตำรา เอกสารการเรียน สื่อการเรียน ถาม ตอบ
 


igood media copyright
 
SUDIN CHAOHINFA, igoodmedia.net : Administration and Producer
Copyright © 2010-2021 intelligence good media homeschool.
All rights reserved. me@igoodmedia.net